วัคซีนคอตีบ คืออะไร จำเป็นต้องฉีดไหม ใครควรฉีดบ้าง ราคาเท่าไร?

โรคคอตีบ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มักเกิดกับเด็กเล็ก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนคอตีบ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคได้
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 พ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วัคซีนคอตีบ คืออะไร จำเป็นต้องฉีดไหม ใครควรฉีดบ้าง ราคาเท่าไร?

โรคคอตีบ นับเป็นหนึ่งในโรคติดต่อร้ายแรงที่กรมควบคุมโรคกำลังเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดการติดเชื้อแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ด้วยความรุนแรงนี้ จึงได้มีการกำหนดให้วัคซีนคอตีบเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ แม้ว่าจะมีการป้องกันอย่างเข้มงวด แต่จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคกลับพบว่า สถานการณ์โรคคอตีบในประเทศไทยก็ยังไม่ดีขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นด้วย โดยในปี พ.ศ. 2562 พบผู้ป่วยแล้ว 15 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งอัตราการป่วยนี้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2561 ทั้งนี้การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพ คือการฉีดวัคซีนคอตีบ ซึ่งจะช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคคอตีบได้

โรคคอตีบคืออะไร?

โรคคอตีบ (Diphtheria) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Corynebacterium diphtheriae) ซึ่งเป็นการติดเชื้อรุนแรงและเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อกันโดยง่ายจากการไอ จาม พูดคุยในระยะประชิด การสัมผัส หรือการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น จาน ชาม ช้อน เป็นต้น โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปากหรือทางการหายใจ ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 19 ปี โดยมักพบการติดเชื้อในสถานที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมาก เช่น ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประจำ ชุมชนแออัด หรือพื้นที่ห่างไกลที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนคอตีบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของโรคคอตีบ

อาการของโรคจะแสดงหลังจากการติดเชื้อประมาณ 2-5 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย คออักเสบ กลืนอาหารลำบาก หอบ หายใจลำบาก หากไม่สังเกตอาจคิดว่าเป็นอาการป่วยทั่วไป แต่อาการสำคัญที่ชี้ชัดว่าป่วยด้วยโรคคอตีบคือ จะพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White-grayish membrane) เกาะติดแน่นบริเวณลำคอ ต่อมทอนซิล หรือลิ้นไก่ ซึ่งแผ่นเยื่อนี้เกิดจากการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ที่สร้างสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบให้ตายลงและซ้อนทับกันจนเป็นแผ่นฝ้า หากมีการติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

อาการแทรกซ้อนของโรคคอตีบ

อาการแทรกซ้อนสำคัญของโรคคอตีบได้แก่ 

  • ปอดติดเชื้อ 
  • ระบบหายใจล้มเหลว 
  • เส้นประสาทอักเสบหรือเกิดความเสียหายขั้นรุนแรงของระบบประสาททำให้เป็นอัมพาต
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย

การรักษาโรคคอตีบ

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการโรคคอตีบ แพทย์จะต้องรีบรักษาทันที เพราะอาการอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อชีวิต การรักษาโรคคอตีบในปัจจุบันมี 2 วิธีคือ การฉีดยาต้านพิษ เพื่อหยุดพิษที่แบคทีเรียสร้างขึ้น และการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลิน เพื่อกำจัดเชื้อในร่างกาย โดยผู้ป่วยโรคคอตีบจะต้องถูกแยกจากผู้ป่วยอื่นๆ เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย และหลังการรักษาแพทย์จะต้องตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ป่วยไม่มีเชื้อแบคทีเรียคอตีบแล้ว จึงจะสามารถให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

วัคซีนคอตีบ การป้องกันที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าโรคคอตีบจะเป็นโรคที่อันตรายและรุนแรงถึงชีวิต แต่ก็มีหนทางป้องกันที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือการฉีดวัคซีนคอตีบ ทั้งนี้วัคซีนคอตีบที่นิยมฉีดในปัจจุบัน มักไม่ได้ป้องกันโรคคอตีบเพียงอย่างเดียว แต่จะควบคู่กับการป้องกันโรคไอกรนหรือบาดทะยักด้วย โดยวัคซีนคอตีบกลุ่มนี้จะผลิตจากเชื้อหรือพิษของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค โดยนำมาผ่านกระบวนการทำให้เชื้อหมดความสามารถในการก่อโรค จึงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูง ในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนคอตีบตั้งแต่วัยเด็ก และฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้นซ้ำในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้วัคซีนคอตีบที่มีการฉีดอย่างแพร่หลายมี 2 ประเภทหลักๆ คือ 

  • DTP ป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนและบาดทะยัก 
  • dT ป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก

ทั้งนี้ทารกแรกเกิดจากมีภูมิคุ้มกันอยู่ระยะหนึ่งเท่านั้น จึงจำเป็นต้องให้วัคซีนคอตีบป้องกัน โดยต้องให้วัคซีน DTP ทั้งหมด 5 เข็ม ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี จากนั้นเมื่ออายุ 10-12 ปี ให้ฉีดวัคซีน dT อีกครั้ง และฉีดวัคซีน dT กระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี   

อาการข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนคอตีบ

อาการข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนคอตีบ เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและส่วนใหญ่ไม่รุนแรงนัก เช่น อาจมีอาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ อาเจียน การดูแลเพียงแค่ให้นอนพักผ่อน ประคบบริเวณที่ปวดด้วยผ้าเย็น หรือหากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ โดยอาการจะหายไปภายใน 2-3 วัน แต่หากมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูงจัด ชัก ควรพามาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพ้วัคซีนได้

วัคซีนคอตีบ ราคาเท่าไร?

เป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรให้สำหรับเด็กเล็กอายุไม่เกิน 12 ปีทุกคน เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากใครต้องการฉีดกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ก็สามารถฉีดได้ที่โรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิกชั้นนำทั่วไป ซึ่งวัคซีนคอตีบมักฉีดควบคู่กับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนหรือบาดทะยักด้วย ทำให้ราคาค่าฉีดวัคซีนแตกต่างออกไปตามชนิดของวัคซีน โดยราคาเริ่มต้นของการฉีดวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก (dT) คือ 62 บาท (อ้างอิงจาก คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยราคาดังกล่าวไม่รวมค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาล)

โรคคอตีบเป็นโรคร้ายแรงที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก เพียงแค่การไอ จาม พูดคุยหรือสัมผัสกับผู้ป่วยเท่านั้น ยิ่งในกลุ่มเด็กเล็กที่ต้องอยู่ร่วมกันในโรงเรียนจึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อได้ยากมาก ดังนั้นหนทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการฉีดวัคซีนคอตีบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ผู้ปกครองจึงไม่ควรมองข้ามและพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปีด้วย เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก จำเป็นไหม ทำไมต้องฉีด?


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What diphtheria vaccinations are available? (https://www.medscape.com/answers/782051-37704/what-diphtheria-vaccinations-are-available), 18 January 2019
Centers for Disease Control and Prevention, Diphtheria Vaccination (https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/diphtheria/index.html), 17 December 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)