หลายคนโดยเฉพาะสาวๆ คงเคยประสบกับอาการปวดท้องน้อยกันมาบ้าง หรือถ้าใครสงสัยว่าท้องน้อยอยู่ตรงไหน ให้คลำตรงตำแหน่งต่ำกว่าอุ้งเชิงกร้าน หรือต่ำกว่าสะดือลงไปนั่นแหละ อาการปวดท้องน้อย (Pelvic pain) มีทั้งปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรง ปวดตื้อๆ ปวดแบบบีบรัด ไปจนถึงปวดไม่มากแต่เรื้อรัง ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของการปวด ส่วนมากอาการปวดท้องน้อยจะเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง แต่ก็มีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการแบบนี้ได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการปวดท้องน้อย
สาเหตุที่พบเฉพาะในผู้หญิง ได้แก่...
- ปวดท้องขณะมีประจำเดือน
- เกิดการตกไข่ในช่วงก่อนมีประจำเดือน
- เกิดซีสต์ในรังไข่
- มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน มดลูก หรือท่อนำไข่
- มีเนื้องอกภายในมดลูก
- เยื่อบุมดลูกเจริญผิดปกติ
- มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่
- ติดเชื้อในช่องคลอด
- ความผิดปกติจากการตั้งครรภ์ เช่น แท้ง ท้องนอกมดลูก
สาเหตุที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ไส้ติ่งอักเสบ
- ไส้เลื่อน
- ลำไส้อักเสบ
- ไตผิดปกติ เช่น ไตวายเฉียบพลัน ไตอักเสบ ติดเชื้อในไต หรือมีนิ่วในไต
- ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- มะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บ กระดูกเชิงกรานร้าว เป็นต้น
เห็นไหมว่าอาการปวดท้องน้อยข้างขวา หรือ ปวดท้องน้อยข้างซ้าย ไม่ได้จำเพาะเจาะจงต่อโรคเลย ดังนั้น แพทย์ต้องวินิจฉัยจากอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีปัสสาวะแสบขัดด้วยหรือไม่? มีไข้หนาวสั่นไหม? มีเลือดออกขณะขับถ่ายไหม? ท้องอืด อาหารไม่ย่อยด้วยหรือไม่? ประจำเดือนมาปกติทุกเดือนหรือไม่? รวมถึงอาจต้องตรวจเลือด ปัสสาวะ และตรวจภายในเพิ่มเติมเพื่อระบุโรคที่เป็นสาเหตุด้วย
การรักษาอาการปวดท้องน้อย
การรักษาจะเน้นตรวจหาสาเหตุของโรคเพื่อรักษาให้ตรงจุด ร่วมกับการบรรเทาอาการปวดไปด้วย โดยแนวทางการรักษาทั่วไป มีดังนี้
- รักษาโดยการใช้ยา
ส่วนมากแพทย์จะแนะนำให้ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แต่หากเป็นอาการปวดขณะมีประจำเดือน จะมียาแก้ปวดโดยเฉพาะ เช่น พอนสแตน นอกจากนี้ ถ้าพบว่าสาเหตุการปวดท้องน้อยมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ติดเชื้อในช่องคลอด หรือในทางเดินปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Doxycycline และ Ofloxacin ด้วย
- รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดจำเป็นในกรณีที่สาเหตุของอาการปวดมาจากความผิดปกติในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ มีซีสต์ หรือเนื้องอกในมดลูก เป็นนิ่วในไต ท้องนอกมดลูก รวมถึงมะเร็งบางชนิด การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งวิธีเปิดช่องท้องและผ่าตัดผ่านกล้อง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสภาวะของผู้ป่วย
- รักษาด้วยวิธีอื่นๆ
หากมีอาการปวดท้องน้อยแบบเรื้อรัง อาจเลือกวิธีการรักษาอื่นๆ ที่ไม่เป็นอันตราย เช่น การทำกายภาพบำบัด การกดจุด ฝังเข็ม การประคบร้อน ซึ่งหากสนใจการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเพื่อความปลอดภัยของเราเอง
การป้องกันอาการปวดท้องน้อย
สำหรับคุณผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ อาจป้องกันไม่ให้มีอาการปวดรุนแรงได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติสม่ำเสมอ อีกทั้งขณะมีประจำเดือนควรทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อไม่ให้ลำไส้เกิดการบีบรัดเกินไป จะช่วยทุเลาอาการปวดท้องน้อยได้
สำหรับอาการปวดท้องน้อยจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้