โรคมะเร็งกระดูกที่พบบ่อยในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวมีสองชนิด คือ ออสทีโอซาร์โคมาและอีวิงซาร์โคมา โดยมักได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีรักษา และการผ่าตัดซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องตัดแขนหรือขาออกไปด้วย
บทนำ
บทความนี้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูกในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว มะเร็งกระดูกมีหลายประเภทและข้อมูลในบทความนี้มักครอบคลุมประเภททั้งหมด หากคุณเป็นโรคมะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้ยากและต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์ประจำตัวหรือค้นคว้าเพิ่มเติมได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประเภทของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกมีหลายชนิดด้วยกัน แต่มะเร็งกระดูกที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว คือ มะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) และชนิดอีวิงซาร์โคมา (Ewing sarcoma)
- มะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) มะเร็งกระดูกชนิดดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดในกระดูกส่วนขาโดยเฉพาะบริเวณข้อเข่า แต่ก็อาจส่งผลต่อกระดูกชิ้นอื่น ๆ ในร่างกายได้เช่นกัน
- มะเร็งกระดูกชนิดอีวิงซาร์โคมา (Ewing sarcoma) - มะเร็งชนิดนี้อาจส่งผลต่อกระดูกชิ้นใดก็ได้ในร่างกาย แต่ส่วนใหญ่มักพบในกระดูกเชิงกราน ซึ่งประกอบไปด้วยกระดูกก้นกบหนึ่งชิ้น และกระดูกสะโพกอีกสองชิ้นประกอบกัน หรือบริเวณกระดูกขากรรไกรในช่องปากและใบหน้า บางครั้งเซลล์มะเร็งอาจเริ่มต้นจากเนื้อเยื่ออ่อนนอกกระดูกก็เป็นได้ ภาวะนี้เรียกว่าอีวิงซาร์โคมาในเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue Ewing sarcoma) และมีแนวทางการรักษาเช่นเดียวกันกับมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคมาทั่วไป คำว่าซาร์โคมา (Sarcoma) นั้นเป็นชื่อของกลุ่มโรคมะเร็งที่เริ่มต้นในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue) เช่น กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อไขมัน หรือกระดูกอ่อน เป็นต้น
บทความนี้อาจมีการใช้คำว่า 'เนื้องอกกระดูก' คำนี้มีความหมายเช่นเดียวกับโรคมะเร็งกระดูก
สาเหตุของโรคมะเร็งกระดูกในวัยรุ่นและหนุ่มสาว
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งกระดูก เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยกว่าในวัยหนุ่มสาว แพทย์จึงสันนิษฐานว่าอาจมีความสัมพันธ์บางอย่างกับการเจริญเติบโตของร่างกายและเมื่อกระดูกเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งมีการวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่องในเรื่องสาเหตุที่เป็นไปได้ของโรคดังกล่าวในหลายประเทศ
ผู้คนทั่วไปมักคิดว่าการเคาะ กระดูกหัก หรืออาการบาดเจ็บต่าง ๆ อาจทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ แต่ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานใด ๆ สำหรับเรื่องนี้ว่าสัมพันธ์กัน
โปรดจำไว้ว่าสิ่งที่คุณได้ทำไม่ได้ก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระดูก
อาการแสดงและอาการของโรคมะเร็งกระดูก
อาการของโรคมะเร็งกระดูกแตกต่างกันไปได้ค่อนข้างมาก และคนที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกอาจมีอาการหรือสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่อาการนั้นคล้ายกับอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บปวดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงทำให้สามารถเข้าใจผิดสับสนว่ามาจากสาเหตุอื่น เช่น การปวดเมื่อย การบาดเจ็บจากกีฬา หรือความเจ็บปวดระหว่างการเจริญเติบโตของร่างกาย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่:
- อาการปวดหรือตึง ซึ่งอาจเริ่มต้นเป็นอาการเจ็บปวดที่ไม่ทุเลา และอาการปวดดังกล่าวอาจแย่ลงระหว่างการออกแรง หรือออกกำลังกาย หรือแย่ลงในเวลากลางคืน หากเกิดอาการปวดในกระดูกระหว่างช่วงกลางคืนซึ่งไม่ทุเลา คุณควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ประจำตัวโดยละเอียด
- อาการบวมรอบ ๆ พื้นที่ที่เกิดโรคขึ้น อาการบวมอาจไม่ปรากฏขึ้นจนกว่าเนื้องอกจะมีขนาดใหญ่พอสมควร บางครั้งอาจไม่สามารถมองเห็นได้ชัดหรือรู้สึกคลำเป็นก้อนได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะกรณีที่กระดูกซึ่งได้รับผลกระทบเป็นกระดูกชิ้นที่อยู่ลึกเข้าไปในร่างกาย
- เคลื่อนไหวได้จำกัด หากเนื้องอกกระดูกอยู่ใกล้กับข้อต่อ เช่น ข้อศอก หรือข้อเข่า อาจทำให้ยากต่อการขยับข้อต่อ หากเนื้องอกกระดูกอยู่ในกระดูกขาก็อาจทำให้เกิดเดินขากระเผลก หรือขาเป๋ ถ้าเนื้องอกเกิดในกระดูกสันหลัง ก็อาจไปกดทับประสาทและทำให้รู้สึกเหน็บและชาตามขาหรือแขนได้
- กระดูกหัก กระดูกอาจหักออกจากกันอย่างฉับพลัน หรือภายหลังจากเกิดการล้มหรืออุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โอกาสที่กระดูกจะหักจะมากขึ้นหากกระดูกอ่อนแอลงจากโรคมะเร็งที่อยู่ภายใน
อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่:
- ความเมื่อยล้า
- อุณหภูมิสูงหรือเป็นไข้
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
หากคุณเกิดอาการเหล่านี้ หรือคุณกังวลว่าคุณอาจมีเนื้องอกในกระดูกคุณ คุณควรเข้าตรวจร่างกายโดยแพทย์ประจำตัวของคุณหรือแพทย์เฉพาะทางอย่างเร่งด่วน พวกเขาสามารถอธิบายคุณเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นและทำการตรวจด้วยเครื่องมือต่าง ๆ หากรู้สึกว่าจำเป็น
โปรดจำไว้ว่า อาการทั้งหมดที่กล่าวมามักไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากมะเร็งกระดูกเสมอไป
กระดูก
การรู้จักหน้าที่กระดูกของคุณว่ามีความสำคัญอย่างไรจะช่วยให้คุณเข้าใจว่ามะเร็งกระดูกจะเกิดอาการอย่างไรขึ้น
กระดูกเป็นเหมือนโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ ช่วยให้เราสามารถมีโครงสร้างแข็งแรงและสามารถยืนตรงได้ โครงสร้างกระดูกของมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกรูปร่างแตกต่างกันมากกว่า 200 ชนิด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
กระดูกทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่สำคัญมากมาย เช่น:
- ทำงานร่วมกับข้อต่อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกายเพื่อให้เราสามารถขยับตัว หรือทำงานได้
- ปกป้องอวัยวะภายในของร่างกายจากการบาดเจ็บ เช่น กระดูกซี่โครงทำหน้าที่ปกป้องหัวใจและปอดซึ่งอยู่ภายใน
- เป็นแหล่งเก็บแคลเซียม
- บางกระดูกมีไขกระดูกอยู่ภายในซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือด
ข้อต่อคืออะไร
ข้อต่อเป็นอวัยวะหนึ่งที่ช่วยให้กระดูกยึดต่อได้พอดีกัน เพื่อให้เราสามารถเคลื่อนไหวหรือขยับร่างกายได้อย่างอิสระ ข้อต่อในร่างกายมีหลายชนิด บางชนิดมีลักษณะเป็นข้อต่อแบบบานพับ เช่น ข้อต่อที่นิ้วมือ ข้อต่อรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ ข้อต่อแบบเบ้า (ball-and-socket) เช่น ข้อต่อบริเวณสะโพก ซึ่งบริเวณเหล่านี้จะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแตกต่างกันหลายชนิดมาช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกด้วย ได้แก่:
- เอ็นเชื่อมกระดูก (ligaments) เป็นมัดเส้นใยเหนียวแข็งที่เชื่อมกระดูกแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน
- กระดูกอ่อน (cartilage) เป็นเนื้อเยื่อลื่นและชุ่มน้ำซึ่งปกคลุมอยู่ที่ปลายกระดูกเพื่อไม่ให้พวกเขาเสียดสีกันขณะเคลื่อนไหว
- กล้ามเนื้อ (muscles) ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อแข็งและสามารถยืดได้ กล้ามเนื้อทำให้ร่างกายของเรามีความแข็งแรง
- เอ็นเชื่อมกล้ามเนื้อ (tendons) เป็นมัดเส้นใยที่แข็งแรงทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก
การตรวจโรคมะเร็งกระดูก
มีการตรวจบางอย่างที่จำเป็นต้องทำเมื่อเข้าพบแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล การตรวจดังกล่าวจะช่วยประกอบการพิจารณาของแพทย์ว่าคุณเข้าข่ายเป็นโรคมะเร็งกระดูกหรือไม่
การเข้าพบแพทย์
ถ้าคุณคิดว่าคุณเกิดอาการของโรคมะเร็งกระดูก คุณควรเข้าพบแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
แพทย์จะเริ่มด้วยการซักถามคุณเกี่ยวกับอาการของคุณ ตรวจร่างกายคุณ และมักจะส่งตรวจเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น การส่งถ่ายเอกซเรย์ และการตรวจเลือด อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นสามารถมาได้จากหลายสาเหตุอย่างมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นการยากที่จะวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดในทันทีทันใด หากแพทย์ประจำตัวของคุณไม่สามารถหาสาเหตุได้ คุณอาจได้รับการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลที่ใหญ่ยิ่งขึ้น
การส่งต่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แผนกที่คุณจะถูกส่งตัวต่อไปนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการตรวจเบื้องต้นที่ได้รับ คุณอาจถูกส่งตัวพบแพทย์เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคมะเร็งกระดูกโดยตรง หรือคุณอาจเข้าพบอายุรแพทย์ หรือแพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่าก่อนก็เป็นได้
โดยทั่วไปจะได้รับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้:
- การถ่ายภาพเอกซเรย์
- การส่งสแกนกระดูก (Bone scan)
- การตรวจชิ้นเนื้อ
- การถ่ายภาพรังสีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)
- การถ่ายภาพรังสีด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกระดูก คุณจะได้รับการส่งตัวเข้ารับการรักษาโดยทีมสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญต่อไป
การตรวจเพิ่มเติม
หากผลจากการตรวจและทดสอบแสดงว่าคุณเป็นโรคมะเร็งกระดูก คุณอาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติมอื่น เพื่อตรวจสอบว่าร่างกายของคุณยังสุขภาพดีเพียงใด ได้แก่:
- การตรวจเลือด
- การตรวจสมรรถนะหัวใจว่าแข็งแรงเพียงใด
- การเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อตรวจดูปอด
- การทดสอบเพื่อตรวจการทำงานของไต คุณอาจต้องเก็บตัวอย่างของปัสสาวะเพื่อที่จะนำมาตรวจ
การตรวจทั้งหมดเหล่านี้อาจดูยุ่งยากและวุ่นวายเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผลของการตรวจดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
ระหว่างการตรวจและการรอคอยผลการตรวจอาจเป็นช่วงเวลาที่น่าวิตกกังวล และท้อแท้ คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณ และขอความดูแลสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ของคุณก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
การรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ทางเลือกการรักษาหลักสำหรับการรักษาโรคมะเร็งกระดูกมีสามวิธี ได้แก่ เคมีบำบัด การผ่าตัด และการฉายรังสีรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาหลายอย่างร่วมกัน
แพทย์ของคุณจะวางแผนการรักษาของคุณตามปัจจัยต่อไปนี้:
- ชนิดของโรคมะเร็งกระดูกที่คุณเป็น
- ตำแหน่งของมะเร็ง
- ระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งหมายความว่าได้มีการแพร่กระจายออกไปนอกกระดูกมากน้อยเพียงใด
- มะเร็งเติบโตเร็วแค่ไหน
หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับการรักษาของคุณ ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณ พวกเขายินดีที่จะตอบและอธิบายให้คุณเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ
คุณอาจได้รับโอกาสในการเข้าร่วมการวิจัยทางคลินิก การทดลองเหล่านี้ช่วยให้แพทย์พัฒนา พิสูจน์ และค้นพบวิธีการรักษาที่ใหม่และดีกว่าสำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งกระดูก หากแพทย์คิดว่าคุณเหมาะสมสำหรับการเข้าร่วมงานทดลองทางคลินิกพวกเขาจะแจ้งและอธิบายเรื่องนี้กับคุณ
บางครั้งเราใช้คำว่า 'เนื้องอกกระดูก' คำนี้มีความหมายเช่นเดียวกับโรคมะเร็งกระดูก
เคมีบำบัด
เคมีบำบัดหรือมักเรียกกันติดปากว่า “คีโม” เป็นกระบวนการใช้ยาต้านมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นการรักษาหลักที่สำคัญสำหรับเนื้องอกในกระดูก ยาดังกล่าวจะช่วยลดขนาดของเนื้องอกก่อนผ่าตัดหรือการใช้รังสีรักษา และสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายออกไปนอกกระดูกได้ หลังจากการผ่าตัดหรือการฉายรังสีแล้วคุณมักจะได้รับเคมีบำบัดเพิ่มเติมอีกครั้ง
เคมีบำบัดสำหรับมะเร็งกระดูกปกติจะได้รับเข้าสู่หลอดเลือดดำโดยอาจทำการฉีดโดยตรง หรือหยดผ่านท่อน้ำเกลือเข้าสู่เส้นเลือดดำ
คุณจะได้รับเคมีบำบัดติดต่อกันในช่วงสองสามวัน แล้วจากนั้นคุณจะมีเวลาพักเพื่อให้ร่างกายมีโอกาสฟื้นตัวจากผลข้างเคียงของการรักษา วันที่คุณได้เคมีบำบัดและวันที่ได้พักหลังจากนั้นจะรวมเรียกว่า รอบของการรักษา คนส่วนใหญ่ได้รับเคมีบำบัดหลายรอบ ซึ่งคุณอาจต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาหนึ่งในระหว่างการทำเคมีบำบัด
ชนิดของยาเคมีบำบัดที่คุณจะได้รับขึ้นกับว่าเนื้องอกกระดูกของคุณเป็นชนิดอีวิงซาร์โคมา (Ewing’s sarcoma) หรือออสทีโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
เคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดอีวิงซาร์โคมา
สำหรับโรคมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคมา ยาที่นิยมใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ยา vincristine, ifosfamide, doxorubicin และ etoposide การให้ยาหลายตัวทั้งหมดนี้ร่วมกันจะเรียกว่า “VIDE” ซึ่งมาจากตัวอักษรตัวแรกสุดของยารวมกัน โดยปกติคุณจะได้รับเคมีบำบัดแบบ VIDE หกรอบ
หลังจากได้รับเคมีบำบัดแล้ว คุณอาจสามารถเข้ารับการผ่าตัด หรือถ้าก้อนเนื้องอกไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการผ่าตัดได้ คุณจะได้รับรังสีรักษาต่อจากนั้น บางคนได้รับทั้งการผ่าตัดและรังสีรักษา ทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ทำการดูแลคุณจะร่วมตัดสินใจเลือกแผนการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
หากคุณได้รับการผ่าตัด คุณจะได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมในภายหลังเพื่อช่วยในการป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งคงค้างกลับมาเป็นซ้ำ หรือป้องกันไม่ให้เซลล์ดังกล่าวแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
เคมีบำบัดสำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมา
มะเร็งกระดูกชนิดออสทีโอซาร์โคมามักได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสามชนิดที่มีชื่อว่า ยา Methotrexate, Doxorubicin (Adriamycin) และ Cisplatin การให้ยาสามตัวเหล่านี้ร่วมกันเรียกว่าเคมีบำบัดสูตร “MAP”
คุณมักจะได้รับเคมีบำบัดทั้งหมดหกรอบ แต่ละรอบใช้เวลาประมาณห้าสัปดาห์ หลังจากเคมีบำบัดสองรอบแรกคุณจะได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนมะเร็งออก
หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังตำแหน่งอื่นแล้ว คุณอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพิ่มเติมอีก ตัวอย่างเช่น หากออสทีโอซาร์โคมาได้แพร่กระจายเกินขอบเขตของก้อนมะเร็งเดิม เซลล์มะเร็งดังกล่าวมักจะแพร่กระจายไปยังปอด และหากเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังปอดแล้ว คุณอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อกำจัดมะเร็งออกจากปอดของคุณ หากคุณเป็นโรคมะเร็งกระดูกที่แพร่กระจาย แพทย์ประจำตัวของคุณจะแจ้งและอธิบายกับคุณเกี่ยวกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป
หลังจากได้รับการผ่าตัด คุณจะได้รับคีโมหรือเคมีบำบัดสูตร MAP อีก 4 รอบ หรือคุณอาจได้รับการรักษาด้วยยาตัวใหม่ที่เรียกว่า Mifamurtide ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของคุณฆ่าเซลล์เนื้องอกได้ดีขึ้น แพทย์ของคุณจะแจ้งคุณว่าทางเลือกในการรักษาต่อไปเป็นอย่างไร
ผลข้างเคียงของเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดที่แตกต่างกันก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน บางคนเกิดผลข้างเคียงน้อยและบางคนอาจเกิดผลข้างเคียงได้รุนแรงกว่า ยากที่จะทำนายว่าอาการคุณจะเป็นอย่างไร ผลข้างเคียงส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและค่อย ๆ หายไปเมื่อการรักษาหยุดลง
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ เจ็บปาก ผมร่วง เมื่อยล้าอ่อนแรง คลื่นไส้ และก่อให้เกิดโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันได้รับผลกระทบ
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของยา mifamurtide คือ เป็นไข้หรือรู้สึกหนาวสั่นเป็นเวลาสองถึงสามชั่วโมงหลังจากที่ได้รับยาดังกล่าว
การผ่าตัด
การผ่าตัดที่คุณจะได้รับนั้นกับชนิดของมะเร็งกระดูกที่คุณเป็นและตำแหน่งของมันที่อยู่ในร่างกาย
ศัลยแพทย์ของคุณจะพยายามกำจัดเซลล์มะเร็งทั้งหมดออกไปให้ได้มากที่สุด ในขณะที่พยายามรักษาส่วนแขนขาให้คงเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การผ่าตัดเก็บส่วนแขนขาไว้ (Limb-sparing surgery)
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกเข้ารับการผ่าตัดที่เรียกว่า การผ่าตัดเก็บแขนขา ซึ่งหมายความว่าศัลยแพทย์สามารถกำจัดก้อนมะเร็งออกได้โดยไม่ต้องตัดแขนหรือขาออก นั่นหมายถึงว่าก้อนเนื้องอกทั้งหมดจะถูกกำจัดออกไปจากส่วนแขนขาของคุณ รวมถึงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบไปด้วย
โดยมากมักจะสามารถกำจัดเฉพาะส่วนกระดูกได้รับผลกระทบออก และแทนที่ด้วยชิ้นส่วนโลหะที่สร้างขึ้นให้พอดีกับส่วนดังกล่าว (Endoprosthesis) หรือปลูกถ่ายกระดูกมาจากส่วนอื่นของร่างกาย (Bone graft) หากมะเร็งเกิดขึ้นในกระดูกที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อ หรือใกล้กับข้อต่อ ข้อต่อดังกล่าวสามารถถูกสร้างขึ้นใหม่ทดแทนด้วยข้อต่อเทียม ในบางกรณี ศัลยแพทย์สามารถกำจัดกระดูกที่ได้รับผลกระทบออกไปได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เทียมทดแทน และอาจไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวในอนาคต
ก่อนการผ่าตัด
หากคุณเคยเข้ารับเคมีบำบัด คุณจะต้องใช้เวลา 2 หรือ 3 สัปดาห์ในการพักฟื้นก่อนที่คุณจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ แพทย์จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณนั้นร่างกายแข็งแรงเพียงพอที่จะเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าว หากคุณสูญเสียน้ำหนักหรือเคยอดอาหารมาก่อน คุณอาจต้องเริ่มทานอาหารให้มากขึ้น เสริมสร้างร่างกายและเพิ่มน้ำหนักตัวก่อนการผ่าตัด ในส่วนดังกล่าว นักโภชนาการของโรงพยาบาลสามารถช่วยและให้คำแนะนำแก่คุณได้ คุณอาจได้รับการส่งต่อให้กับนักกายภาพบำบัดด้วยเพื่อสอนการออกกำลังกายที่เพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อของคุณ
คุณอาจต้องการเห็นส่วนกระดูกเทียม หรือข้อต่อเทียมที่จะถูกใช้ระหว่างการผ่าตัดของคุณ หากคุณต้องการเห็นอุปกรณ์ดังกล่าว ให้แจ้งศัลยแพทย์หรือผู้ประสานงานหลักของทีมดูแลคุณเพื่อให้จัดการเรื่องดังกล่าวให้
ภายหลังการผ่าตัด
คุณจะมีผ้าพันแผลหรือเฝือกที่แขนขาของคุณเพื่อช่วยประคองบริเวณที่ทำการผ่าตัดไปและทำให้สามารถหายได้ดียิ่งขึ้น
คุณอาจจะมีท่อเรียกว่าท่อระบาย (Drain) ต่อออกมาจากบริเวณแผลของคุณ อุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยระบายของเหลวต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในแผลของคุณและไม่ให้ขังหรือตัดเชื้อซ้ำ พยาบาลจะนำท่อระบายดังกล่าวออกหลังจากผ่านไป 3-4 วัน
คุณอาจไม่รู้สึกอยากทานอาหารหรือดื่มอะไรประมาณสองสามชั่วโมงหลังจากการผ่าตัดของคุณ ดังนั้นคุณจะได้รับสารอาหารเหลวเข้าหลอดเลือดดำ หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่าให้น้ำเกลือ
คุณอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยในช่วยแรง แต่คุณจะได้รับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ค่อนข้างแรงเพื่อช่วยบรรเทาอาการ สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งพยาบาลหากคุณต้องการการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม อาการปวดมักเริ่มดีขึ้นภายใน 2 หรือ 3 วัน เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะได้รับยาแก้ปวดน้อยลงเรื่อย ๆ และจะเริ่มรู้สึกสบายมากขึ้น
เมื่อคุณกลับถึงบ้าน คุณควรค่อย ๆ อาการดีขึ้นและแข็งแรงขึ้นตามลำดับ แต่หากคุณมีปัญหาใด ๆ คุณควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลของคุณทราบทันทีเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
หลังจากการผ่าตัดแล้วคุณจะต้องทำกายภาพบำบัดหลายอย่างเพื่อช่วยให้ร่างกายคุณได้รับการฟื้นฟูอย่างดีที่สุด ขั้นตอนนี้อาจรู้สึกว่าเป็นงานหนักและเป็นภาระ แต่เป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกายของคุณจริง ๆ นักกายภาพบำบัดของคุณจะช่วยสอนและอธิบายคุณว่าควรออกกำลังกายอะไร ทำอย่างไรและช่วยกระตุ้นให้คุณออกกำลังดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
หากคุณสังเกตว่ามีความเจ็บปวดหรือเกิดอาการบวมแดงเกิดขึ้นใหม่ที่บริเวณแขนหรือขาที่ได้รับการผ่าตัด สิ่งสำคัญคือต้องติดต่อกับแพทย์ของคุณโดยเร่งด่วนในทันที เนื่องจากคุณอาจมีการติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษา ดังนั้นคุณควรต้องไปพบศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคุณโดยไม่รีรอ
การผ่าตัดตัดแขนขา (Amputation)
ในบางกรณี วิธีเดียวที่จะกำจัดมะเร็งกระดูกที่เกิดในแขนหรือขาให้ได้หมดเกลี้ยง คือการตัดเอาแขนหรือขาออก การผ่าตัดนี้เรียกว่าการผ่าตัดตัดแขนขา (Amputation) และจะทำก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว การผ่าตัดนี้มักจะจำเป็นถ้ามะเร็งได้แพร่กระจายออกจากกระดูกและมีการเติบโตไปรอบ ๆ หลอดเลือดใกล้เคียง อวัยวะเหล่านี้จำเป็นต้องถูกกำจัดออกไปพร้อมกับก้อนมะเร็ง
บางคนเลือกที่จะมีการผ่าตัดตัดแขนขามากกว่าการผ่าตัดเก็บแขนขาไว้ และคุณควรมีโอกาสในการพูดคุยถึงข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดทั้งสองแบบกับทีมแพทย์และบุคลากรผู้ทำการรักษาของคุณ
การผ่าตัดตัดแขนขาอาจต้องทำถ้ามีการติดเชื้อในกระดูกที่ไม่หายไปด้วยการรักษาอื่น หรือถ้ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอยู่ในกระดูกชิ้นเดิม ผู้ป่วยแต่ละคนและเนื้องอกแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนั้นคุณอาจพบว่าคนอื่นที่มีเนื้องอกชนิดเดียวกันกับคุณได้รับการผ่าตัดที่แตกต่างกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของคุณจะพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับการผ่าตัดของคุณ และคุณควรค่อย ๆ ทำความเข้าใจและซักถามเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และร่วมตัดสินใจในแผนการรักษา
ก่อนการผ่าตัด
แพทย์ของคุณจะพูดคุยกับคุณเพื่อให้คุณเข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด การสูญเสียแขนขาอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก และการพูดคุยกับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณอาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังอาจลองพูดคุยกับคนที่เคยรับการผ่าตัดตัดแขนขาไปก่อนหน้านี้ถึงวิธีรับมือและการดูแลตนเองหลังจากนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณควรจะได้รับการสนับสนุนดูแลในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
ภายหลังการผ่าตัด
คุณจะมีผ้าพันแผลหรือเฝือกในบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด จะมีท่อเรียกว่าท่อระบายต่อออกมาจากบริเวณแผล อุปกรณ์นี้จะช่วยให้ของเหลวไม่ถูกกักไว้ และพยาบาลมักจะนำท่อระบายดังกล่าวออกภายหลัง 3 ถึง 4 วัน นอกจากนี้ คุณยังได้รับสารอาหารทางท่อน้ำเกลือเข้าสู่หลอดเลือดดำในแขนของคุณจนกว่าคุณจะรู้สึกอยากทานอาหารและดื่มอีกครั้ง
คุณอาจรู้สึกเจ็บสักเล็กน้อยหลังจากการผ่าตัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ถึง 4 วันแรก แต่คุณจะได้รับยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงเพื่อช่วยในเรื่องดังกล่าว สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งพยาบาลหากคุณต้องการยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะได้รับยาแก้ปวดน้อยลงและจะเริ่มรู้สึกสบายมากขึ้น คุณอาจเกิดอาการปวดที่เหมือนกับมาจากส่วนของแขนที่ถูกตัดออกไป อาการปวดนี้เรียกว่า อาการปวดหลอน (phantom pain) ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบว่าคุณมีปัญหาดังกล่าว มียาหลายตัวที่สามารถช่วยให้คุณผ่อนคลายหรือกำจัดอาการปวดดังกล่าวออกไป และส่วนใหญ่อาการก็จะดีขึ้นเองและค่อย ๆ หายไปเมื่อเวลาผ่านไป
คุณจะถูกนัดให้พบกับนักกายภาพบำบัดในช่วงเวลาหนึ่งภายหลังจากการผ่าตัด พวกเขาจะอธิบายและสอนการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและยืดหยุ่นดังเดิม
หากคุณถูกตัดแขนออกไป คุณจะสามารถลุกขึ้นและเดินไปรอบ ๆ ได้เช่นเดิมเมื่อคุณฟื้นตัวจากยาสลบและไม่รู้สึกเจ็บมากเกินไป หากคุณได้รับการตัดขา นักกายภาพบำบัดจะสอนวิธีเคลื่อนตัวไปรอบ ๆ เตียงและการลุกออกจากเตียงไปยังเก้าอี้ คุณอาจจะเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ด้วยไม้ค้ำยันหรือนั่งรถเข็นได้ภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น
เมื่อคุณอาการดีขึ้นแล้ว คุณจำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาลสม่ำเสมอเพื่อทำกายภาพบำบัด ขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญในการฟื้นตัวของคุณ นักกายภาพบำบัดของคุณจะสอนการออกกำลังกายหลายอย่างเพื่อให้บาดแผลของคุณหายดีอย่างที่ควร และคุณมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น
อาจใช้เวลาสองถึงสามเดือนเพื่อให้แขนขาของคุณหายสนิทหลังจากการผ่าตัด ดังนั้นคุณจะไม่สามารถติดตั้งขาเทียมถาวรได้จนกว่าจะเกิดการหายอย่างเต็มที่เช่นนี้ขึ้น ในระหว่างนี้ คุณจะได้ใช้อวัยวะเทียมชั่วคราวและเรียนรู้วิธีใช้ในขั้นตอนกายภาพบำบัด
คุณควรสามารถกลับบ้านได้ภายในสองสัปดาห์หลังจากการผ่าตัด
การฉายรังสีรักษา
รังสีรักษาคือการใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
การรักษาด้วยรังสีรักษา ส่วนใหญ่ใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งกระดุกชนิดอีวิงซาร์โคมา คุณอาจได้รับรังสีรักษาหลังจากได้รับเคมีบำบัดหรือก่อนการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดก็เป็นได้
ถ้าคุณเป็นโรคมะเร็งชนิดออสทีโอซาร์โคมา คุณอาจไม่ได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษาเป็นการรักษาหลัก แต่คุณอาจได้รับมันในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกไปได้ ในบางครั้ง ผู้ป่วยโรคออสทีโอซาร์โคมาได้รับการฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจคงค้างอยู่
โดยปกติแล้ว การฉายรังสีจะทำในทุกวันธรรมดา คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เป็นเวลา 5 สัปดาห์ และการรักษาในแต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
ผลข้างเคียงของการฉายรังสีรักษา
การฉายรังสีรักษานั้นไม่เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้มากมาย หลังจากการรักษาไม่กี่ครั้ง คุณอาจเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงและผิวของคุณอาจจะแดงหรือคล้ำและรู้สึกเจ็บหรือคันรอบบริเวณที่ได้รับการรักษา อาการดังกล่าวนี้จะดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง
ผลข้างเคียงอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับคุณกำลังได้รับการฉายรังสีรักษาไปยังอวัยวะใด การได้รับรังสีรักษาในบริเวณรอบข้อต่อสามารถทำให้รู้สึกว่าข้อต่อแข็ง ขยับได้ยาก แต่นักกายภาพบำบัดสามารถช่วยปัญหาดังกล่าวได้ ให้แจ้งแพทย์หรือทีมผู้ดูแลของคุณหากเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวขึ้น
การใช้ชีวิตหลังการรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ภายหลังการผ่าตัดเก็บแขนขาไว้
ผลกระทบในระยะยาวของการผ่าตัดเก็บแขนขาไว้นั้นขึ้นอยู่กับส่วนใดของร่างกายของคุณที่ได้รับผลกระทบ และคุณได้รับการผ่าตัดแบบใดและกว้างเพียงใด ผู้ที่จะสามารถตอบเรื่องดังกล่าวนี้ได้ดีที่สุด คือ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดของคุณ
หลังจากผ่าตัดเก็บแขนขาแล้ว แขนหรือขาอาจไม่ทำงานได้ดีเท่าที่เคยชิน กายภาพบำบัดเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นตัวของคุณ คุณจะได้รับการออกกำลังกายเพื่อช่วยให้แขนของคุณทำงานได้ดีที่สุด การออกกำลังกายและกายภาพบำบัดเหล่านี้อาจเป็นเรื่องยากและเป็นงานหนัก แต่สิ่งสำคัญคือต้องฮึดสู้และเพียรพยายามเพื่อให้ร่างกายของคุณฟื้นตัวได้ดีที่สุด
"หลังจากการผ่าตัด ทีมแพทย์ของฉันกระตือรือร้นให้ฉันเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับแขนขา ซึ่งรวมถึงการดัด การยืดกล้ามเนื้อ และการเสริมสร้างความแข็งแรง การออกกำลังเป็นเรื่องยากขณะที่ฉันกำลังได้รับการรักษาอื่น ๆ ไปด้วย แต่เมื่อฉันมองย้อนกลับไปตอนนี้ฉันตระหนักดีว่ามันสำคัญมากแค่ไหน การทำกายภาพบำบัดหลาย ๆ อย่างยังช่วยฉันในตอนนี้แม้จะผ่านมามากกว่าเจ็ดปี " คำกล่าวจากเคธี่ผู้ซึ่งเคยผ่าตัดเก็บแขนขา
การดูแลอวัยวะข้อเข่าเทียม
หากคุณเคยทำการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คุณสามารถเดินและว่ายน้ำได้ แต่แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณงดเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง เช่น ฮอกกี้ ฟุตบอล เทนนิส หรือรักบี้ กิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อต่อเทียมหรือทำให้มันหลวมได้ง่าย
โดยปกติการวิ่งระยะทางสั้น ๆ ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ปลูกถ่ายข้อเข่าเทียม แต่การวิ่งระยะยาวหรือการวิ่งจ๊อกกิ้งอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดข้อต่อเกิดการสึกได้ง่าย ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมดังกล่าว หากข้อเข่าเทียมของคุณสึกลงหรือหลวม คุณอาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนมันใหม่หลังจากใช้ไปเพียงไม่กี่ปี
การดูแลอวัยวะข้อสะโพกเทียม
หลังจากเปลี่ยนข้อสะโพกแล้ว คุณควรสามารถทำกิจกรรมส่วนใหญ่ได้ตามปกติ แต่อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการวิ่งและกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง
การดูแลอวัยวะไหล่เทียม
หากคุณเคยได้รับการผ่าตัดเพื่อติดตั้งไหล่เทียม คุณจะสามารถขยับแขนไปได้ทั่วในบริเวณต่ำกว่าไหล่ได้เหมือนเดิม แต่คุณอาจไม่สามารถยกแขนขึ้นเหนือไหล่ของคุณได้
การปลูกถ่ายกระดูก
หากคุณได้รับการปลูกถ่ายกระดูกลงในแขนขาของคุณในขณะที่คุณยังมีการเจริญเติบโตหลงเหลืออยู่ คุณอาจจำเป็นต้องยืดกระดุกขาหรือแขนของคุณเมื่อเติบโตขึ้น อวัยวะเทียมบางชนิดสามารถยืดออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่หลาย ๆ ประเภทคุณจะต้องได้รับการผ่าตัดเพิ่มเติม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือทีมผู้ดูแลของคุณสามารถบอกคุณได้ว่าคุณได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเทียมชนิดใด
การใช้ชีวิตหลังการผ่าตัดตัดแขนขา
หลังจากตัดแขนหรือขาคุณ คุณมักจะได้รับการติดตั้งขาเทียมหรือแขนเทียม แขนหรือขาเทียมบางชนิดออกแบบมาเพื่อให้คุณสามารถออกกำลังกายได้ทุกประเภท ทั้ง การเดินเล่น การว่ายน้ำ การวิ่ง การขี่จักรยานและเล่นกีฬาอื่น ๆ
ประเภทต่าง ๆ ของอวัยวะเทียมช่วยให้คุณสามารถทำสิ่งต่างๆได้แตกต่างกัน บางคนอวัยวะเทียมหนึ่งชิ้นสำหรับการสวมใส่ตลอดวัน และมีอวัยวะเทียมพิเศษอีกหนึ่งชิ้นที่ออกแบบมาสำหรับกิจกรรมที่ต้องการ เช่น การว่ายน้ำหรือการวิ่ง
ความรู้สึกหลังจากนั้นเป็นอย่างไร
เรื่องต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าที่เคยในขณะที่คุณค่อย ๆ ชินกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีความช่วยเหลือและการสนับสนุนในช่วงดังกล่าวมากมาย คุณอาจเกิดอารมณ์ที่แตกต่างกันมากมาย คุณอาจจะรู้สึกอยากร้องไห้ โกรธ เบื่อหน่าย หรือเสียใจตลอดเวลา คุณอาจรู้สึกว่าคุณสูญเสียความมั่นใจทั้งหมดและรู้สึกว่าจะไม่มีวันใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือไม่สามารถมีความสัมพันธ์ใด ๆ ได้อีก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้รับการดูแลสนับสนุนเพื่อช่วยให้คุณรับมือกับช่วงดังกล่าว คุณสามารถพูดคุยกับ:
- พยาบาลผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ดูแลหลักของคุณ
- ครอบครัวหรือเพื่อน
- ที่ปรึกษาซึ่งสามารถจัดโดยพยาบาลของคุณ
- คนหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันเช่นผ่านชุมชนออนไลน์ หรือกลุ่มสนับสนุน
ปฏิกิริยาของคนอื่นต่อเรื่องดังกล่าวก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะรับมือด้วยเช่นกัน คุณอาจกังวลกับสิ่งที่เพื่อนของคุณคิด หรือกังวลว่าพวกเขาจะปฏิบัติกับคุณอย่างไร ความคิดที่จะกลับเข้าไปในโรงเรียน วิทยาลัย หรือที่ทำงานอีกครั้ง อาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว แม้กระทั่งคนในครอบครัวของคุณที่คุณใกล้ชิด อาจไม่ทราบว่าพวกเขาจะพูดหรือทำอะไรหรือไม่ คนอื่นอาจพูดคำพูดหลายอย่างที่ฟังดูโง่หรือทำร้ายจิตใจของคุณได้
คิดถึงและพูดคุยกับญาติสนิทหรือเพื่อนสนิทไม่กี่คนที่คุณสามารถพูดคุยถึงสิ่งต่าง ๆ ทำให้คุณรู้สึกแย่และท้อแท้ คุณอาจพบว่าการพูดคุยกับคนที่ไม่ใกล้ตัวมาก่อน เช่น พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาของคุณนั้นก็เป็นประโยชน์เช่นกัน คนส่วนใหญ่พบว่า การพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาหรือสิ่งที่อยู่ในใจของพวกเขาอย่างเปิดอกและจริงใจนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์
การติดตามผล
เมื่อคุณทำการรักษาเสร็จสิ้น แพทย์ของคุณจะแจ้งและอธิบายคุณเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้ พวกเขาจะอธิบายความเสี่ยงในระยะยาวจากโรคมะเร็งกระดูกว่าอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำมากเพียงใด และผลข้างเคียงจากการรักษาที่อาจเกิดกับคุณ พวกเขาจะทำการนัดหมายคุณอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบอาการต่าง ๆ