ดอกขจร เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท หรือจะนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็อร่อย และมีวิธีการปลูกและดูแลง่าย ชาวชนบทจึงนิยมปลูกไว้รับประทานเองตามบ้านเรือน แต่ไม่เพียงเฉพาะส่วนดอกเท่านั้นที่มีประโยชน์และสรรพคุณทางยา ส่วนอื่นๆ ของต้นขจรก็สามารถนำมาใช้เข้าตำรับยารักษาโรคต่างๆ ได้เช่นกัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ชื่อวงศ์ ASCLEPIADACEAE
ชื่อพ้อง Pergularia minor Andrews
ชื่ออังกฤษ Cowslip creeper
ชื่อท้องถิ่น สลิด กะจอน ขะจอน สลิดป่า ผักสลิดคาเลา ผักขิก
ถิ่นกำเนิดของต้นขจร
ต้นขจร ซึ่งเป็นที่มาของดอกขจรที่หลายคนนำมาประกอบอาหาร มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย ประเทศแถบร้อนและแถบเส้นศูนย์สูตรในเขตเอเชีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยจะขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง นอกจากนี้ในประเทศแถบทวีปยุโรปยังมีการปลูกเป็นไม้ประดับอีกด้วยเนื่องจากมีดอกที่สวยงาม กลิ่นหอมในยามเย็น
ต้นขจรที่นิยมปลูกในประเทศไทย มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ต้นขจรสายพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งจะมีดอกขนาดเล็ก ดอกขจรออกเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น ส่วนอีกสายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ชาวสวนนำมาตัดต่อทางพันธุกรรมและพัฒนาจากสายพันธุ์พื้นบ้าน ให้ออกดอกมีขนาดที่ใหญ่กว่าสายพันธุ์เดิม และออกดอกดกตลอดทั้งปี เรียกว่าต้นขจรสายพันธุ์ดอก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นขจร
ต้นขจรเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น สามารถเลื้อยพันไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร เถามีขนาดเล็ก ลักษณะกลมเหนียวมากและเป็นสีเขียว เมื่อแก่เถาขจรจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตามยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม แตกใบเป็นพุ่มแน่นและทึบ ดอกขจรออกช่อคล้ายพวงอุบะ ออกดอกตามซอกหรือตามช่อกิ่งเป็นพวง กลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกชำมะนาด หรือกลิ่นใบเตย กลีบดอกขจรมีสีเหลืองหรือเขียวอมเหลือง ผลมีลักษณะกลมและยาวคล้ายฝักนุ่น ขนาดเล็ก ผลแก่จะแตกออกได้ มีเมล็ดปลิวว่อนตามลมคล้ายนุ่น มีเมล็ดเกาะติดกับใยสีขาว
คุณค่าทางโภชนาการของดอกขจร
ดอกขจรน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 72 กิโลแคลลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม
- โปรตีน 5.0 กรัม
- ไขมัน 1.1 กรัม
- ใยอาหาร 0.8 กรัม
- น้ำ 80.5 กรัม
- วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.17 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 68 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 70 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.0 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม
ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
สรรพคุณของดอกขจร
- ตามสรรพคุณในคัมภีร์แพทย์กล่าวว่า ดอกและยอดอ่อนมีรสขมเย็น ใช้เข้าตำรับรักษาโลหิตเป็นพิษ เช่น อาการตัวร้อนเป็นไฟ เป็นต้น โบราณให้ต้มดอกและยอดอ่อนในน้ำเดือด แล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการไข้ ตัวร้อน
- ดอกขจรสามารถช่วยบำรุงโลหิต ในคนที่เลือดลมไหลเวียนไม่ค่อยดีหรือสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ให้รับประทานดอกขจรเป็นอาหาร
- ดอกและยอดอ่อนของส่วนใบ มีรสเย็นและกลิ่นหอม โบราณจึงมักนำไปเป็นส่วนประกอบของยาหอม มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงครรภ์ บรรเทาอาการวิงเวียนและอ่อนเพลีย โดยนำส่วนดอกและยอดไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงจากนั้นผสมกับผงยาหอม ละลายในน้ำร้อนแล้วดื่มขณะอุ่นๆ จะหอมชื่นใจ
- ราก มีรสเมาเบื่อเย็น นำมาต้มกับน้ำ ดื่มเพื่อถอนพิษจากไข้ และบรรเทาอาการอาเจียน
- นำรากมาฝนกับน้ำดอกไม้เทศ แล้วนำมาหยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว
- แก่นและเปลือกจากลำต้นมีรสเมาเบื่อเย็นเช่นเดียวกับส่วนราก นำมาต้มกับน้ำ ดื่มเพื่อบำรุงกำลัง
ดอกขจรช่วยบำรุงปอด ตับ หัวใจ ได้จริงหรือไม่?
จากการค้นหางานวิจัยของดอกขจร ยังไม่พบการศึกษาใดที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์บำรุงปอด บำรุงหัวจ บำรุงตับของดอกขจร ส่วนงานวิจัยฤทธิ๋อื่นๆ ถูกนำมาศึกษาวิจัยค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่นั้นวิจัยในระดับหนูทดลองและหลอดทดลองเท่านั้น หากนำมาใช้ในคน ผลการรักษาอาจจะยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
การนำดอกขจรมาปรุงอาหาร
ยอดอ่อนของดอกและผลอ่อนจะออกในช่วงต้นของฤดูฝน นิยมรับประทานเป็นผัก สามารถทานสดหรือลวกให้สุกก็ได้ ทานคู่กับน้ำพริก หรือนำมาประกอบอาหาร เมนูยอดนิยมคือ ดอกขจรผัดไข่ แกงส้มดอกขจร แกงจืดดอกขจร แกงเลียงดอกขจร หรือนำมาผัดกับเนื้อสัตว์ เช่น ผัดดอกขจรกับปลาหมึก เป็นต้น นอกจากจะเป็นนำมาประกอบอาหารคาวแล้ว ยังสามารถทำเป็นของหวานได้อีกด้วย โดยนำดอกขจรมานึ่งให้สุก ผสมกับมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวแก่ขูดฝอย นำมาปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและเกลือเล็กน้อย เรียกว่า ขนมดอกขจร
ดอกขจรมีผลข้างเคียงหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง?
ส่วนใหญ่งานวิจัยของต้นขจรในระดับหนูทดลองและหลอดทดลองเท่านั้น ยังไม่พบการศึกษาความเป็นพิษในคน หรือรายงานความเป็นพิษในคน แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บป่วย แล้วประสงค์จะรับประทานต้นขจรหรือยาที่มีต้นขจรเป็นส่วนผสมในปริมาณสูง หรือติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน แต่ถ้าหากรับประทานเป็นอาหารทั่วๆ ไป ก็ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย