ลิ้นเป็นฝ้า ปัญหาสุขภาพที่ต้องรีบเช็คด่วน!

เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ลิ้นเป็นฝ้า ปัญหาสุขภาพที่ต้องรีบเช็คด่วน!

ปกติแล้วลิ้นของคนเรามักเป็นสีชมพูอ่อนถึงเข้ม แต่สำหรับคนที่มีอาการลิ้นเป็นฝ้า หรือ White tongue เมื่อแลบลิ้นออกมาดู จะพบว่าลิ้นมีคราบหรือปื้นสีขาว คล้ายคราบนม ที่เราเรียกว่าฝ้านั่นเอง ฝ้าที่ลิ้นเป็นอาการชั่วคราวที่บางครั้งก็เกิดจากอาหารการกินที่เราทาน เช่น ในเด็กทารกที่ดื่มนมเป็นประจำ ก็พบอาการลิ้นเป็นฝ้าขาวเช่นนี้ได้ แต่หากอาการลิ้นเป็นฝ้านั้นไม่หายไป หรือเป็นต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น ลิ้นเป็นแผล ก็ให้ระวังไว้ว่าอาจเป็นสัญญาณถึงโรคที่ร้ายแรงกว่านี้ได้

ลิ้นเป็นฝ้า เกิดจากอะไรได้บ้าง?

  • มีเศษอาหารตกค้างในช่องปาก เช่น คนที่ดื่มนมมากๆ หรืออมลูกอมเป็นประจำ จะพบคราบอาหารติดอยู่ที่ลิ้นได้ รวมถึงหากช่องปากไม่สะอาด มีฟันผุหรือหินปูนมาก ก็อาจพบฝ้าที่ลิ้นได้เหมือนกัน ซึ่งไม่เป็นอันตราย ถ้าใช้แปรงสีฟันแปรงที่ลิ้นเป็นประจำ รวมถึงรักษาความสะอาดในช่องปาก ฝ้าจะค่อยๆ หายไปเอง
  • ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่จัด จนทำให้เซลล์ในช่องปากมีจำนวนมากกว่าปกติ และเกิดการทับถมของเคอราติน กลายเป็นคราบขาวฝังบนลิ้น อาการแบบนี้เรียกว่า โรคฝ้าขาว หรือ Leukoplakia หากมีฝ้าบนลิ้นสะสมนานหลายปี อาจทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากตามมาได้
  • มะเร็งที่ลิ้นหรือมะเร็งในช่องปาก ซึ่งมักเกิดกับเซลล์เยื่อบุช่องปาก หรือเซลล์บุผิวลิ้น ทำให้เกิดคราบขาวเกาะตัวบนลิ้น ฝ้าที่เกิดขึ้นจะหนาและไม่เรียบ รวมถึงอาจมีอาการเจ็บลิ้นหรือมีแผลในปากด้วย
  • โรคซิฟิลิส รอยโรคของซิฟิลิสมีลักษณะเป็นแผลริมแข็งเล็กๆ ในปากหรือบนผิวลิ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อภายใน 3 เดือน และหากไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้เกิดฝ้าที่ลิ้นได้เช่นกัน
  • เชื้อราในปาก เชื้อราที่พบในปากมักเป็นยีสต์ Candida albican ซึ่งมักพบในคนที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กทารก ผู้สูงวัย หรือผู้ติดเชื้อ HIV ลักษณะเด่นคือเป็นปื้นหรือขุยสีขาวหนาบนลิ้น และสามารถขูดออกได้ และอาจมีอาการปวดแสบลิ้น หรือมีแผลที่ลิ้นร่วมด้วย หากสังเกตว่าลิ้นเป็นฝ้าประเภทนี้ ให้สงสัยว่าภูมิต้านทานเราอาจอ่อนแอลงจากโรคบางอย่าง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์?

  • พบว่าลิ้นเป็นฝ้านานเกิน 2 สัปดาห์และยังไม่หายไปเอง โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการเจ็บปวดที่ลิ้นหรือในช่องปาก มีแผล หรือมีก้อนในปากที่ผิดปกติ
  • ฝ้าบนลิ้นเป็นคราบหนา และขูดออกมาเป็นขุย
  • มีอาการปากแห้ง หรือลิ้นชาร่วมด้วย

การรักษาเมื่อเกิดลิ้นเป็นฝ้า

การรักษาฝ้าที่ลิ้นต้องคำนึงถึงสาเหตุที่เกิดเป็นหลัก หากฝ้านั้นเกิดจากมีคราบอาหารสะสมในปาก ก็ให้รักษาความสะอาดในช่องปาก โดยการแปรงฟันและแปรงลิ้นเป็นประจำ รวมถึงขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งฝ้าที่ลิ้นแบบนี้ไม่เป็นอันตราย และสามารถหายไปเองได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หากเป็นฝ้าขาวแบบ Leukoplakia ขั้นแรกควรงดดื่มเหล้าและงดสูบบุหรี่ก่อน และหากแพทย์ประเมินว่ามีความเสี่ยงจะเกิดมะเร็งในช่องปาก อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือการจี้เย็น ส่วนถ้าฝ้าที่ลิ้นนั้นเกิดจากป่วยเป็นมะเร็งแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษามะเร็ง ซึ่งวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ในกรณีที่ลิ้นเป็นฝ้าจากเชื้อรา แพทย์จะรักษาโดยให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาน้ำ ยาเม็ด ยาอม หรือยาทา โดยอาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง หลังรับยาแล้วฝ้าที่ลิ้นจะค่อยๆ หายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากสาเหตุสำคัญนั้นเกิดจากเจ็บป่วยเป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แพทย์ก็จะทำการวินิจฉัยและรักษาโรคต้นเหตุนั้นต่อไปด้วย

 


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
White Tongue & Thrush: Symptoms, Causes, Treatments. Cleveland Clinic. (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17654-white-tongue)
White Tongue: Symptoms, Signs, Causes & Treatment. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/white_tongue/symptoms.htm)
Sore or white tongue. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/sore-or-white-tongue/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป