กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Head Injury (การบาดเจ็บที่ศีรษะ)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

ความหมายการบาดเจ็บที่ศีรษะ 

การที่ศีรษะได้รับอันตรายจากแรงภายนอกมากระทบที่ศีรษะ เช่น วัตถุหล่นจากที่สูง หกล้มศีรษะกระแทกพื้น เป็นต้น ซึ่งทำให้มีพยาธิสภาพที่ศีรษะส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจเป็นหนังศีรษะ (Scale) กะโหลกศีรษะ (Skull) เยื่อหุ้มสมองหรือส่วนต่างๆ ของสมอง รวมทั้งหลอดเลือดสมองแตก ทำให้มีเลือดออกในชั้นต่างๆ ของสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยพิการ หรือเสียชีวิตได้

สาเหตุการบาดเจ็บที่ศีรษะ

ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอุบัติเหตุการณ์จราจร มีวัตถุหล่นจากที่สูงลงมากระแทกศีรษะทำให้เยื่อหุ้มสมอง เนื้อสมอง และส่วนต่างๆ ของสมองบาดเจ็บ หลอดเลือดสมองอาจแตก ทำให้มีเลือดออกในชั้นต่างๆ ของสมอง นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากหกล้ม ตกจากที่สูง ศีรษะกระแทกพื้น ถูกตีที่ศีรษะ ทารกคลอดยากทำให้ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน

พยาธิสรีรภาพ 

จากการบาดเจ็บที่ศีรษะอาจเกิดขึ้นจากการมีแรงกระแทกที่ศีรษะทันทีหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง เช่น ภาวะสมองบวม ภาวะความดันในสมองสูง การมีเลือดออกในสมอง เป็นต้น การบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแรงที่มากระแทกศีรษะ ตำแหน่งที่ถูกกระแทก ขนาดและชนิดของแรงที่มากระแทก หากมีแรงเคลื่อนมากระทบศีรษะที่อยู่นิ่ง จะทำให้สมองบาดเจ็บเฉพาะที่ แต่ถ้าแรงนั้นมากระทบศีรษะที่อยู่นิ่ง แล้วศีรษะเคลื่อนไปกระทบกับวัตถุอื่นจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งที่สมองเฉพาะที่และที่สมองทั่วไปด้วย

  1. เมื่อศีรษะมีการเคลื่อนไหวเร็วขึ้น (Acceleration) เช่น เมื่อนักมวยถูกชกที่ศีรษะ จะทำให้เกิดการฟกช้ำ มีเลือดคั่ง และอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมองด้านตรงข้ามกับตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากสมองด้านตรงข้ามเคลื่อนไปชนกับกะโหลกศีรษะอีกด้านหนึ่ง และทำให้เนื้อสมองบางส่วนถูกกดทับ ถูกดึงรั้งหรือเคลื่อนไปกระทบกับส่วนที่เป็นปุ่มต่างๆ ภายในกะโหลกศีรษะ
  2. เมื่อศีรษะลดความเร็วและหยุดนิ่ง (Deceleration) เช่น คนหกล้มทำให้ศีรษะกระแทกพื้น มักทำให้เกิดความผิดปกติของสมองทั้งด้านเดียวกับตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บและด้านตรงข้ามกับตำแหน่งที่ถูกแรงกระแทก ทำให้เนื้อสมองฟกช้ำ ฉีกขาด และหลอดเลือดในสมองทั้งสองด้านฟกช้ำด้วย
  3. ศีรษะและคอบิดหมุน ซึ่งแนวแรงที่มากระแทกมีผลทำให้ศีรษะและคอบิดหมุนมากกว่าแรงในแนวแรงตรง มักทำให้สมองฟกช้ำ (Brain contusion) หรือมีเลือดออกในสมองส่วนที่อยู่ตรงข้ามกับตำแหน่งที่ถูกกระแทก
  4. ศีรษะถูกทำลายจนผิดรูป (Deformation) หลังจากมีแรงมากระแทกที่ศีรษะ มีผลทำให้กะโหลกศีรษะแตกหรือยุบลง เช่น ศีรษะแตกยุบลงหลังจากถูกรถชน เนื้อสมองที่ถูกทำลายจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบทำให้ตัวขวางกั้นในสมอง (Blood brain barrier) เพิ่มความสามารถในการซึมผ่าน ของเหลวจึงเคลื่อนไปสู่ช่องว่างระหว่างเซลล์เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเกิดภาวะสมองบวม ร่างกายจะพยายามปรับตัวโดยการทำให้หลอดเลือดหดตัวและขยายตัว รวมทั้งเพิ่มความดันเลือดเพื่อให้สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงเพียงพอ หากกลไกนี้ล้มเหลวจะมีผลทำให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น การบาดเจ็บของเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองจะทำให้หลอดเลือดฉีกขาดเกิดก้อนเลือดมากดทับเนื้อสมองบริเวณนั้น ทำให้เกิดการผิดปกติของสมองเฉพาะที่ หากมีเลือดออกมากขึ้นจะทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนและมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ทำให้สมองตายได้

อาการการบาดเจ็บที่ศีรษะ 

อาจพบอาการได้ตั้งแต่ศีรษะโน เป็นแผลถลอก ฟกช้ำที่หนังศีรษะ อาจทำให้กะโหลกศีรษะร้าว กะโหลกศีรษะแตกและมีบาดเจ็บที่สมอง สมองฟกช้ำหรือหลอดเลือดในสมองฉีกขาดทำให้มีการตกเลือดในสมอง สมองได้รับการกระทบกระเทือน (Brain concussion) โดยไม่มีสมองฟกช้ำ (Brain contusion) หรือสมองฉีกขาด (Brain laceration) หรือมีเลือดออกในสมอง (Intracranial hemorrhage) ผู้ป่วยมักจะมีอาการหมดสติไปเพียงชั่วครู่ เมื่อฟื้นแล้วจะรู้สึกมึนงง จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ อาจเป็นเพียงชั่วขณะหรือเป็นวัน อาจมีอาการปวดศีรษะและหายได้เอง ถ้าสมองฟกช้ำหรือสมองฉีกขาด ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติหลังบาดเจ็บทันที นานเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน อาจมีอัมพาตครึ่งซีก มีอาการชัก เกร็ง หากเป็นรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ หากไม่รุนแรงมักฟื้นคืนสติได้ อาจมีอาการปวดศีรษะ สับสน เพ้อ เอะอะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาเป็นอัมพาต ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ อาจมีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม สักระยะหนึ่ง มีเลือดออกในสมองผู้ป่วยมักมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงเรื่อยๆ แขนขาเป็นอัมพาต ชีพจรเต้นข้า หายใจตื้นขัด ความดันเลือดสูง คอแข็ง รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน (ข้างที่มีก้อนเลือดจะโตกว่า และไม่หดลงเมื่อใช้ไฟฉายส่อง) อาจมีอาการหมดสติ เด็กทารกมักมีอาการร้อง

เสียงแหลม ซึม อาเจียน มีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง กระหม่อมโป่งตึง

การวินิจฉัยโรค 

ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Computed tomography scan; CT scan) อาจพบว่ามีสมองฟกช้ำหรือสมองฉีกขาด หรือมีเลือดออกในสมอง ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging; MRI ) จะพบตำแหน่งที่มีเลือดออกในสมองได้ ฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมอง (Cerebral angiography) เพื่อดูตำแหน่งเลือดออกในสมอง และภาวะสมองชอกช้ำจากการกระแทก ดูได้ทั้งด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังกะโหลกศีรษะ

การรักษาอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ

หากมีเลือดออกในสมองมักจะต้องรักษาโดยการผ่าตัด ก่อนผ่าตัดจะต้องโกนและทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือเพื่อขจัดเอาเนื้อเยื่อตายออก และเห็นส่วนกะโหลกศีรษะแตก อาจมีก้อนเลือดใต้ผิวหนัง (Hematoma) จะต้องเอาออก อาจต้องทำการปลูกกระดูก (Bone graft) เพื่อตกแต่ง หากมีสมองบวมอาจต้องรอถึง 3-6 เดือน หากมีแผลทะลุจะต้องเอาสิ่งแปลกปลอมออก ควบคุมการเสียเลือด ให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ให้เลือด ยกศีรษะสูง 30 องศาเพื่อลดความดันในสมอง

การพยาบาล

ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยดูดเสมหะอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง จัดท่าให้นอนศีรษะสูง เปลี่ยนท่าให้ทุก 1-2 ชั่วโมง สังเกตภาวะขาดออกซิเจนลดความวิตกกังวล ดูแลให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะความดันในสมองสูง โดยจัดให้นอนท่าศีรษะสูงประมาณ 10 องศา ไม่หนุนหมอน วัดสัญญาณชีพและอาการทางระบบประสาททุก 1-2 ชั่วโมง สังเกตอาการของภาวะความดันในสมองสูง เช่น อาการปวดศีรษะ ระดับความรู้สึกตัวลดลง ตาพร่ามัว เป็นต้น หากพบอาการผิดปกติรายงานให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที แนะนำให้หลีกเลี่ยงการไอ จาม การเบ่งถ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มความดันในช่องอก (Valsalva’s maneuver) ให้พักผ่อนและควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ป้องกันอันตรายจากอาการชัก โดยจัดให้ผู้ป่วยนอนบนที่นอนที่มีฟูก ไม่ควรให้นอนเตียงสูงหรือขอบเตียงมีเหลี่ยม วางหมอนรอบๆ ไม้กั้นเตียงเพื่อป้องกันการกระแทก และเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการชักให้พร้อม อาจต้องใส่ท่อหายใจ เพื่อดูดเสมหะให้ทางเดินหายใจโล่ง ให้ยาลดความดันในสมองตามแผนการรักษา เช่น Mannitol, Furosemide เป็นต้น และสังเกตอาการข้างเคียงของยา ดูแลให้ได้รับสารอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ โดยให้สารน้ำวันละ 2,500-3,000 มิลลิลิตร ดูแลสุขอนามัยทั่วไป ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาลดกรดในกระเพาะอาหารตามแผนการรักษา ซึ่งโดยสรุปดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยให้ปลอดภัยจากภาวะวิกฤติ ดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนและฟื้นฟูสภาพให้มีอาการดีขึ้นดังเดิมหรือเกิดความพิการให้น้อยที่สุด


15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ.ศิริพจน์ มะโนดี, การบาดเจ็บที่ศีรษะ (http://hospital.moph.go.th/bangsay/HEADIN.html)
medlineplus, Head injury - first aid (https://medlineplus.gov/ency/article/000028.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)