กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาคุมยี่ห้อไหนดี? เรามีคำตอบ พร้อมรีวิวข้อดีข้อเสียแต่ละยี่ห้อ

เผยแพร่ครั้งแรก 15 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาคุมยี่ห้อไหนดี? เรามีคำตอบ พร้อมรีวิวข้อดีข้อเสียแต่ละยี่ห้อ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาคุมกำเนิด คือ ยาสำหรับลดโอกาสการตั้งครรภ์ ผ่านกลไกลดการเคลื่อนที่ของไข่ตามท่อนำไข่ เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการไข่ตก และทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นมากขึ้น จนตัวอสุจิไม่สามารถผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้
  • ยาคุมกำเนิดมีทั้งแบบฉีดกับแบบรับประทาน โดยแบ่งออกได้ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว เป็นยาคุมกำเนิดที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไว้เพียงชนิดเดียว มักถูกแนะนำให้ใช้ในผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร หรือที่มีปัญาสุขภาพ หรือแพ้ยาคุมง่าย
  • ยาคุมกำเนิดประเภทที่ 2 คือ ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เป็นยาคุมกำเนิดที่จะแบ่งตามสัดส่วนฮอร์โมน เพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกายผู้หญิงแต่ละคน เช่น 15 ไมโครกรัม 20 ไมโครกรัม หรือ 30 ไมโครกรัม อีกทั้งมีอยู่หลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ เช่น ยาสมิน หรือไดแอน-35
  • นอกจากนี้ ยังมียาคุมฉุกเฉิน ซึ่งใช้สำหรับคุมกำเนิดในยามฉุกเฉิน เช่น ถุงยางอนามัยเกิดฉีกขาด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้ใช้ยาคุมประเภทนี้จะต้องรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์
  • หากคุณเคยมีประวัติการรับประทานยาคุม และไม่แน่ใจว่า ฤทธิ์ของยาส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ คุณควรเข้าปรึกษากับแพทย์เพื่อความมั่นใจ และทำให้คุณได้วางแผนเกี่ยวกับการมีครอบครัวได้อย่างปลอดภัยด้วย (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ภาวะมีบุตรยาก หรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

การรับประทานยาคุม คือ วิธีคุมกำเนิดซึ่งเป็นที่นิยมของผู้หญิง แต่หลายคนคงยังมีคำถามในใจว่า แล้วควรใช้ยาคุมยี่ห้อไหนดี? แล้วต้องรับประทานอย่างไร ยาคุมจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด 

และเพราะในปัจจุบัน ยาคุมมีหลายประเภท รวมถึงยี่ห้อ และวิธีการใช้ซึ่งมีทั้งแบบฉีด แบบรับประทาน ดังนั้นคุณจึงควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยาคุมยี่ห้อต่างๆ เอาไว้ ว่ามีหลักการทำงาน และการใช้อย่างเหมาะสมอย่างไร

หลักการทำงานของยาคุม

ยาคุมเป็นการทำงานกับฮอร์โมนของผู้หญิง มีกลไกการออกฤทธิ์ คือ ช่วยลดการเคลื่อนที่ของไข่ตามท่อนำไข่ ยับยั้งไม่ให้ไข่ตก ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นมากขึ้น ส่งผลให้อสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก 

อีกทั้งยาคุมยังทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกจะบาง และฝ่อลงไปจนไม่เหมาะกับการฝังตัว พูดง่ายๆ คือ ยาคุมจะมีผลกับรังไข่ และมดลูกจนทำให้ลดโอกาสในการตั้งครรภ์นั่นเอง

รีวิวยาคุมแบบรับประทานยี่ห้อต่างๆ 

ส่วนมากผู้หญิงจะใช้ยาคุมในรูปของยาคุมแบบรับประทาน ซึ่งยาคุมแบบรับประทานนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน 

ยาคุมประเภทฮอร์โมนรวม

ยาคุมประเภทฮอร์โมนรวม มักแบ่งตามสัดส่วนฮอร์โมน เช่น 15, 20, 30 หรือ 35 ไมโครกรัม เพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยจะมี 2 แบบ คือ แบบ 21 เม็ด และแบบ 28 เม็ด

สำหรับผู้ที่รับประทานเป็นครั้งแรก หากเลือกยาที่มีระดับฮอร์โมนสูงเกินไป อาจเกิดการคลื่นไส้ อาเจียน ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย หรือแม้แต่บางคนที่เคยรับประทานมาแล้ว ก็อาจเกิดอาการที่เรียกว่า ไม่ถูกกับยาบางตัวได้ เช่น บวมน้ำ รู้สึกว่าอ้วนขึ้น เป็นฝ้ากระ 

ตัวอย่างยาคุมประเภทฮอร์โมนรวมที่นิยม ดังนี้

1. ยาสมิน (Yasmin) และ จัสติมา (Justima) 

เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด มีตัวยาดรอสไพริโนน (Drospirenone) 3 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล (Ethinyl Estradiol: EE) 0.03 mg. 

เป็นตัวยาที่มีความคล้ายคลึงกับฮอร์โมนธรรมชาติมาก ไม่ค่อยส่งผลให้มีอาการบวมน้ำ ผู้ใช้ที่มีรูปร่างอวบไม่ต้องกลัวว่า เมื่อใช้แล้วจะมีอาการตัวบวมขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่เคยรับประทานยาคุมมาก่อนก็สามารถใช้ได้

2. ยาซ (Yaz

เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด (มียาเม็ดฮอร์โมน 24 เม็ด และยาแป้ง 4 เม็ด) มีตัวยาดรอสไพริโนน 3 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล 0.02 mg.

ยาคุมตัวนี้เหมาะสำหรับสาวๆ ที่มักมีอาการหงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน (หรือที่เรียกว่า PMS) และยังช่วยลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้ด้วย แต่อาจอาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน

3. ไดแอน-35 (Diane-35

เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด มีตัวยาไซโปรเทอโรน อาซีเตท (Cyproterone acetate) 2 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล ตัวที่มีระดับเอสโตรเจนสูง 0.035 mg. 

เพราะยาคุมยี่ห้อนี้มีส่วนประกอบเป็นยาที่มีเอสโตรเจนสูง ดังนั้น ผู้ใช้บางรายจึงอาจเกิดการบวมน้ำได้ แต่ข้อดี คือ ดูมีน้ำมีนวล แถมยังมีฮอร์โมนที่ช่วยลดฮอร์โมนเพศชายในร่างกายได้ ทำให้ลดอาการผมมัน ผมร่วง หน้ามัน และลดสิวจากฮอร์โมนได้ดี 

4. พรีม (PREME) และ บี-เลดี้ (B-Lady)

เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด มีส่วนประกอบของยาเหมือนกับ Diane-35 ทุกอย่าง ดังนั้นจึงมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกันมาก แต่เพราะเป็นยาคุมที่มีระดับเอสโตรเจนสูง จึงอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย 

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยรับประทานยาคุมมาก่อน ไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้

5. เมลลิแอน (Meliane) 

เป็นยาคุมแบบ 21 เม็ด มีตัวยาเจสโทดีน (Gestodene) 0.075 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล 0.02 mg. 

ด้วยปริมาณยาฮอร์โมนที่ไม่มากเกินไป ยาคุมยี่ห้อนี้จึงมีข้อดี คือ เกิดผลข้างน้อย เช่น อาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานยาคุมมาก่อน หรือผู้ที่มีอาการ PMS ก่อนมีรอบเดือน รวมทั้งช่วยลดอาการบวมน้ำได้

6. มินิดอซ (Minidoz) 

เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด มีตัวยาเจสโทดีน 0.06 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล 0.03 mg. 

ยาคุมยี่ห้อนี้มีปริมาณฮอร์โมนยาค่อนข้างน้อย จึงช่วยลดอาการข้างเคียงต่างๆ ได้ดี อีกทั้งช่วยลดสิว ลดอาการปวดหัวไมเกรนได้ สำหรับคนที่ไม่เคยรับประทานยาคุมมาก่อน สามารถเริ่มจากยายี่ห้อนี้ได้

7. โกวานา (Govana)

ยาคุมยี่ห้อนี้มีทั้งแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด 

  • โกวานาแบบ 21 เม็ด มีตัวยาเจสโทดีน 0.075 mg. และยาเอธินิล เอสตราไดออล 0.03 mg. 
  • โกวานา อีดี (Govana ED) เป็นตัวยาโกวานาแบบ 28 เม็ด โดย 21 เม็ดแรก เป็นตัวยาแบบเดียวกับโกวานาธรรมดา และมีเม็ดยาแป้งอีก 7 เม็ดสุดท้ายซึ่งขนาดใหญ่กว่าเพิ่มเข้ามา 

ยาโกวานาถือเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย ลดอาการปวดประจำเดือน ไม่ทำให้อ้วนบวมน้ำ และช่วยควบคุมสิว

ยาคุมประเภทให้นมลูก

ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงระหว่างให้นมลูกซึ่งต้องการคุมกำเนิดด้วย หากรับประทานยาคุมประเภทฮอร์โมนรวม จะทำให้น้ำนมลูกไหลน้อยเกินไป และยังทําให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสตรีหลังคลอดได้

ดังนั้น จึงมียาคุมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเหมาะกับหญิงให้นมบุตรมากกว่า นั่นก็คือ “ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว” คือ เป็นยาคุมที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยาคุมประเภทนี้ยังเหมาะกับผู้ที่แพ้ยาคุมง่าย และผู้ที่กลัวมีปัญหาเรื่องฝ้าขึ้นใบหน้าด้วย

ยี่ห้อยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มักพบเห็นกันบ่อยในท้องตลาด คือ เซราเซ็ท (Cerazette) เอ็กซ์ลูตอน (Exluton) และเดลีตัน (Dailyton)

ด้านหลังของยาประเภทนี้จะมีลักษณะเรียงลำดับตามลูกศรตามวันในสัปดาห์ สามารถเริ่มตามวันให้ตรงกับแผงยาได้เลย หรือเริ่มกินเมื่อประจำเดือนมาวันแรกเหมือนยาคุมทั่วไป

ยาคุมประเภทฉุกเฉิน

เป็นยาคุมสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ถุงยางรั่ว ไม่มียาคุมกำเนิดแบบปกติพกพาไว้ โดยมีตัวอย่างยี่ห้อ คือ Madonna และ Postinor 

วิธีรับประทานยาคุมประเภทฉุกเฉินที่ถูกต้อง คือ รับประทานให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 72 ชั่วโมง ตัวยามี 2 เม็ด สามารถกินได้ 2 แบบคือ

  • กินพร้อมกัน 2 เม็ดได้เลย หากคิดว่าไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน 
  • กินตอนเช้า 1 เม็ด และอีก 1 เม็ดให้กินหลังจากนั้น 12 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากยาคุมฉุกเฉิน คือ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือมีประจำเดือนตามมาแบบกะปริดกะปรอย เนื่องจากมีตัวยาที่แรง หลังจากนั้นในรอบเดือนถัดไปจะมีประจำเดือนตามปกติ

สิ่งสำคัญ คือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินนี้ไม่ควรกินเกินเดือนละ 2 กล่อง เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

ในประเทศไทย คุณสามารถหาซื้อยาคุมได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่ก็เป็นข้อเสีย เพราะผู้หญิงบางคนไม่ได้เลือกยาคุมจากความรู้ความเข้าใจ จึงอาจทำให้เลือกยาคุมซึ่งมีคุณสมบัติไม่เหมาะกับตนเองได้

ดังนั้นคุณควรทำความเข้าใจวิธีการใช้ยาคุมก่อนเลือกรับประทาน หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนตัดสินใจซื้อยาคุม เพื่อให้ยาคุมกำเนิดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และเหมาะสมกับภาวะสุขภาพ รวมถึงลักษณะร่างกายของคุณด้วย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ภาวะมีบุตรยาก หรือตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, ยาคุมกําเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป