อ. ทพญ. พฤษพร เกียรติ์เกริกไกร ทันตแพทย์ชำนาญการ
เขียนโดย
อ. ทพญ. พฤษพร เกียรติ์เกริกไกร ทันตแพทย์ชำนาญการ
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ความรู้เรื่องโรคปริทันต์ฉบับสมบูรณ์

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับปริทันต์ ปริทันต์อักเสบ หรือโรครำมะนาด ปัญหาเกี่ยวกับฟันซึ่งพัฒนามาจากโรคเหงือกอักเสบ
เผยแพร่ครั้งแรก 4 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ความรู้เรื่องโรคปริทันต์ฉบับสมบูรณ์

โรคปริทันต์ หรือ โรคปริทันต์อักเสบ หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า โรครำมะนาด คือ โรคเรื้อรังที่มีการอักเสบและทำลายอย่างต่อเนื่องของอวัยวะปริทันต์ที่อยู่รอบฟัน ได้แก่ เหงือก เคลือบรากฟัน เอ็นยึดรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษา อวัยวะต่างๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้าๆ เกิดเป็นฟันโยกและสุดท้ายฟันจะหลุดออก

โรคปริทันต์อักเสบมีสาเหตุและลักษณะพัฒนาความรุนแรงมาจากโรคเหงือกอักเสบ โดยโรคเหงือกอักเสบจะมีอาการเฉพาะส่วนเหงือกเท่านั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษาโรคปริทันต์ วันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,164 บาท ลดสูงสุด 5%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบ

สาเหตุของโรคปริทันต์อักเสบหลักๆ มาจากเชื้อแบคทีเรียที่สะสมบนผิวฟัน หรือเรียกว่า คราบจุลินทรีย์ โดยคราบจุลินทรีย์เกิดจากน้ำลายสะสมกับแบคทีเรียและคราบอาหาร เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน เกิดเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองที่ซับซ้อนระหว่างเชื้อแบคทีเรียกับของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุรองที่ทำให้โรคลุกลามมากขึ้น เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ ยาบางชนิด ขอบของครอบฟันหรือวัสดุอุดฟันไม่เหมาะสม เป็นต้น

คราบจุลินทรีย์มีลักษณะเป็นคราบสีขาว มักสะสมที่บริเวณคอฟัน แผ่นคราบจุลินทรีย์จะมีการสะสมอยู่ตลอดเวลา โดยจะเริ่มสังเกตได้หลังจากทำความสะอาดฟันประมาณ 1 วัน คราบจุลินทรีย์สามารถถูกกำจัดออกได้โดยวิธีการแปรงฟัน และการใช้อุปกรณ์เสริมอย่างทั่วถึงจนสะอาด แต่ไม่สามารถหลุดออกได้โดยการบ้วนน้ำ แม้จะเป็นน้ำยาบ้วนปากก็ตาม หากสะสมไว้เป็นเวลานาน คราบจุลินทรีย์จะมีสภาพเป็นหินปูนหรือหินน้ำลาย โดยเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมที่มาจากน้ำลายหรือน้ำเหลืองเหงือกไปบนคราบจุลินทรีย์ ซึ่งคราบจุลินทรีย์ที่อาศัยบนหินปูนจะสะสมลึกลงไปได้ร่องเหงือก ตลอดจนเกาะไปบนผิวรากฟัน โดยที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถกำจัดหินปูนนี้เองได้ ยิ่งส่งเสริมให้เหงือกเกิดการและอักเสบทำลายอวัยวะปริทันต์อย่างต่อเนื่อง เป็นที่มาของโรคปริทันต์

อาการของโรคปริทันต์อักเสบ

ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตนเองเป็น หรือไม่รู้สึกว่าเป็นอาการเจ็บป่วย อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้คือมีเลือดออกขณะหรือภายหลังการแปรงฟัน เหงือกบวม มีกลิ่นปาก เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหาร หากโรคลุกลามมากฟันจะโยก เนื่องจากกระดูก เหงือก และเอ็นยึดรากฟันถูกทำลาย มีหนองออกจากเหงือก เหงือกร่น ฟันยื่นยาวหรือเคลื่อนแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เหงือกเป็นรู เคี้ยวอาหารไม่ได้ จนต้องไปให้ทันตแพทย์ถอนฟันออก นอกจากนี้ หากโรคปริทันต์อักเสบลุกลามจนมีการติดเชื้อในร่างกาย จะมีอาการไข้ ไม่สบาย อ่อนเพลีย และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

อาการของโรคปริทันต์อักเสบ 4 ระยะ

จากการจากการประชุมบัณฑิตยสภาด้านโรคปริทันต์อักเสบระดับนานาชาติในปี 2017 โรคปริทันต์อักเสบถูกจัดเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. โรคปริทันต์ระยะเริ่มต้น อาการคล้ายกับโรคเหงือกอักเสบ คือ เหงือกบวม แดง มีร่องเหงือกลึก 4-5 มิลลิเมตร แต่ยังไม่มีการสูญเสียอวัยวะปริทันต์
  2. โรคปริทันต์ระยะปานกลาง อาการคือ เหงือกบวม แดง มีร่องเหงือกลึกตั้งแต่ 4 มิลลิเมตรขึ้นไป แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวรากฟัน มีการสูญเสียอวัยวะปริทันต์เล็กน้อย
  3. โรคปริทันต์ระยะรุนแรงเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันบางซี่ อาการคือ เหงือกบวม แดง มีหนองจากเหงือก มีร่องเหงือกลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวรากฟัน มีการสูญเสียเหงือก เอ็นยึดรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณง่ามแยกรากฟัน ฟันโยก ปวด จนอาจต้องสูญเสียฟันบางซี่
  4. โรคปริทันต์ระยะรุนแรงเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันหมดทุกซี่ทั้งปาก อาการคือ เหงือกบวม แดง มีหนองจากเหงือก มีร่องเหงือกลึกเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวรากฟันอาจลึกจนถึงปลายรากฟัน ฟันโยกมาก ปวด ไม่สามารถเคี้ยวได้ สูญเสียอวัยวะปริทันต์และฟันทั้งหมด

การรักษาและการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ

หัวใจสำคัญของการรักษา คือ การร่วมมือ ความตั้งใจ และระเบียบวินัยในการทำความสะอาดของผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการรักษาโรคปริทันต์อักเสบประกอบด้วยวิธีการรักษาดังนี้

  1. การรักษาสุขภาพร่างกายให้มีความต้านทานต่อการอักเสบหรือติดเชื้อ เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การเลิกบุหรี่
  2. การกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโดยตรงของโรค ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุด ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและสะอาด ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟัน แต่เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้กลับมาสะสมใหม่ทุกวัน ดังนั้นการป้องกันโรคคือการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวัน ด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
  3. การขูดหินปูน เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์
  4. การเกลารากฟัน คือ การกำจัดชั้นนอกของผิวเคลือบรากฟันที่ขรุขระและมีหินปูนเกาะหรือปนเปื้อนสารพิษจากแบคทีเรีย ทั้งที่อยู่เหนือเหงือก ใต้ขอบเหงือก และที่ผิวรากฟัน
  5. การรักษาต้านการติดเชื้อ ด้วยการใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาต้านการอักเสบ สารรบกวนการเกาะกลุ่มของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งมักผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก เช่น น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารคลอเฮกซิดีน
  6. การรักษาเพื่อแก้ไขสาเหตุเฉพาะแบบเฉพาะเจาะจง เช่น การปลูกถ่ายกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือก เพื่อทดแทนส่วนที่สูญเสียไป การแก้ไขการสบฟันที่กระแทกผิดปกติ การจัดฟันให้ฟันเรียงเป็นระเบียบง่ายต่อการทำความสะอาด การแก้ไขขอบครอบฟันหรือวัสดุอุดฟันที่ไม่เรียบ เป็นต้น

เนื่องจากโรคนี้มีการทำลายทั้งเนื้อเยื่อและกระดูก ร่างกายจึงไม่สามารถสร้างกลับมาเหมือนเดิมได้โดยสมบูรณ์ รวมทั้งสาเหตุของโรคสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยากที่จะรักษาได้หายขาด การขูดหินปูนและเกลารากฟันเป็นการทำความสะอาดฟันโดยทันตแพทย์ การรักษาและป้องกันโรคที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้โรคกลับมาเป็นใหม่ได้เร็วคือการดูแลทำความสะอาดฟันให้ดีอย่างเคร่งครัดทุกวันด้วยตนเอง เพื่อคงสภาพของเหงือกและกระดูกที่เหลืออยู่ให้มีสุขภาพที่ดีตลอดไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษาโรคปริทันต์ วันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,164 บาท ลดสูงสุด 5%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การแปรงฟันให้สะอาดในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถมาทดแทนการถูกทำลายในวันนี้ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ และควรพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ของผู้ป่วย และเพื่อรับคำแนะนำการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ตอบคำถามคาใจ เป็นโรคปริทันต์อักเสบแล้วสามารถจัดฟันได้หรือไม่?

ผู้ที่กำลังเป็นโรคปริทันต์อักเสบอยู่ ควรรักษาโรคปริทันต์ให้หายก่อนเป็นเวลา 4-6 เดือน หลังจากนั้นจึงเริ่มติดเครื่องมือจัดฟันได้ ทั้งนี้เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยสามารถดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปากของตนเองได้เป็นอย่างดีก่อนจัดฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดคราบจุลินทรีย์ เพราะเมื่อติดเครื่องมือจัดฟันจะทำให้การทำความสะอาดฟันยากกว่าปกติ แต่หากยังมีการลุกลามของโรคอยู่ การจัดฟันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทำลายอวัยวะปริทันต์เพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนี้ แผนการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคปริทันต์ ในกรณีที่มีฟันโยกมากๆ หรือสูญเสียอวัยวะที่รองรับฟันไปมาก อาจจะต้องเลือกถอนฟันซี่นั้นออกไป และในกรณีที่จำเป็น ทันตแพทย์จัดฟันจะทำงานร่วมกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคปริทนัต์อักเสบ เพื่อรักษาและควบคุมสภาวะของเหงือกและอวัยวะรองรับฟันให้ดีตั้งแต่ก่อนเริ่มจัดฟัน ระหว่างที่จัดฟัน รวมทั้งหลังจากที่จัดฟันเสร็จแล้ว

ตลอดเวลาที่ติดเครื่องมือจัดฟัน ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังทานอาหารและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังทานอาหาร โดยใช้แปรงสีฟันและไหมขัดฟันแบบพิเศษ (super floss หรือ floss threader) ที่ออกแบบมาเฉพาะคนไข้จัดฟัน ควรขูดหินปูนร่วมกับการตรวจเช็คฟันผุทุก 3-6 เดือน

ในผู้ที่เคยเป็นโรคปริทันต์อักเสบรุนแรงขึ้นไป แม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว แต่อวัยวะปริทันต์ได้สูญสลายไปปริมาณมาก จะเกิดข้อจำกัดในการจัดฟัน เช่น ไม่สามารถถอนฟันซี่ที่สมควรถอนตามแผนการจัดเรียงฟัน ไม่สามารถเคลื่อนฟันเป็นระยะทางไกล หรือเคลื่อนไปในตำแหน่งที่ทันตแพทย์จัดฟันวางแผน เหมือนที่ทำได้ในคนไข้ที่สุขภาพช่องปากดี ดังนั้น ในผู้ที่จัดฟันกลุ่มนี้จึงอาจมีผลลัพธ์การจัดเรียงฟันที่ไม่สมบูรณ์


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รากฟันเทียมอักเสบ เป็นหนอง และอาการข้างเคียงอื่นๆ, (https://hdmall.co.th/c/side-effect-of-dental-implant).
อาการหลังรักษารากฟัน, (https://hdmall.co.th/c/side-effect-after-root-canal).
รักษารากฟัน (Root Canal) คือออะไร? ใครควรทำ?, (https://hdmall.co.th/c/root-canal).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี

อาหารที่สามารส่งเสริมสุขภาพของช่องปากได้อย่างน่ามหัศจรรย์

อ่านเพิ่ม
ฟันเหลือง ทำอย่างไรดี?
ฟันเหลือง ทำอย่างไรดี?

รู้จัก 8 สาเหตุของฟันเหลือง ทั้งโดยธรรมชาติและจากพฤติกรรมที่คุณหลีกเลี่ยงได้ พร้อมแนะนำ 7 วิธีเพื่อให้ฟันกลับมาขาวสดใส

อ่านเพิ่ม