รวมเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและท้องเสีย

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รวมเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและท้องเสีย

เวลาที่รับประทานอาหารในช่วงหน้าร้อนทีไร เคยลองสังเกตบ้างหรือไม่ว่าเรามักจะมีอาการท้องเสียหรือท้องเดินอยู่บ่อยๆ อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากอาหารเป็นพิษทั้งนั้น บางรายที่มีอาการท้องเสียมากๆ จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ก่อให้เกิดอาการรุนแรงที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยอุณหภูมิสูงขึ้นนี่เองที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตในอาหารอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อาหารบูดเสียง่าย เมื่อผู้คนรับประทานเข้าไปก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือเจ็บป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมี หรือสารพิษ ซึ่งพบได้บ่อยในอาหารที่ไม่สะอาด อาหารสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้นำไปแช่เย็นหรืออุ่นร้อนก่อนรับประทาน  จึงทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตในอาหารได้ดี และเชื้อโรคบางชนิดยังสามารถปล่อยพิษปนเปื้อนในอาหารได้ แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังสามารถทำให้มีอาการท้องเสียได้เช่นกัน

เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษนั้น มีทั้งไวรัสและปรสิต อย่างเช่นไวรัสโคโรนา ไวรัสอะดีโน ไวรัสโรตา ไวรัสตับอักเสบเอ อหิวาต์ ลิสทีเรีย ชิเกลลา และพยาธิไกอาร์เดีย รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่มักจะพบในอาหารหรือเครื่องดื่มดังต่อไปนี้

เชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและท้องเสีย

1. อีโคไล (Escherichia coli) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะมีการผลิตพิษออกมา ทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำและอาเจียน ปวดท้อง แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยจะมีระยะการฟักตัวเพียง 8 – 18 ชั่วโมง และสามารถหายเองได้ภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในน้ำดื่ม นม เนยแข็ง เนื้อสัตว์ และผักสลัด

2. สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อที่ปล่อยพิษออกมาปนเปื้อนในอาหาร และสามารถทนต่อความร้อนได้ดี แม้ว่าจะปรุงอาหารจนสุกแล้วก็ตาม ทำให้มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและมีอาการหมดแรง ปวดท้อง ท้องเดิน ความดันโลหิตต่ำลง แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยจะมีระยะการฟักตัวเพียง 1 – 8 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เนื้อสัตว์ และขนมปัง เป็นต้น

3. บาซิลลัสซีเรียส (Bacillus cereus) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนไปกับอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแบ่งตัวในลำไส้ โดยผลิตพิษที่แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด คือ ชนิดแรกทำให้มีอาการท้องเดินเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 8 – 16 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ข้าว และผัก ส่วนอีกชนิดจะปล่อยพิษที่สามารถทนต่อความร้อนได้ดี ทำให้มีอาการอาเจียนเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 1 – 8 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในข้าวอย่างเช่นกรณีที่นำข้าวผัดเก่ามาอุ่นรับประทานซ้ำ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4. ซัลโมเนลลา (Salmonella) เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่อยู่ตระกูลเดียวกับเชื้อไทฟอยด์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะมีการผลิตพิษออกมา ทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ท้องเดินจากอาหารเป็นพิษ บางครั้งก็อาจมีมูกเลือดปนอยู่บ้าง มีระยะการฟักตัว 8 – 48 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 2- 5 วัน ส่วนบางรายที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้เวลา 10 – 14 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ไก่ เป็ด และเนื้อวัว

5. คลอสตริเดียมเพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringen) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนกับอาหาร และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีการผลิตพิษออกมา หลังจากที่มีการแบ่งตัวภายในลำไส้ จึงทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำปวดท้อง แต่ไม่ค่อยอาเจียนและไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 8 – 16 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเป็ดไก่

6. คลอสทริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้มีอาการปากคอแห้ง มองเห็นเป็นภาพซ้อน อาเจียน ท้องเดิน เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาตแล้วลามลงบริเวณส่วนล่างของร่างกาย และเข้าสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว  โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 12 – 36 ชั่วโมง หรืออาจจะหลายวัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อหรือปลารมควัน ผักผลไม้ที่มีการอัดกระป๋องเองในบ้าน การปนเปื้อนสปอร์ในดิน หรือการถนอมอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขอนามัย

7. วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้ออหิวาห์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะทำให้มีการผลิตพิษออกมา ส่งผลให้มีอาการอาหารเป็นพิษ นั่นคืออาการท้องเดิน อาเจียน ปวดท้อง และอาจจะมีไข้ร่วมด้วย บางรายก็อาจจะถ่ายมีมูกเลือดปนในเวลาต่อมา โดยมีระยะการฟักตัว 8 – 24 ชั่วโมง หรือนานถึง 96 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 3 – 5 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทอาหารทะเลสดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือมีการปรุงสุกไม่ทั่วถึง

8. แคมไพโลแบคเตอร์เจจูไน (Campylobacter jejuni) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแบ่งตัวในลำไส้เล็ก และได้มีการรุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุลำไส้เล็กจนมีการปล่อยพิษออกมา จะส่งผลให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบ มีไข้ร่วมด้วย ถ่ายเป็นน้ำที่มีกลิ่นเหม็นมาก และอาจจะถ่ายเป็นเลือดในเวลาต่อมาได้ โดยมีระยะการฟักตัวประมาณ 3 – 5 วัน และสามารถหายได้เองภายใน 5 – 8 วัน

โรคอาหารเป็นพิษนับว่าเป็นโรคอันตรายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคเรื้อรังก็ตาม แต่ถ้ามีอาการท้องเดินอย่างรุนแรงแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้จากภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ของร่างกายอย่างรุนแรงนั่นเอง


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Food Poisoning | Foodborne Illness. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/foodborneillness.html)
What You Need to Know about Foodborne Illnesses. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/food/consumers/what-you-need-know-about-foodborne-illnesses)
NCEZID: Foodborne Disease (Food Poisoning). Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/ncezid/what-we-do/our-topics/foodborne-disease.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป