ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดจากอะไรบ้าง? อันตรายไหม? มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร?
เผยแพร่ครั้งแรก 24 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม

ปวดปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หลับไปแล้วยังต้องลุกมาเข้าห้องน้ำกลางดึกหลายๆ ครั้ง บางครั้งก็ปัสสาวะรดที่นอนระหว่างหลับ อาการเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เราเหนื่อยหน่ายรำคาญใจเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติทั้งสิ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โดยปกติแล้ว ร่างกายของคนที่ไม่ได้อยู่ในวัยเด็กหรือวัยสูงอายุ จะสามารถกลั้นปัสสาวะได้ขณะหลับ โดยไม่รู้สึกปวดและไม่ปัสสาวะราด ส่วนผู้สูงอายุอาจมีลุกเข้าห้องน้ำช่วงกลางคืนบ้าง 1-2 ครั้งเป็นปกติ ดังนั้น คนวัยรุ่นหนุ่มสาวที่มีอาการชอบปวดปัสสาวะหลายๆ ครั้งตอนกลางคืน หรือปวดจนรู้สึกตัวตื่นมาเข้าห้องน้ำขณะหลับ จนถึงขั้นหนักกว่านั้น คือ ปล่อยรดที่นอนโดยไม่รู้ตัว ให้พึงระวังว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ ก็ได้

ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน บ่งบอกถึงอะไรบ้าง?

  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ อาจทำให้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะขุ่น และรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยได้ อาการนอกเหนือจากนี้ที่มักเกิดร่วมกัน หากมีการติดเชื้อถึงส่วนบน หรือกรวยไตอักเสบ คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดบริเวณช่วงหลังลงมาได้  
  • โรคเบาหวาน เนื่องจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จึงจำเป็นต้องมีการขับน้ำตาลพร้อมกับน้ำออกทางปัสสาวะมาก ผู้ป่วยหลายคนจึงมีอาการปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน จนบางครั้งอาจมีปัสสาวะรดที่นอน และมักมีมดมาขึ้นบนที่นอนที่เปื้อน เนื่องจากปัสสาวะนั้นมีน้ำตาลปนออกมา ดังนั้น หากพบอาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดน้ำตาลในเลือดโดยเร็ว
  • มีเนื้องอกที่มดลูกหรือรังไข่ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ จนรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยๆ
  • มีต่อมลูกหมากโต และไปเบียดทับทางเดินปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะต้องบีบตัวแรงขึ้น จนกล้ามเนื้อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้น ส่งผลให้เก็บปัสสาวะได้ปริมาณน้อยลง
  • มีความผิดปกติของไต ทำให้บางครั้งไตไม่สามารถดูดน้ำกลับสู่ร่างกายได้ ปริมาณปัสสาวะที่ขับออกจึงมากขึ้นตาม
  • โรคเบาจืด ซึ่งเป็นความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำมากและปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วน ยาขับปัสสาวะ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มคาเฟอีน ซึ่งสารเหล่านี้มีผลต่อฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำมากเกินไป หากช่วงเวลาก่อนนอนเราดื่มน้ำมาก อาจทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะกลางดึกได้เป็นเรื่องปกติ

การรักษาอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น การรักษาต้องเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ถูกต้องก่อน เพื่อการรักษาให้ตรงจุด โดยเป้าหมายการรักษา คือ ตื่นมาปัสสาวะน้อยกว่าสองครั้ง และหลับได้นานอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

การรักษาจำเพาะนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • หากประเมินจากอาการและการตรวจปัสสาวะ แล้วพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อดังกล่าว
  • หากวินิจฉัยโดยการตรวจน้ำตาลในเลือดและพบว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะให้ยาสำหรับควบคุมน้ำตาลในเลือด หรืออาจต้องรับอินซูลิน (ขึ้นอยู่กับประเภทของเบาหวาน) ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหารการกิน
  • หากตรวจพบเนื้องอกที่กดทับกระเพาะปัสสาวะ จะต้องทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก
  • หากมีความผิดปกติของการนอนหลับ จะต้องประเมินและแก้ไข เป็นต้น

การป้องกันไม่ให้ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน 

  • ช่วงเวลาก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป จำกัดปริมาณน้ำดื่มในช่วงระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน
  • งดดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ในช่วงเย็นถึงก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเบาๆ และพยายามรักษาอุณหภูมิในห้องนอนให้อบอุ่น ไม่เย็นจนเกินไป 
  • งดการรับประทานยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะโดยไม่จำเป็น
  • ป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่เป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว เช่น พยายามไม่กลั้นปัสสาวะนานๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือควบคุมอาหาร และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน

สิ่งสำคัญคือ หากพบว่าเรามีอาการดังกล่าวแล้ว อย่าได้ปล่อยผ่านหรือชะล่าใจ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุจะดีที่สุด

บทความน่าอ่าน


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jeffrey P Weiss, Nocturia: Focus on Etiology and Consequences (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3602727/), 2012
วลีรัตน์ เศวตสุทธิพันธ์, แนวทางการวินิจฉัยและรักษาอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (https://www.tci-thaijo.org/index.php/tmj/article/view/99516/77337), กันยายน 2560

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)