6 สมุนไพรรักษาสิว แนวทางการใช้เผื่อหน้าใสผิวสวย

เผยแพร่ครั้งแรก 17 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
6 สมุนไพรรักษาสิว แนวทางการใช้เผื่อหน้าใสผิวสวย

สิวเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยทั้งในหญิงและชาย ตามปกติเมื่อพ้นจากวัยรุ่นไปแล้ว สิวจะค่อยๆ ลดน้อยลงจนหายไปในที่สุด แต่บางคนยังคงมีสิวเป็นๆ หายๆ เนื่องจากระบบต่อมไขมันในรูขุมขนอุดตัน รวมถึงบางครั้งมีตัวกระตุ้นเพิ่มเติม เช่น เชื้อแบคทีเรีย ทำให้กลายเป็นสิวอักเสบ

ทำไมจึงควรใช้สมุนไพรรักษาสิว?

การรักษาสิวโดยทั่วไปคือลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง และพยายามไม่ให้เกิดสิวขึ้นใหม่อีก โดยปัจจุบันมียาทาเฉพาะที่หลายยี่ห้อสามารถช่วยได้ แต่บางครั้งยาเหล่านั้นก็ทำให้เกิดผลข้างเคียง ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง รอยแดง ผิวแห้งหรือลอก หลายคนจึงหันมาเลือกวิธีธรรมชาติอย่างการใช้สมุนไพร เช่น สมุนไพร 6 ชนิดต่อไปนี้

แนวทางการใช้สมุนไพรรักษาสิว

  1. มะขาม เป็นสมุนไพรที่หาง่าย อุดมไปด้วยวิตามินซีและกรดผลไม้ หรือที่เรียกกันว่า AHA (Alpha Hydroxy Acids) กรดผลไม้เหล่านี้นอกจากจะพบในมะขามแล้ว ยังสามารถพบได้ในสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวอื่นๆ เช่น ส้ม หรือมะนาว เป็นต้น คนโบราณนิยมนำมะขามมาบำรุงผิวพรรณ โดยนำไปนึ่งให้ร้อน แล้วแกะเอาเมล็ดออกให้เหลือแต่เนื้อ จากนั้นจึงนำเนื้อมะขามไปละลายในน้ำต้มสุกเป็นน้ำมะขามเปียก แล้วพอกบริเวณใบหน้า ทิ้งไว้สักครู่ประมาณ 5-10 นาที จากนั้นจึงล้างออก มะขามจะช่วยในการผลัดเซลล์ผิวที่เป็นรอยด่างดำและทำให้สิวที่อักเสบยุบลงได้ แต่ข้อควรระวังคือ หลังจากพอกน้ำมะขามเปียก ควรหลีกเลี่ยงการออกไปเจอแสงแดด เนื่องจากกรดผลไม้ในมะขามอาจทำให้ผิวหน้าบางลง ฉะนั้นจึงแนะนำให้พอกหน้าเวลากลางคืน หรือก่อนนอนจะเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด

  2. มะนาว อุดมด้วยวิตามินซีและกรดผลไม้ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวเช่นเดียวกับมะขาม นอกจากนี้ยังช่วยลดรอยดำรอยแดงจากปัญหาสิว สามารถทำได้ง่ายๆ โดยบีบน้ำมะนาว 1 ซีก ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา จากนั้นจึงใช้สำลีมาชุบบริเวณหัวสิว ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างออก กรดผลไม้จากมะนาวจะช่วยให้หัวสิวแห้ง และค่อยๆ ยุบลง

  3. ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรอีกชนิดที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่โบราณ ตามสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้เป็นยาภายนอกสำหรับแก้ผดผื่นคันได้ดี วิธีทำคือให้นำเหง้าขมิ้นชันมาล้างให้สะอาด ตากแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาบดเป็นผง แล้วผสมกับดินสอพอง เทน้ำผสมเล็กน้อยแล้วขนให้เข้ากัน นำมาพอกบริเวณที่เป็นผดผื่นหรือตุ่มสิว ขมิ้นชันจะช่วยให้ผดผื่นหรือตุ่มสิวน้อยลงได้ ข้อควรระวังคือ ให้หลีกเลี่ยงการพอกขมิ้นชันบริเวณที่มีแผลเปิด เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง

  4. มังคุด ส่วนเปลือกมีรสฝาด ช่วยสมานผิว ตามสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลพุพอง แผลเปื่อยได้ดี นอกจากนี้ยังมีสารที่ช่วยลดการอักเสบของสิวและต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดเป็นสิวหนองได้อีกด้วย คนโบราณนำเปลือกมังคุดตากแดดให้แห้ง แล้วฝนเปลือกมังคุด ผสมกับน้ำปูนใส แล้วพอกบริเวณที่มีแผล แต่สำหรับกรณีที่เป็นสิว นิยมใช้เป็นเปลือกมังคุดสดๆ ตำให้แหลก แล้วพอกบริเวณที่เป็นสิว ก็จะช่วยให้สิวลดลงและป้องกันการเกิดสิวหนองได้

  5. ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรอีกตัวที่นิยมนำมารักษาเกี่ยวแผลและโรคผิวหนัง เพราะมีสารที่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณที่มีแผล ฉะนั้นว่านหางจระเข้จึงเหมาะสำหรับคนที่มีรอยแผลจากการเป็นสิว นอกจากนี้มันยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ใบหน้าอีกด้วย วิธีการเตรียมคือ เลือกใบว่านหางจระเข้ที่แก่จัด (สังเกตว่าผิวใบจะไม่ค่อยมีลาย) แล้วตัดบริเวณโคนใบออกมา ล้างผิวใบให้สะอาด จากนั้นแช่น้ำ 15 นาทีแล้วทิ้งให้น้ำยางสีเหลืองไหลออกจนหมด หากยังหลงเหลือน้ำยางสีเหลืองอยู่ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ จากนั้นจึงเปลี่ยนน้ำ แล้วล้างอีกรอบให้สะอาด จากนั้นจึงปลอกเปลือกสีเขียวด้านนอกออกให้เหลือแต่วุ้นของว่านหางจระเข้ แล้วนำวุ้นมาวางบริเวณที่มีรอยแผล

  6. บัวบก มีสรรพคุณใกล้เคียงกับว่านหางจระเข้ คือช่วยกระตุ้นให้แผลหายได้เร็วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยออกมาว่า บัวบกมีสารที่ทำให้ใบหน้าอ่อนเยาว์ลงด้วย กรรมวิธีการเตรียมคือ นำใบสดของบัวบกมาซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตำให้พอแหลก จากนั้นจึงนำมาพอกบริเวณที่มีรอยแผลจากสิว จะทำให้รอยแผลจางลงจนหายไปได้ในที่สุด

สมุนไพรรอบตัวมากมายที่หาไม่ยาก นอกจากนำมารับประทานได้แล้ว ยังช่วยบำรุงผิวพรรณและรักษาสิวได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำมาพอกบนบริเวณใบหน้า ควรทดสอบโดยป้ายบริเวณใต้ท้องแขนก่อนเสมอ หากเกิดอาการคันหรือผื่นแดงขึ้นหลังจากป้ายที่ท้องแขน แสดงว่ามีการแพ้สมุนไพรชนิดนั้นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาใช้กับใบหน้า


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์, วงศ์สถิต ฉั่วกุล และจุฑาธิป เขียววงษ์จันทร์, สมุนไพรและตำรับยาไทย การเลือกใช้ตามหลักวิชาการ, 2555.
รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ, สมุนไพรและเครื่องยาไทย ในยาสามัญประจำบ้าน, 2557.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป