กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.เพ็ญพิไล สุตันทวงษ์

แผลที่อวัยวะเพศหญิง

แผลที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 16 พ.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
แผลที่อวัยวะเพศหญิง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • แผลที่อวัยวะเพศหญิงไม่ได้เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่อาจเกิดจากผิวหนังอักเสบ ปฏิกิริยาที่มีต่อน้ำหอม น้ำยาซักผ้า การเกา การติดเชื้อ หรือเกิดจากขนคุด บางรายอาจมีอาการคัน เจ็บ แต่บางรายก็อาจไม่แสดงอาการใดๆ เลย
  • หากมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้วไม่ได้รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้ เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ มีบุตรยาก มีแผลเป็นที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงการท้องนอกมดลูก
  • รูปแบบการรักษาจะขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดแผล อาจมีการใช้ยาทาและยากินเพื่อรักษาแผลและบรรเทาอาการปวด ส่วนจะหายเร็ว หรือช้า ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
  • วิธีป้องกันแผลที่อวัยวะเพศหญิงที่ดีที่สุดคือ การหมั่นรักษาความสะอาด มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หมั่นสังเกตตนเองหากมีความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

แผลที่บริเวณอวัยวะเพศหญิงหมายถึง การพบตุ่มและแผลที่ภายใน หรือรอบๆ ช่องคลอด บางครั้งอาจมีอาการคัน เจ็บ หรือทำให้มีสารคัดหลั่งออกมาได้ แต่บางครั้งแผลเหล่านี้ก็อาจไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย 

ตุ่ม หรือแผลที่บริเวณอวัยวะเพศหญิง บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุได้และหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากความผิดปกติของผิวหนัง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแผลที่บริเวณอวัยวะเพศหญิงมักเป็นอาการจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ทำไมควรรีบไปพบแพทย์ เมื่อมีแผลที่อวัยวะเพศ

ผู้ป่วยที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักจะเขินอาย หรือกลัวที่จะไปพบแพทย์ แต่สำหรับโรคกลุ่มนี้ ผู้ป่วยทุกคนควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และแนะนำให้พาคู่นอนไปตรวจรักษาด้วย

เนื่องจากผู้หญิงที่อายุยังน้อยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพในระยะยาวจากการติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาได้ และหากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันอย่างถูกต้องก็อาจมีการแพร่เชื้อไปถึงผู้อื่น หรือคู่นอนได้

ในการตรวจแผลที่บริเวณอวัยวะเพศนั้น แพทย์จะตรวจแผลที่เกิดขึ้นเพื่อหาสาเหตุ แนวทางการรักษา เพื่อรวบคุมโรค และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายได้ 

นอกจากนี้การไปพบแพทย์ยังสามารถช่วยยืนยันได้ด้วยว่า "อาการทุกอย่างเป็นปกติ แผลนั้นอาจแค่เกิดจากการอุดตัน หรือเป็นตุ่มน้ำที่สามารถรักษาได้ง่าย" เพื่อความสบายใจของตัวผู้ป่วยเอง

อาการที่เกิดกับอวัยวะเพศหญิงเมื่อมีแผล

แผลที่บริเวณอวัยวะเพศนั้นอาจจะมีขนาดเล็ก แดง คัน เป็นตุ่ม หรือตุ่มน้ำก็ได้ แผลยังอาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีสะเก็ด มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการเหล่านี้ก็ได้ เช่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • คัน
  • ปวดบริเวณตำแหน่งที่เป็นแผล
  • ปวดที่อุ้งเชิงกราน
  • ปวดเรื้อรัง
  • มีเลือดออก
  • ปัสสาวะแสบขัด
  • ไข้
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยทั่วไปนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับอาการต่างๆ เหล่านี้ด้วย เช่น เจ็บเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ เจ็บเวลาที่ปัสสาวะ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือตกขาวมีปริมาณมากขึ้น

สาเหตุของการเกิดแผลที่อวัยวะเพศหญิง

แผลที่อวัยวะเพศนั้นไม่ได้เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากผิวหนังอักเสบ ปฏิกิริยาที่มีต่อน้ำหอม หรือน้ำยาซักผ้า ถุงน้ำและแผลที่เกิดจากการเกาและการติดเชื้อ หรือเกิดจากขนคุดก็ได้

นอกจากนี้แผลที่อวัยวะเพศยังเกิดได้จากโรคเรื้อรังทางผิวหนังบางโรคที่อาจทำให้เกิดอาการคัน แสบ และเจ็บ ตามมาได้ เช่น

  • การอักเสบที่แคมและช่องคลอด
  • โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารเคมี น้ำยาซักผ้า และน้ำหอม
  • โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสกับสารที่แพ้
  • ถุงน้ำ
  • ขนคุด
  • มะเร็งผิวหนัง

สาเหตุที่พบบ่อยซึ่งทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศหญิงก็คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถติดได้จาก

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก 
  • ทางช่องคลอด
  • ทางทวารหนัก 
  • การใช้อุปกรณ์ทางเพศร่วมกัน 

ตัวอย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศหญิงประกอบด้วย

  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ มีลักษณะเป็นแผลพุพองตื้นๆ มีตุ่มน้ำเล็กๆหลายแผลในบริเวณเดียวกัน
  • หูดที่อวัยวะเพศ
  • หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ผิวหนังชั้นนอก มีลักษณะเริ่มจากเป็นจุดเล็กๆสีแดง และอาจมีตุ่มที่มีสีขาวด้านใน บางครั้งอาจมีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลาง คล้ายสิวแต่ไม่มีการอักเสบ เมื่อบีบออกจะพบสารสีขาวคล้ายเมล็ดข้าวสุกอยู่ภายใน
  • ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venerum) ระยะแรกจะพบตุ่มนูนหรือแผลตื้น ร่วมกับมีการอักเสบของท่อปัสสาวะ ต่อมาในระยะที่สองจะพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบโตอักเสบมากจนกลายเป็นฝีและแตกออกได้
  • โรคแผลริมอ่อน(Chancroid) เริ่มแรกแผลมีลักษณะเป็นผื่นราบหรือมีตุ่มนูน จากนั้นเกิดเป็นแผลหนอง หลังจากตุ่มหนองแตกออกจะกลายเป็นแผลที่มีขอบแผลหนา ไม่เรียบ ก้นแผลลึกเซาะออกทางด้านข้าง
  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) ในระยะแรกแผลจะมีลักษณะเรียบสะอาด มีขอบแข็ง ไม่เจ็บ มักพบเป็นแผลเดี่ยวๆ หายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ ในระยะที่สองมักเกิดหลังจากระยะแรก 6 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน แผลที่อวัยวะเพศจะเป็นรอยนูนขึ้น อาจพบได้มากกว่าหนึ่งแผล ร่วมกับมีผื่นขึ้นตามตัว ฝ่ามือฝ่าเท้า มีไข้ อ่อนเพลีย ส่วนในระยะที่สามมักไม่พบรอยแผลบริเวณอวัยวะเพศแล้วแต่มีการติดเชื้อในกระเสเลือด

การวินิจฉัยแผลที่อวัยวะเพศหญิง

การตรวจร่างกายจะสามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลได้ แพทย์อาจจะมีการตรวจภายในและซักประวัติอื่นๆ ก่อนที่จะส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เพาะเชื้อจากแผลเพื่อหาสาเหตุ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ทั้งนี้การเพาะเชื้อนั้นจะเก็บตัวอย่างจากบริเวณที่เป็นแผลและนำไปตรวจเพื่อดูว่า มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ที่แผลหรือไม่ เมื่อสามารถระบุสาเหตุได้แล้ว แพทย์จะสามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม หากมีความเขินอาย หรือยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิง เช่น โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคหูดหงอนไก่ ซึ่งสามารถโทรคุยแบบไม่เห้นหน้า หรือจะเลือกเป็นแบบวิดีโอคอลก็ได้ 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นแผลที่อวัยวะเพศหญิง

หากมีแผลเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ คุณควรรีบไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ยังสามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการนั่งแช่น้ำอุ่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด โดยอาจจะเติมน้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดาลงไปในน้ำเล็กน้อย

ทำความสะอาดแผล และบริเวณอวัยวะเพศอย่างเหมาะสม และงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหายดี

การรักษาแผลที่อวัยวะเพศหญิง

รูปแบบการรักษาที่จำเพาะนั้นจะขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดแผล อาจมีการใช้ยาทาและยากินเพื่อรักษาแผลและบรรเทาอาการปวด ส่วนมากแพทย์จะสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้

แผลที่อวัยวะเพศซึ่งเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ถุงน้ำที่ไม่ใช่มะเร็งนั้นไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ แต่หากผู้ป่วยรู้สึกรำคาญก็อาจให้แพทย์ช่วยตัดออกได้

การป้องกันแผลที่อวัยวะเพศหญิง

การมีเพศสัมพันธ์แบบปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอนทุกคน จะสามารถหยุดการแพร่กระจายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจทำให้เกิดแผลที่อวัยวะเพศได้ 

ผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรบอกคู่นอนของตนเอง และแนะนำให้คู่นอนมาตรวจรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำและแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนคนอื่นๆ อีก 

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น ควรงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาเสร็จสิ้น

ส่วนแผลที่อวัยวะเพศที่เกิดจากโรคผิวหนัง หรืออาการแพ้นั้นมักจะป้องกันได้ยากกว่า นอกจากต้องงดมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ระคายเคือง เช่น สบู่ น้ำหอมที่มีกลิ่นแรง  

ส่วนการเกิดถุงน้ำและขนคุดนั้นสามารถทำให้อัตราการเกิดลดลงได้ด้วยการทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวให้ดี หลีกเลี่ยงการโกนบริเวณที่บวม แดง หรือมีการติดเชื้อ

ผลลัพธ์ระยะยาวจากแผล

ผลลัพธ์ในระยะยาวของแผลที่อวัยวะเพศผู้หญิงนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วแผลนั้นมักจะรักษาให้หายได้ แต่แผลที่เกิดจากโรคเริม หรือโรคผิวหนังเรื้อรังอาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากร่างกายอ่อนแอ หรือได้รับปัจจัยกระตุ้น

ส่วนผลลัพธ์ในการรักษาแผลจะได้ผลดีขนาดไหนนั้น ยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและระยะของโรค

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รักษานั้นสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อผู้หญิงได้ เช่น อุ้งเชิงกรานอักเสบ  มีบุตรยาก มีแผลเป็นที่ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ 

นอกจากนี้แผลที่อวัยวะเพศหญิงยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการท้องนอกมดลูกซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้ 

ด้วยเหตุนี้คุณจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคเหล่านี้ในระยะยาวเพื่อควบคุมอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และหลีกเลี่ยงการเกิดอาการซ้ำขึ้นอีก หรือเพื่อป้องกันไม่ให้โรคเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก 

ทันทีที่รู้ว่า ตนเองมีแผลที่อวัยวะเพศ ถึงแม้จะเป็นแผลเล็กๆ ที่ไม่น่าลุกลามใหญ่โตได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบว่า แผลเกิดจากอะไร มีการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อที่จะได้หาทางรักษาต่อไปและไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

บทความแนะนำ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Gomes CM, Genital ulcers in women (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17625773), 18 พฤษภาคม 2563.
วีรวิชญ์ พรวัฒนไกรเลิศ, Update in sexually transmitted disease (https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1111:update-in-sexually-transmitted-diseases&catid=45&Itemid=561), 18 พฤษภาคม 2563.
นางพเยาว์ เอนกลาภ, โรคซิฟิลิส (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=883), 17 พฤษภาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป