จำปาดะ (Chempedak)

รู้จักจำปาดะ พืชพื้นถิ่นของภาคใต้ที่มีรสหวานจัดและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งนอกจากใช้คำขนม นำมาทำอาหาร จำปาดะยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 21 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
จำปาดะ (Chempedak)

จำปาดะ หรือ จำดะ (เกิดจากการกร่อนเสียงของคนภาคใต้) เป็นผลไม้ตระกูลเดียวกับขนุน รสหวาน มีกลิ่นเฉพาะตัว คนส่วนใหญ่มักสับสนเนื่องจากมีลักษณะภายนอกของไม้ 2 ชนิดนี้ค่อนข้างคล้ายกัน จำปาดะออกผลปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูฝน นิยมนำมาชุบแป้งทอดคล้ายกล้วยแขกเพื่อรับประทาน

สันนิษฐานกันว่า ชื่อจําปาดะน่าจะเพี้ยนมาจากภาษามาเลเซีย ว่า “Chempedak” หรือ “Cempedak” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Artocarpus integer (Thunb.) Merr. วงศ์ Moraceae ถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมาลายู อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และเกาะนิวกินี สำหรับประเทศไทย เป็นผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่อของภาคใต้ ปลูกมากในจังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา

สายพันธุ์ของจำปาดะ

จำปาดะมี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

  1. จำปาดะขนุน เนื้อนิ่มเหลว เมื่อสุกงอมจะมีรสหวานจัด มีกลิ่นจัด ยวงมักไม่เต็มผล แกะยวงออกจากเปลือกค่อนข้างยาก ติดผลได้ตลอดทั้งปี ขนาดผลใหญ่กว่าจำปาดะบ้าน
  2. จำปะดะบ้าน เนื้อเหลว รสหวานจัดและมีกลิ่นแรงเช่นเดียวกัน มียวงเต็มผล ติดผลดกมากบางครั้งติดผลรอบต้น ขนาดต้นใหญ่กว่าจำปาดะขนุน ออกดอกช่วงหน้าแล้งและติดผลปีละ 1 ครั้ง เปลือกหนา แต่ฉีกหรือแกะออกจากยวงได้ง่าย

ทั้งสองสายพันธุ์สามารถแยกเป็นพันธุ์มีเมล็ดและไร้เมล็ด นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อยสามารถแยกได้ตามพื้นที่การปลูก มีลักษณะเด่นและรสชาติแตกต่างกันไป เช่น

  • จำปะดะพันธุ์ทองตาปาน แถบจังหวัดพังงา มีลักษณะเด่นคือเนื้อในมีสีเหลืองทอง รสชาติ ดี ผลและเมล็ดค่อนข้างใหญ่ เปลือกผลค่อนข้างบาง ผิวเรียบตึง และหนามไม่แหลมเหมือนจำปาดะทั่วไป
  • จำปาดะพันธุ์ขวัญสตูล มีลักษณะเด่นคือเนื้อสีแหลืองออกสีส้ม ยุม (เนื้อผล)ใหญ่ เนื้อหนา ไม่เละ กลิ่นไม่จัด และรสชาติไม่หวานมาก
  • จำปาดะพันธุ์สีทอง ลักษณะเด่นคือเนื้อในเป็นสีเหลืองเข้ม ผลสุกจะมีกลิ่นหอมแรง ติดผลได้ง่าย ผิวผลมีหนามคล้ายผลขนุน

ความแตกต่างของจำปาดะกับขนุน

แม้จะคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างให้สังเกตได้ เช่น

  • จำปาดะมีรูปร่างผลเป็นทรงกระบอก มีขนาดเล็กกว่าผลขนุน
  • ผิวของผล จะเรียบกว่าผลขนุน เปลือกนอกบางและปอกง่ายกว่า สีผิวเปลือกเมื่อแก่ใกล้สุกมีสีเหลืองอมส้ม
  • ผลสุกมีรสหวานจัดและมีน้ำเยอะกว่าขนุน เส้นใยเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด เนื้อนิ่ม ค่อนข้างเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน กลิ่นแรงคล้ายกลิ่นทุเรียน
  • ระหว่างเมล็ดมีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่น ต่างจากเมล็ดของขนุน

จำปาดะเอามาทำเมนูอะไรได้บ้าง?

ส่วนต่างๆ ของต้นสามารถรับประทานได้ ทั้งแบบเป็นผลไม้และนำมาประกอบอาหารหรือทำเป็นขนมหวาน เช่นเมล็ดต้มใส่แกงไตปลา ผลอ่อนใช้เป็นผักต้มกับกะทิ ใบสามารถนำมาลวกจิ้มน้ำพริกกินเป็นผักได้ ส่วนเมนูของหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ ทำแบบเดียวกับข้าวต้มมัดทั่วไปแล้วนำเฉพาะเนื้อจำปาดะมาใช้เป็นไส้แทนกล้วย แกงบวดจำปาดะ ใช้ส่วนเนื้อมาปรุง ข้อดีคือไม่ต้องใส่น้ำตาลเยอะ เพราะจำปาดะมีรสหวานจัดอยู่แล้ว อีกเมนูคือของขึ้นชื่อ คือ จำปาดะทอด ทำคล้ายกล้วยแขกทอด คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย

คุณค่าทางโภชนาการ

จำปาดะผลสุก 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

ข้อมูลจาก: Directorate Nutrition Department of Health 

ประโยชน์ของจำปาดะ

จากการรายงานผลทางวิจัยพบว่า เปลือกต้นและรากมีสารที่ใช้ในการรักษาและป้องกันโรคไข้มาลาเรีย และเมล็ดมีสารเลกติน (Lectins) ที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เนื้อจำปาดะมีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลากหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม เป็นแร่ธาตุที่พบมากที่สุด รองลงมาคือแมกนีเซียม แมงกานีส แคลเซียม สังกะสี โซเดียม คอปเปอร์ ตามลำดับ จำปาดะมีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา เส้นใยของจำปาดะเป็นเส้นใยแบบละลายน้ำ สามารถขับไขมันและสารพิษออกจากร่างกายได้ นอกจากนี้มีสารเบตาแคโรทีน มีน้ำตาลแมนโนส เนื้อผลอ่อนยังช่วยฝาดสมาน แก้ท้องเสีย ส่วนเนื้อผลสุก เป็นยาระบายอ่อนๆ และเมล็ดช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดได้

คำตอบคำถามถามบ่อย: กินจำปาดะมากๆ จะอ้วนหรือไม่?

ถ้ากินเยอะอาจจะอ้วนได้ เนื่องจากมีรสหวานจัด และเนื้อผลสุกมีปริมาณน้ำตาลสูง นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เจ็บคอและร้อนในได้ หากรับประทานมากเกินความพอดี


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อมรัตน์ ขุมทอง, พงษ์ศักดิ์ มานสุริวงศ์ และ คริษฐ์สพล หนูพรหม, การสำรวจและศึกษาพันธุ์ของจำปาดะในอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล (http://oservice.skru.ac.th/ebookft/1455/.pdf), 2558.
สุชาดา จันทร์พรหมมา และ ฉัตรชนก กะราลัย, การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากรากต้นสาเกและรากต้นจำปาดะ (http://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2010/6948/1/305241.pdf), 2549.
Zakaria Mustafah, Yana M Syah, Nunuk Hariain Soekamto et al., Isoflavone from Artocarpus integer (Thunb.) Merr. and the bioactivity of antioxidants, (https://www.researchgate.net/publication/320582355_Isoflavone_from_Artocarpus_integer_Thunb_Merr_and_the_bioactivity_of_antioxidants), July 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)