การทดสอบเลือดสามารถใช้เพื่อตรวจสอบภาวะของร่างกายได้มากมาย และเป็นวิธีทั่วไปที่นิยมใช้ในทางการแพทย์ที่สุด
การตรวจเลือดสามารถตรวจสอบประเด็นต่อไปนี้ได้:
- ประเมินสุขภาพโดยรวมของร่างกาย
- ตรวจหาการติดเชื้อ
- ตรวจสอบการทำงานของอวัยวะภายในอย่างเช่นตับ ไต
- ตรวจสอบสภาวะทางพันธุกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
การตรวจเลือดส่วนมากจะใช้เวลาไม่กี่นาที ซึ่งสามารถดำเนินการโดยแพทย์ทุกแผนก หรือตั้งแต่แพทย์ทั่วไป จนถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือด
การเตรียมตัวก่อนรับการตรวจเลือด
แพทย์ผู้ดูแลไข้ของคุณจะเป็นผู้ชี้แจงหลักปฏิบัติก่อนเข้ารับการตรวจไปตามกรณี
ยกตัวอย่างเช่น สำหรับการตรวจกรุ๊ปเลือด คุณจะต้อง:
- ไม่รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มใด ๆ นอกจากน้ำเปล่าก่อนหน้า 12 ชั่วโมง
- หยุดการทานยาบางประเภท
โดยต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แพทย์ชี้แจงก่อน หากฝ่าฝืนจะทำให้ผลการตรวจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานที่ล่าช้าออกไปหรือต้องยกเลิกการเจาะเลือดไป
เกิดอะไรขึ้นระหว่างการเจาะเลือด?
การตรวจเลือดมักจะเกี่ยวข้องกับการนำตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดที่แขนของผู้เข้ารับการตรวจ โดยตัวอย่างเลือดที่ใช้มักจะเจาะจากบริเวณที่หลอดเลือดอยู่ใกล้กับชั้นผิวหนังที่สุดอย่างข้อศอกหรือข้อมือ
สำหรับการเก็บตัวอย่างเลือดจากเด็กมักจะทำกันที่หลังมือ โดยอาจมีการฉีดสเปรย์ยาชาหรือครีมชนิดพิเศษก่อนการเจาะจะมีการมัดต้นแขนผู้เข้ารับการตรวจก่อน ซึ่งทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงส่วนแขนได้ช้าลงจนทำให้หลอดเลือดป่องออก และทำให้ง่ายต่อการเจาะเลือด ก่อนการเจาะเข็มลงผิวหนัง แพทย์หรือพยาบาลจะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะทำการเจาะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
การเจาะตัวอย่างเลือดจะใช้เข็มฉีดยาหรือหลอดชนิดพิเศษในการดูดเลือดออกมา โดยคุณจะรู้สึกว่าถูกตำหรือมีอาการคัน ณ จุดที่ถูกเข็มแทง ซึ่งไม่รู้สึกเจ็บปวดรุนแรง หากคุณเลือดไม่ชอบเลือดหรือกลัวเข็มฉีดยา ต้องแจ้งแพทย์หรือผู้ที่ทำหน้าที่เจาะเลือดเพื่อให้พวกเขาหาแนวทางทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
เมื่อมีการดูดตัวอย่างเลือดเป็นที่เรียบร้อย เข็มฉีดยาจะถูกดึงออกและแพทย์จะทำการกดปากแผลด้วยสำลีสะอาด อาจมีการติดพลาสเตอร์ติดปากแผลไว้เพื่อป้องกันเชื้อโรค
หลังจากการตรวจ
เลือดที่ถูกดูดไปตรวจมีปริมาณน้อยมาก ๆ ดังนั้นผู้ถูกเจาะจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ
สำหรับบางคนอาจมีอาการวิงเวียนหรือสลบได้ในช่วงระหว่างหรือหลังจากการตรวจ ซึ่งหากคุณเคยมีอาการเหล่านี้มาก่อนในอดีต ต้องแจ้งผู้เจาะเลือดก่อนการเจาะเลือดเพื่อให้พวกเขาเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้หาแนวทางทำให้คุณเกิดความรู้สึกสบายใจขึ้น
หลังจากการทดสอบ บริเวณที่โดนเข็มแทงอาจมีการฟกช้ำขึ้นมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดซึ่งไม่เป็นอันตรายและมักจะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วัน
ผลการตรวจเลือด
เลือดที่ถูกเจาะออกมาจะถูกเก็บในขวดพร้อมฉลากที่ระบุชื่อและข้อมูลของคุณ (ผู้รับการตรวจ) และจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการณ์เพื่อทำการตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือทดสอบทางเคมี ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ
ผลลัพธ์จะถูกส่งกลับไปโรงพยาบาลหรือให้กับแพทย์เจ้าของไข้ ซึ่งบางกรณีอาจเป็นวันเดียวกับที่ทำการเจาะเลือดก็ได้ หากไม่ใช่ ก็อาจต้องใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์จนกว่าแพทย์จะได้ผล เมื่อแพทย์ได้ผลการตรวจแล้ว เขาจะเป็นผู้นัดหมายคุณอีกทีเพื่อรับฟังผล
หากคุณมีความรู้สึกกังวลหรือไม่สบายใจที่จะฟังผล คุณอาจพาญาติหรือเพื่อนรู้ใจมาด้วยก็ได้ ซึ่งหลังประกาศผลการตรวจเลือดบางประเภท อย่างการตรวจหา HIV นั้น ทางโรงพยาบาลจะจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาแก่คุณอีกด้วย
ประเภทของการตรวจเลือดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
การเจาะตรวจเลือดสามารถเกิดขึ้นเพื่อหลาย ๆ สาเหตุ อย่างเพื่อการวินิจฉัยโรค ประเมินสุขภาพของอวัยวะบางตัว หรือเพื่อตรวจสอบสภาวะทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น
ซึ่งการตรวจเลือดที่มักเกิดขึ้นทั่วไปมีดังนี้:
- การตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
- การเพาะเชื้อจากโรค
- การเจาะวิเคราะห์เลือด
- การตรวจระดับกลูโคสในเลือด
- การตรวจกรุ๊ปเลือด
- การตรวจมะเร็งเม็ดเลือด
- การตรวจโครโมโซม (คาริปโตไทป์)
- การทดสอบการแข็งตัวของเลือด และสัดส่วนประชากรนานาชาติ (INR)
- การตรวจโปรตีนที่ตอบสนองต่อภาวะเฉียบพลัน (CRP)
- การตรวจหาเกลือแร่ของเลือด
- การตรวจหาอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง
- การตรวจหาความสมบูรณ์ของเลือด (FBC)
- การทดสอบทางพันธุกรรม
- การทดสอบการทำงานของตับ
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
- การตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
คอเลสเตอรอลเป็นสารจำพวกไขมันที่ตับสร้างจากอาหารไขมันสูง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานทั่วไปของร่างกาย การที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นมา อย่างเช่นโรคหัวใจ หรือเส้นเลือดในสมองตีบ เป็นต้น
ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสามารถถูกวัดได้จากการใช้ตัวอย่างเลือด โดยผู้รับการตรวจต้องงดรับประทานอาหารก่อนเข้าเจาะเลือด 12 ชั่วโมง (ทำให้การตรวจส่วนใหญ่แนะนำให้คุณมาเจาะเลือดหลังจากตื่นนอนมาตอนเช้านั่นเอง) เพื่อทำให้อาหารที่ตกค้างในกระเพาะถูกย่อยหมด และเพื่อป้องกันไม่ให้อาหารส่งผลต่อผลการตรวจเลือด ซึ่งการหวงห้ามเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นทุกกรณี
การเพาะเชื้อจากโรค
คือการนำตัวอย่างเลือดปริมาณน้อย ๆ จากหลอดเลือดที่แขน และจากส่วนอื่น ๆ มาผสมกับสารอาหารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งกรรมวิธีนี้ก็เพื่อมองหาร่องรอยของแบคทีเรียในกระแสเลือดของคุณนั่นเอง
การเจาะวิเคราะห์เลือด
จะมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดแดง ซึ่งมักเจาะจากข้อมือซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดภายหลัง และมักดำเนินการที่โรงพยาบาล
การเจาะวิเคราะห์เลือดถูกใช้เพื่อตรวจสอบสมดุลของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด และหาสมดุลของกรดและอัลคาไลในเลือด (สมดุลความเป็นกรดเป็นด่าง)
ซึ่งค่า pH ที่ขาดสมดุลจะทำให้:
- เกิดปัญหากับระบบหายใจ อย่างเช่นโรคปอดบวม หรือโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง
- เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อระบบดูดซึม (ปฏิกิริยาทางเคมีที่ร่างกายใช้เปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงาน) อย่างเช่นโรคเบาหวาน ไตล้มเหลว หรือมีอาการอาเจียนบ่อยครั้ง
การตรวจระดับกลูโคสในเลือด
ในการตรวจวินิจฉัยและสอดส่องภาวะเบาหวานด้วยการตรวจระดับน้ำตาลเลือดนั้นมีการทดสอบมากมายเช่น:
- การเจาะระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร: ซึ่งจะมีการตรวจระดับกลูโคสในเลือดหลังจากอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อยแปดชั่วโมง (ไม่ทานอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่า)
- การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล: ซึ่งจะวัดระดับกลูโคสในเลือดเพื่อหาระดับกลูโคสหลังจากอดอาหาร และเจาะตรวจอีกครั้งหลังจากที่ได้ดื่มเครื่องดื่มกลูโคสแล้ว
- การตรวจ HbA1C: เป็นการทดสอบที่ทำกันตามโรงพยาบาล โดยมีเพื่อตรวจสอบค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านไป
คุณสามารถจัดหาชุดทดสอบระดับกลูโคสในเลือดมาไว้ในบ้านได้ ซึ่งจะมีเข็มตำสำหรับเจาะเลือดให้ในชุด
การตรวจกรุ๊ปเลือด
มักดำเนินการก่อนการบริจาคหรือส่งถ่ายเลือด เพื่อตรวจสอบกรุ๊ปเลือดของคุณ หากคุณได้รับเลือดที่ไม่เข้ากับกรุ๊ปเลือดของคุณ ระบบภูมิคุ้มกันจะโจมตีเซลล์เม็ดเลือดแดงนั้น ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตขึ้นมา
อีกทั้งการตรวจกรุ๊ปเลือดก็เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์เช่นกัน เนื่องจากมีโอกาสเล็กน้อยที่ทารกในครรภ์อาจมีกรุ๊ปเลือดที่ต่างจากมารดา ซึ่งจะส่งผลให้ระบบภูมิต้านทานของแม่เข้าจู่โจมเซลล์เม็ดเลือดแดงของลูกได้
หากมารดาไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเอง ต้องทำการตรวจเช็คกรุ๊ปเลือดอย่างน้อยหนึ่งครั้งระหว่างการตั้งครรภ์เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว ซึ่งหาผลออกมาว่ามีความเสี่ยง จะมีการฉีดยาที่ช่วยยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของแม่ไม่ให้โจมตีเซลล์เม็ดเลือดของลูกในครรภ์
การตรวจมะเร็งเม็ดเลือด
มีการตรวจเลือดหลายประเภทที่ใช้วินิจฉัยมะเร็งได้บางชนิด หรือเพื่อตรวจสอบหาความเสี่ยงที่เป็นการเพิ่มโอกาสก่อมะเร็งในร่างกายของคุณ ดังนี้:
- การตรวจหาแอนติเจนในต่อมลูกหมาก (PSA): จะช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังสามารถตรวจหาภาวะอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน อาทิเช่นภาวะต่อมลูกหมากโต หรือภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นต้น
- การตรวจโปรตีน CA125: โปรตีน CA125 สามารถบ่งชี้ถึงภาวะมะเร็งรังไข่ได้ อีกทั้งยังเป็นสัญญาณของภาวะโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่นการตั้งครรภ์ หรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (PID)
- ยีน BRCA1และ BRCA2: การทดสอบนี้ดำเนินการเพื่อหายีนดังกล่าวในสายครอบครัวของคุณ ซึ่งยีนสองตัวนี้จะทำให้ผู้หญิงคนนั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่สูงมาก
การตรวจโครโมโซม (คาริปโตไทป์)
การทดสอบประเภทนี้มีเพื่อตรวจหาสารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าโครโมโซม ด้วยการนับจำนวนโครโมโซม (แต่ละเซลล์ควรจะมีโครโมโซม 23 คู่) และตรวจสอบรูปร่างของโครโมโซม จะทำให้สามารถตรวจหาความผิดปรกติทางพันธุกรรมได้
การทดสอบโครโมโซมสามารถใช้เพื่อ:
- เพื่อช่วยวินิจฉัยความผิดปรกติของพัฒนาการทางเพศ (DSDs) อย่างเช่นกลุ่มอาการต่อต้านเอนโดรเจน
- อีกทั้งปัญหาที่โครโมโซมยังส่งผลต่อการแท้งบุตรบ่อยอีกด้วย
การทดสอบการแข็งตัวของเลือด
การทดสอบการแข็งตัวของเลือดดำเนินการเพื่อหาว่าเลือดของคุณเกิดลิ่มขึ้นในรูปแบบที่เป็นปกติหรือไม่ หากเลือดของคุณใช้เวลานานในการเกาะตัวกันนานกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณของความผิดปรกติของเลือดอย่างโรคฮีโมฟิเลีย หรือโรควอนวิลลิแบรนด์ ได้
การทดสอบการแข็งตัวของเลือดจะมีการใช้ “อัตราส่วนปกติมาตรฐานนานาชาติ” (INR) กับการสอดส่องโดสของยากันเลือดแข็งตัวอย่างวาฟาริน เพื่อตรวจสอบว่าโดสที่คุณใช้นั้นถูกต้องหรือไม่
การตรวจโปรตีนที่ตอบสนองต่อภาวะเฉียบพลัน (CRP)
เป็นการทดสอบอีกประเภทที่ใช้วินิจฉัยภาวะที่ก่อให้เกิดการอักเสบ โดย CRP นั้นถูกผลิตมาจากตับ ซึ่งค่า CRP ที่เข้มข้นกว่าปกติจะแสดงถึงภาวะอักเสบภายในร่างกายของคุณ
การตรวจหาเกลือแร่ของเลือด
อีเล็กโทรไลท์คือแร่ธาตุที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงโซเดียม โปแทสเซียม และคอลไรด์ ซึ่งต่างทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำที่ดีในร่างกาย การผันแปรของระดับอีเล็กโทรไลท์จะทำให้เกิดภาวะมากมายอย่างเช่นภาวะขาดน้ำ เบาหวาน หรืออื่น ๆ
การตรวจหาอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR)
การทดสอบนี้จะวัดจากเวลาที่เซลล์เม็ดเลือดแดงตกลงสู่ก้นหลอดทดลอง ยิ่งเซลล์เม็ดเลือดตกตะกอนลงเร็วเท่าไร จะบ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะอักเสบ ซึ่ง ESR มักใช้เพื่อวินิจฉัยภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ อาทิเช่น:
- ข้ออักเสบ
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- โรคโครห์น
- โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ
- โรคปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนจากการอักเสบ
หากทดสอบร่วมกับกระบวนการตรวจอื่น ๆ จะทำให้การใช้ ESR สามารถยืนยันถึงการอักเสบภายในที่มีได้
การตรวจหาความสมบูรณ์ของเลือด (FBC)
เป็นการทดสอบเพื่อตรวจสอบประเภทและจำนวนของเซลล์ในเลือดของคุณ ซึ่งรวมไปถึงเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งการทดสอบนี้ยังช่วยบ่งชี้ถึงสุขภาพโดยรวมของคุณได้ ซึ่งหมายถึงการแสดงถึงร่องรอยของปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจมี
ยกตัวอย่างก็ตรวจจับสัญญาณความผิดปกติจาก FBC เช่น:
- ภาวะเลือดจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก หรือเนื่องจากขาดวิตามิน B12
- การติดเชื้อหรือการอักเสบ
- การเลือดออกหรือภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
การทดสอบทางพันธุกรรม
เป็นการเจาะเลือดเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นต่าง ๆ (การกลายพันธ์)
ภาวะทางพันธุกรรมที่สามารถใช้วิธีการนี้ตรวจหามีดังนี้:
- ฮีโมฟิเลีย: หรือภาวะที่ส่งผลต่อการจับตัวกันของเลือด
- โรคซิสติกไฟโบรซิส: ภาวะที่ก่อให้เกิดการสะสมกันของเมือกเหนียวในปอด
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง: ซึ่งเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับการอ่อนแรงของกล้ามเน้อ และทำให้ค่อย ๆ สูญเสียการเคลื่อนไหวไป
- โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว: เป็นภาวะที่ทำให้ขาดแคลนเซลล์เม็ดเลือดแดงแบบปกติ
- โรคถุงน้ำในไต: ภาวะที่ทำให้เกิดถุงน้ำที่อัดแน่นด้วยของเหลวที่เรียกว่าซีสต์ขึ้นภายในไต
โดยการตรวจทางพันธุกรรมเช่นนี้ยังช่วยตรวจสอบหายีนที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางร่างกายข้างต้นได้ ซึ่งหากมี บุคคลนั้น ๆ จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะที่กล่าวไปได้
ยกตัวอย่างเช่น หากพี่ชายหรือพี่สาวของคุณเป็นโรคทางพันธุกรรมขึ้นมาในช่วงวัยชรา อย่างเช่นโรคฮันติงตัน คุณก็สามารถความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคชนิดเดียวกันนี้ด้วยการตรวจทดสอบกับพันธุกรรมได้
การทดสอบการทำงานของตับ
เมื่อตับเสียหาย ตับจะปล่อยสารที่เรียกว่าเอนไซม์ออกสู่กระแสเลือด และทำให้ระดับโปรตีนที่ผลิตจากตับเริ่มลดลง การทดสอบนี้จะวัดระดับเอนไซม์และโปรตีนดังกล่าว ซึ่งจะช่วยในการสื่อสารถึงการทำงานของตับได้ การทดสอบเช่นนี้จะช่วยวินิจฉัยสภาวะของตับ อย่างเช่นตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคตับอื่น ๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์
การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
การทดสอบนี้จะถูกใช้เพื่อวัดระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) หรือเพื่อหาความจำเป็นในการใช้ยาไทรอกซีน และไตรไอโอโดไทโรนีน (ฮอร์โมนไทรอยด์)
หากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเหล่านี้สูงหรือต่ำไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไฮโปไทรอยด์ได้