ในร่างกายของเรามีสารเคมีที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) ผ่านไปทางกระแสเลือดไปยังอวัยวะเป้าหมาย
ฮอร์โมนแต่ละชนิดมีหน้าที่แตกต่างกัน โดยรวมคือมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายให้สมดุลทำงานได้ตามปกติ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป การที่ฮอร์โมนเสียสมดุลอาจส่งผลต่ออารมณ์ สุขภาพ ผิวพรรณ หรืออาจทำให้เกิดความผิดปกติ หรือโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้
ดังนั้น "การตรวจระดับฮอร์โมน" หรือ "ตรวจความสมดุลของฮอร์โมน" จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อใช้ประเมินอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายว่า เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อระดับฮอร์โมนไม่ปกติ
- อัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายลดลง ปริมาณไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย
- มวลกล้ามเนื้อลดลง
- ผิวแห้งกร้าน เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย ทำให้แลดูแก่กว่าวัย
- การนอนหลับที่ผิดปกติ ทำให้นอนหลับยากขึ้น หรือนอนหลับไม่สนิท
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อาจเกิดภาวะซึมเศร้า ความจำเสื่อม
- ความต้องการทางเพศลดลง
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า ควรตรวจฮอร์โมน
- ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยทั่วไปประจำเดือนจะมาทุก 21-35 วัน แต่หากประจำเดือนของคุณมาไม่ตรงกันทุกเดือน หรือข้ามเดือน อาจเป็นผลมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือโปสเจสเตอโรนผิดปกติ อย่างไรก็ตาม หากคุณอายุ 40-50 ปี อาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุว่า คุณกำลังเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน
- นอนไม่หลับ ตามปกติฮอร์โมนเมลาโทนินจะมีส่วนช่วยในการนอนหลับทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายลง ส่งผลให้สามารถนอนหลับได้ดี ถ้าระดับของเมลาโทนินต่ำเกินไป อาจเกิดอาการร้อนวูบวาบและมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งทำให้นอนหลับยากขึ้น
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย เครียด ซึมเศร้า เมื่อฮอร์โมนลดลง หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด หรือมีอารมณ์แปรปรวนได้ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจน นับว่าเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ส่งผลต่อสารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนิน โดพามีน และนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับอารมณ์
- น้ำหนักเพิ่ม เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ หรือต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด ดังนั้นหากระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติได้
- เป็นสิวมากกว่าปกติ ตามปกติผิวหนังของคนเราจะมีความชุ่มชื้น เนื่องจากต่อมใต้ผิวหนังผลิตซีบัมซึ่งเป็นของเหลวที่มีน้ำมันและขี้ผึ้งปนกันแล้วส่งผ่านท่อเล็กๆ ขึ้นมาหล่อเลี้ยง สิวจะเกิดขึ้นเมื่อท่อเล็กๆ เหล่านี้อุดตัน โดยฮอร์โมนที่ผิดปกติจะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่ท่อส่งไขมันจะอุดตันจนทำให้เกิดสิวก็เพิ่มขึ้นด้วย
- ผิวพรรณแห้งกร้าน เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฮอร์โมนเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผิวพรรณและริ้วรอยต่างๆ หากฮอร์โมนชนิดนี้ลดลงจะส่งผลต่อผิวพรรณทำให้ไม่เปล่งปลั่งเช่นเดิม หรือมีริ้วรอยก่อนวัย
ใครควรตรวจฮอร์โมน
ระดับฮอร์โมนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่นแต่ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ฮอร์โมนจึงอยู่ในภาวะสมดุล กระทั่งเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มลดปริมาณการหลั่งฮอร์โมนลงถึง 40% และทุกๆ 10 ปี จะลดลงเฉลี่ย 14% ทำให้เกิดความผิดปกติดังที่กล่าวมา
ดังนั้นการตรวจฮอร์โมนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี หรือในผู้ที่เริ่มรู้สึกว่า ร่างกายผิดปกติ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุล เช่น ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสมลพิษจากสิ่งแวดล้อม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
ตรวจฮอร์โมนพื้นฐานมีอะไรบ้าง
- ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (TSH Triiodothyronine Free (Free T3) Thyroxine Free (Free T4) )
- ตรวจฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (Morning Cortisol)
- ตรวจฮอร์โมนอินซูลิน (Fasting Insulin)
- ตรวจเพื่อติดตามการควบคุมเบาหวาน (HbA1c)
- ตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิง (Estradiol)
- ตรวจระดับฮอร์โมนเพศชาย (Free Testosterone)
- ตรวจสารตั้งต้นของฮอร์โมนเพศ (Dehydroepiandrosterone Sulphate)
- ตรวจหาระดับโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนเพศ (Sex Hormone Binding Globulin)
อ่านต่อ: รีวิวตรวจระดับฮอร์โมน 13 รายการ สำหรับผู้หญิง ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2
แนวทางการรักษา หากตรวจฮอร์โมนแล้วไม่สมดุล
หากตรวจพบว่า ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล เราสามารถปรับระดับฮอร์โมนได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้ง น้ำตาล หรืออาหารที่มีไขมันสูง จำพวกไขมันทรานส์ แต่ควรเน้นบริโภคไขมันกลุ่มโอเมก้า 3-6-9
- เน้นบริโภคธัญพืช ผัก ผลไม้
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
- พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 30 นาที
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
แต่หากระดับฮอร์โมนผิดปกติค่อนข้างมาก แพทย์อาจวินิจฉัยให้รับประทานฮอร์โมน หรือยาอื่นๆ เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
การตรวจฮอร์โมนนับว่า มีความสำคัญเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้นและหาทางรักษาได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่ได้มีความผิดปกติทางร่างกายใดๆ หรือไม่ได้มีสัญญาณเตือนดังที่กล่าวมาอาจไม่จำเป็นต้องตรวจระดับฮอร์โมนเลยก็ได้ เพียงแค่รักษาสุขภาพให้แข็งแรงและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้คุณสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคได้แล้ว
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจระดับฮอร์โมน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android