เจ็บหน้าอก สัญญาณโรคร้ายที่ไม่ควรวางใจ

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เจ็บหน้าอก สัญญาณโรคร้ายที่ไม่ควรวางใจ

เจ็บหน้าอก (Chest pain) คืออาการเจ็บปวดที่บริเวณหน้าอก นับตั้งแต่ช่วงหัวไหล่ลงมาถึงซี่โครง อาการเจ็บหน้าอกมีทั้งที่เกิดขึ้นเฉียบพลันแล้วหาย หรืออาจเกิดขึ้นซ้ำๆ ในตำแหน่งเดิม และรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น นอกจากนี้ อาการเจ็บหน้าอกยังมีหลายลักษณะ เช่น เจ็บและจุก แน่น หนัก เหมือนมีอะไรกดทับ หรือเจ็บเหมือนถูกแทงที่หน้าอก และบางครั้งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หายใจลำบาก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และหลายครั้งก็เป็นสาเหตุที่ร้ายแรงด้วย ดังนั้น เจ็บหน้าอกจึงเป็นอาการที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรต้องรีบหาสาเหตุและรักษาโดยด่วน

สาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก เกิดจากอะไรได้บ้าง?  

สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยและค่อนข้างอันตราย โดยอาการเจ็บหน้าอกมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น จุกแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ เจ็บร้าวไปถึงหลัง ลำคอ หัวไหล่ และแขน หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เมื่อออกแรงมากอาการเจ็บหน้าอกจะยิ่งรุนแรงขึ้น รวมถึงบางครั้งอาจรู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และมีเหงื่อออก ซึ่งความผิดปกติของหัวใจที่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Myocardial infarction) เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่สะดวก ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงฉับพลัน หายใจไม่ออก และถึงพักอาการก็ไม่ดีขึ้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วโลก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) เกิดจากไขมันและเซลล์ที่ตายแล้วกลายเป็นคราบสะสมจนอุดตันในผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดแดงแคบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยเช่นกัน ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บหน้าอกกะทันหัน และเจ็บร้าวไปถึงไหล่และแขน โดยเฉพาะเมื่อออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ แต่เมื่อพักจากการออกแรงอาการเจ็บหน้าอกจะหายไปได้
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับมีไข้ และปวดเมื่อยตามร่างกาย หัวใจเต้นเร็ว แต่ไม่มีภาวะหัวใจขาดเลือด
  • หลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic dissection) ทำให้เลือดไหลทะลักออกมาจากหลอดเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงไปจนถึงคอ หลัง และท้อง
  • ความผิดปกติอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม และลิ้นหัวใจยาว เป็นต้น

สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปอด ปอดเป็นอวัยวะสำคัญในช่องอก ดังนั้น ความผิดปกติของปอดอาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้เช่นกัน แต่ไม่เด่นชัดและไม่รุนแรงเท่ากับความผิดปกติของหัวใจ ยกตัวอย่างเช่น

  • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy) สาเหตุมักมาจากการติดเชื้อ ทำให้มีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเหมือนถูกทิ่มแทง โดยเฉพาะเวลาไอหรือจามจะยิ่งรู้สึกเจ็บมาก
  • มีลิ่มเลือดอุดกั้นปอด (Pulmonary Embolism) เกิดจากลิ่มเลือดในกระแสเลือดเข้าไปอุดกั้นที่ปอด ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังปอดลำบาก ทำให้มีอาการเจ็บแปลบกลางหน้าอก หายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว และไอเป็นเลือดได้
  • โรคหอบหืด (Asthma) เป็นโรคที่ทำให้มีอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด ไอ และหากอาการรุนแรงมากจะรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่นๆ อาการเจ็บหน้าอกจะต่างจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยมักไม่รู้สึกหนักเหมือนโดนกดทับ ตัวอย่างสาเหตุเหล่านี้ ได้แก่

  • โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Oesophageal Reflux Disease) เกิดจากกรดในกระเพาะไหลขึ้นมาสู่หลอดอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนที่หน้าอกส่วนบนและลำคอ โดยอาการมักเป็นๆ หายๆ
  • ความผิดปกติของหลอดอาหาร เช่น หลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ หรือหลอดอาหารทะลุ การกลืนอาหารผิดปกติ ทำให้เกิดการสำลัก เป็นต้น
  • กล้ามเนื้ออกบาดเจ็บ เกิดจากการถูกกระแทก อุบัติเหตุ การออกกำลังกายหักโหม หรือออกแรงกดมาก ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหน้าอกเสียหาย และส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกตามมาได้
  • ซี่โครงบาดเจ็บ เช่น ซี่โครงหัก กระดูกอ่อนซี่โครงบวม ทำให้รู้สึกเจ็บตึงๆ บริเวณรอบซี่โครง โดยเฉพาะเวลานอนหงาย ไอ จาม
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น เป็นไส้เลื่อนกระบังลม ตับอ่อนและถุงน้ำดีอักเสบ รวมถึงมีความเครียด วิตกกังวล ซึ่งภาวะเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้เช่นกัน

การรักษาอาการเจ็บหน้าอก

การรักษาอาการเจ็บหน้าอกจะเน้นรักษาตามสาเหตุ โดยใช้แนวทางการรักษาดังนี้

การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการ ซึ่งได้แก่

  • ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว และทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น เช่น เช่น ยาไนโตรกลีเซอรีนสำหรับอมใต้ลิ้น เป็นต้น
  • ยาละลายลิ่มเลือด ใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และปิดกันการไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจ โดยยาสลายลิ่มเลือดและทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น
  • ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากกรดไหลย้อน
  • ยาบรรเทาภาวะซึมเศร้า ใช้รักษาในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกจากความเครียด ความวิตกกังวล

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งใช้รักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากสาเหตุรุนแรง หรือเป็นภาวะเร่งด่วน โดยวิธีการผ่าตัดที่ใช้ ได้แก่

  • การผ่าตัดบายพาส (Bypass Surgery) หลอดเลือดจากส่วนอื่นๆ ของร่างกายมาใช้ทดแทนเส้นทางเดินเลือด โดยจะทำในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดอุดตัน
  • การทำบอลลูน (Balloons placement) เป็นการสอดท่อเล็กๆ เข้าไปยังหลอดเลือดใหญ่ตรงขาหนีบหรือข้อมือ และต่อไปยังบริเวณที่หลอดเลือดตีบ เพื่อเปิดทางหลอดเลือดที่อุดตัน ให้เลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้
  • การผ่าตัดอื่นๆ เช่น การศัลยกรรมปอด หรือผ่าตัดเพื่อรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เสียหาย มักใช้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉิน ซึ่งต้องทำการผ่าตัดด่วน

การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก

อาการเจ็บหน้าอกจากแต่ละสาเหตุ มีแนวทางการป้องกันที่แตกต่างกันไป เช่น

การป้องกันสาเหตุจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ทำได้โดย

  • งดอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารโซเดียมสูง ซึ่งเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ มากๆ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อบริหารหัวใจและปอดให้แข็งแรง อีกทั้งเป็นการช่วยลดไขมันในเลือด เพื่อป้องกันความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

การป้องกันสาเหตุอื่นๆ ที่นำไปสู่อาการเจ็บหน้าอก ทำได้โดย

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหน้าอก หากมีอาการเจ็บควรพักใช้กล้ามเนื้อ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เจ็บหน้าอก เช่น การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือยกของหนัก
  • ดูแลสุขภาพไม่ให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบ
  • ทานอาหารให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงการทานอาหารทีละมากๆ เพื่อป้องกันโรคกรดไหลย้อน รวมถึงไม่พูดคุยระหว่างทานอาหาร หรือทานเร็วเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดการสำลัก

18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Angina (Chest Pain). American Heart Association. (https://www.heart.org/en/health-topics/heart-attack/angina-chest-pain)
Chest pain: 26 causes, symptoms, and when to see a doctor. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321650)
Chest pain. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/chest-pain/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป