พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์
เขียนโดย
พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ฝากครรภ์ ครั้งแรกต้องทำอย่างไร? ควรเริ่มฝากตอนกี่เดือน?

หาคำตอบว่าเหตุใดคุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์ ควรไปที่ไหน ขั้นตอนเป็นอย่างไร และสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนไปฝากครรภ์มีอะไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2022 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ฝากครรภ์ ครั้งแรกต้องทำอย่างไร? ควรเริ่มฝากตอนกี่เดือน?

การฝากครรภ์คืออะไร เป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่?

ฝากครรภ์ คือการดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม การฝากครรภ์มีความจำเป็นอย่างมากในการติดตาม เฝ้าระวังความผิดปกติ และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

ข้อดีของการฝากครรภ์

  1. สามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติ และโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เพื่อหาสาเหตุ แนวทางการแก้ไข และป้องกันได้อย่างทันท่วงที ลดอัตราการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ตกเลือด และการติดเชื้อต่างๆ
  2. ตรวจคัดกรองโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคทางพันธุกรรม
  3. เป็นการติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
  4. ทำให้คุณแม่ได้รับคำแนะนำฝากครรภ์ ในการปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี เกี่ยวกับการดูแลตนเองและทารกในครรภ์ การรับมือกับารเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย อารมณ์ การรับประทานยา อาหาร และการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร ซึ่งจะทำให้คุณแม่คลอดบุตรได้อย่างปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก

ถ้าไม่ฝากครรภ์จะอันตรายหรือไม่?

หากไม่ฝากครรภ์ ก็จะไม่ทราบถึงพัฒนาการของทารก ไม่ทราบว่าทารกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่ หรือความผิดปกติบางอย่างอาจจะไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้กว่าจะรู้ตัวก็เป็นหนัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ถ้าเป็นอะไรรุนแรงอาจถึงขั้นสูญเสียได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ควรฝากครรภ์ที่ไหนดี?

คุณสามารถฝากครรภ์ได้ที่สถานพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์อนามัย คลินิก เป็นต้น คำแนะนำคือควรฝากครรภ์กับสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อจะได้เดินทางสะดวก รวดเร็ว ถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?

คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือภายใน 12 สัปดาห์แรก เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

เอกสารที่ต้องเตรียมไปฝากครรภ์มีอะไรบ้าง?

การไปฝากครรภ์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย เพียงแค่เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนไปยื่นที่สถานพยาบาล รอพบแพทย์ จากนั้นจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย แล้วรับสมุดฝากครรภ์ได้เลย
ขั้นตอนการฝากครรภ์มีอะไรบ้าง?

เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการซักประวัติ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้

  • วันที่ประจำเดือนครั้งสุดท้าย ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การแท้งบุตร ตกเลือด
  • ประวัติการแพ้ยา และยากที่กำลังรับประทานอยู่
  • โรคประจำตัว รวมถึงอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย
    หลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ได้แก่
  • ชั่งน้ำหนัก เพื่อดูความเหมาะสมของน้ำหนัก แพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารและการดูแลสุขภาพเพื่อให้นำหนักของคุณแม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
  • วัดส่วนสูง คุณแม่ที่ส่วนสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีอุ้งเชิงกรานแคบ ไม่เหมาะกับการคลอดปกติ แพทย์อาจประเมินผ่าคลอดเพื่อป้องกันอันตรายจากการคลอด เช่น ภาวะไหล่ติด คลอดยาก เป็นต้น
  • วัดความดันโลหิต เพื่อคัดกรองภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ในภาวะปกติความดันโลหิตจะอยู่ในช่วง 120/80-139/89 ซึ่งหากค่าความดันโลหิต 140/90 ขึ้นไป ถือว่าความดันโลหิตสูง อาจเป็นอาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์
  • ตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองโรค เช่น เบาหวานหากตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ และหากพบโปรตีนในปัสสาวะ ก็แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์อาจมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย แต่หากโตมากต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอาการไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะครรภ์เป็นพิษต่อไป
  • ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคติดต่อและโรคทางพันธุกรรม เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
  • ตรวจหน้าท้อง เพื่อดูความสัมพันธ์ของขนาดมดลูกกับอายุครรภ์ หรือตรวจก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติบริเวณหน้าท้อง

เวลาฝากครรภ์แล้วแพทย์จะนัดตรวจบ่อยหรือไม่?

อายุครรภ์ 28 สัปดาห์แรก แพทย์มักจะนัดทุกๆ 1 เดือน อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ นัดทุกๆ 2-3 สัปดาห์ จนเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์เป็นต้นไปจะนัดทุกๆ 1 สัปดาห์ คุณแม่ควรมาตามนัด และที่สำคัญ อย่าลืมนำสมุดฝากครรภ์ไปด้วยทุกครั้ง

ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์

ในการฝากครรภ์ครั้งแรก ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 1,200-1,500 บาท กรณีสิทธิประกันสังคมหรือบัตรทองจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 50 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนโดยมากจะเป็นแพ็กเกจเหมาจ่าย ตั้งแต่ฝากครรภ์ จนถึงคลอด ราคาประมาณ 10,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล รูปแบบการคลอด และรายการตรวจในแต่ละครั้ง

สำหรับคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ การฝากครรภ์นั้นสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้คุณแม่ทราบถึงความเสี่ยง ภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ทราบวิธีการปฏิบัติตน การดูแลตนเองที่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดเจ้าตัวเล็กให้ปลอดภัยและแข็งแรงสมบูรณ์


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ฝากครรภ์ ต้องไปพบแพทย์กี่ครั้ง? แต่ละครั้งทำอะไรบ้าง?, (https://hdmall.co.th/c/how-often-do-you-need-prenatal-visits).
ตรวจการตั้งครรภ์ ได้ตอนไหน ขึ้น 2 ขีดท้องไหม? อ่านสรุปที่นี่ , (https://hdmall.co.th/c/human-chorionic-gonadotropin).
ฝากครรภ์กี่เดือน? ควรฝากตอนไหน?, (https://hdmall.co.th/c/what-you-need-to-know-about-antenatal-care).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)