ขนคุดเป็นโรคที่ในทางการแพทย์จะจัดอยู่ในกลุ่มของโรครูขุมขนอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนที่ทำให้เส้นขนมีการขดอยู่ในรูขุมขน หรือการติดเชื้อภายในรูขุมขนแล้วอักเสบ ทำให้ผิวหนังแลดูไม่เรียบเนียน แต่เป็นตุ่มตอลูบแล้วรู้สึกสะดุดมือไม่สวยงาม
สาเหตุของการเกิดขนคุด
โรคขนคุดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากสาเหตุที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- 1.พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติพันธุกรรมเป็นโรคภูมิแพ้มักจะมีโอกาสเสี่ยงต่อเป็นโรคขนคุดได้ง่าย โดยจะเกิดความผิดปกติของการสร้างเซลล์ผิวหนัง ทำให้มีการอุดตันของรูขุมขนจากสารเคราติน จึงส่งผลให้เส้นขนไม่สามารถงอกทะลุผ่านรูขุมขนออกมาได้ กลายเป็นขนคุดที่อยู่ในรูขุมขนและอาจจะอักเสบเป็นฝีหรือหนอง
- 2.ตำแหน่งสรีระทางกายภาพ ขนคุดที่เกิดกับผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการขนคุดที่บริเวณใต้คาง ต้นคอ ท้ายทอย หรือขาหนีบ โดยมีลักษณะเนื้อที่พับทับกัน ส่วนคนที่มีผมหยิกก็อาจจะเกิดปลายผมทิ่มผิวหนังในรอยพับนั้น แล้วเกิดการอักเสบหรือทำให้เส้นขนเบียดอยู่ในรูขุมขนจนกลายเป็นขนคุดได้
- 3.การกำจัดขนหากเรากำจัดขนอย่างไม่ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการโกนขน ถอนขน หรือแว็กซ์ขนในลักษณะทวนทิศทางการงอกของเส้นขน จะส่งผลให้เกิดปลายแหลมที่ไปทิ่มรูขุมขนจนอักเสบได้
ใครมีความเสี่ยงเป็นโรคขนคุดบ้าง
โรคขนคุดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ ซึ่งพบมากถึง 50 – 80% ในวัยเด็ก และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยอาจจะเกิดขึ้นเป็นโรคเดี่ยวหรือเป็นร่วมกับโรคอื่นอย่างเช่นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผิวหนังเกล็ดปลา และมักจะพบในผู้ที่มีผิวแห้งมากกว่าผิวมัน รวมถึงเป็นได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งและเย็น
วิธีการรักษาและยาที่ใช้ในโรคขนคุด
โรคขนคุดยังเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น ส่วนการรักษาโรคขนคุดนั้นจะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยมีจุดประสงค์ให้เคราตินที่อุดตันในรูขุมขนนั้นหลุดลอกออก และจะเริ่มเห็นผลลัพธ์หลังการรักษาได้ตั้งแต่ 1 – 3 เดือน
- อนุพันธ์ของวิตามินเอ ช่วยในการผลัดเอาโปรตีนเคราตินที่อุดตันให้หลุดออก แต่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองหรืออักเสบได้ ควรเลือกใช้ยาที่มีความเข้มข้นต่ำก่อนและทาก่อนนอนเท่านั้น
- ยาสเตียรอยด์ ใช้เฉพาะช่วงที่ตุ่มขนคุดมีอาการอักเสบ แดง และคัน โดยใช้ยาเพียงระยะเวลาสั้นๆ และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีวิธีรักษาขนคุดด้วยวิธีอื่นๆ อย่างเช่นการใช้เลเซอร์กำจัดขน เพื่อลดจำนวนตุ่มขนคุดที่เส้นขนไม่สามารถงอกได้ตามปกติ
การป้องกันและการดูแลตนเอง
เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคขนคุด สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติคือรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยการทาโลชั่นบำรุงผิวเป็นประจำ พร้อมกับเลือกใช้สบู่อ่อนๆ อย่างเช่นสบู่เด็กเพื่อลดอาการระคายเคือง และงดการอาบน้ำอุ่น อีกทั้งให้งดการสครับผิวขณะที่กำลังเป็นขนคุด เนื่องจากจะทำให้ตุ่มขนคุดนั้นอักเสบมากขึ้น
นอกจากนี้ไม่ควรแกะหรือเกาตุ่มขนคุด เพราะจะส่งผลให้เป็นแผลแดงและอาจทำให้เลือดออกได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดแผลและรอยดำด้วยเช่นกัน จากนั้นควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ ไม่รัดหรือเสียดสีบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคขนคุด จึงเป็นการช่วยลดอาการบวมแดงได้อีกทางหนึ่ง
โรคขนคุดเป็นโรคที่มิอาจระบุสาเหตุที่มาได้ชัดเจน แต่เราสามารถดูแลและป้องกันในระดับเบื้องต้นได้ เช่น การกำจัดขนอย่างถูกวิธี พยายามควบคุมน้ำหนักเพื่อรักษารูปร่างไม่ให้ผิวหนังเกิดชั้นพับกัน และหากพบว่าเป็นโรคขนคุดก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องในลำดับต่อไป