หนุ่มๆ ทั้งหลายคงเคยได้ยินคำบอกคำสอนตั้งแต่เด็กที่ว่า “ถ้าไม่ใส่กางเกงใน ระวังเป็นไส้เลื่อน”กันมาบ้างใช่ไหม? แต่ความจริงแล้วไส้เลื่อนนั้นเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แถมสาเหตุจริงๆ ก็ไม่ได้เกิดจากการไม่สวมกางเกงในแต่อย่างใด
ไส้เลื่อน (Hernia) คือภาวะที่ลำไส้เกิดการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม จากการที่กล้ามเนื้อหรือผนังหน้าท้องที่หุ้มกันอยู่หย่อนยาน ทำให้เห็นเป็นก้อนตุงในจุดที่ลำไส้เคลื่อนไปอยู่ ไส้เลื่อนนั้นเกิดได้หลายตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ เกือบ 80% นั้นพบในผู้ชาย อย่างที่คนมักเรียกว่า ไส้เลื่อนลงไข่ เพราะลำไส้จะเคลื่อนมาอยู่ที่ถุงอัณฑะ ทำให้มีอาการปวดหน่วงแถวขาหนีบด้วย ซึ่งจุดนี้เป็นบริเวณที่พบไส้เลื่อนได้บ่อยที่สุด
- ไส้เลื่อนที่สะดือ มักพบในเด็กแรกเกิด ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า สะดือจุ่น และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปเองได้เมื่อเริ่มโตขึ้น
- ไส้เลื่อนต่ำกว่าขาหนีบ พบได้น้อยและมักพบในผู้หญิงเท่านั้น ไส้เลื่อนบริเวณนี้ทำให้เกิดอาการปวดหน่วงแถวขาหนีบได้
- ไส้เลื่อนหลังผ่าตัด พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ที่เคยรับการผ่าตัดในช่องท้อง โดยลำไส้อาจเคลื่อนตัวมายังบริเวณที่เคยผ่าตัดได้
บางครั้งการเกิดไส้เลื่อนก็ไม่มีอาการผิดปกติเลย จนบางคนที่เป็นก็ไม่รู้ตัว แต่กรณีที่เกิดอาการนั้น เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือจะพบก้อนตุงในตำแหน่งที่ลำไส้เคลื่อนไป เช่น ขาหนีบ อัณฑะ ทำให้ส่วนนั้นโตขึ้นกว่าปกติ อาจมีอาการปวดหน่วงๆ และเจ็บเวลาไอหรือก้มตัว บางครั้งอาจเกิดลำไส้อุดตัน ทำให้มีอาการปวดมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย และหากปล่อยไว้นานโดยไม่ยอมรักษา ลำไส้จะเกิดการบีบรัดจนขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ลำไส้เน่า มีเชื้อโรคแพร่กระจาย และอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้
สาเหตุการเกิดไส้เลื่อน
- เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด บางคนอาจมีผนังหน้าท้องอ่อนแอ มีกล้ามเนื้อหน้าท้องขาดหายไป หรือมีช่องว่างระหว่างช่องท้องกับอัณฑะ ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ทำให้มีโอกาสเป็นไส้เลื่อนได้สูง
- ผนังหน้าท้องและกล้ามเนื้อหน้าท้องเสื่อมลง สาเหตุเกิดจากอายุที่มากขึ้น ดังนั้น ผู้สูงวัยจึงมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้มากกว่าคนวัยรุ่นหนุ่มสาว
- มีแรงดันในช่องท้องสูง สาเหตุมาจากการไอจามเรื้อรังและรุนแรง การยกของหนักบ่อยๆ การสูบบุหรี่ การเบ่งอุจจาระอย่างแรงเป็นประจำ หรือการมีของเหลวอยู่ในช่องท้องมาก
- เกิดอุบัติเหตุ ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเกิดความเสียหาย
- เคยผ่านการผ่าตัดช่องท้อง ทำให้ส่วนที่ผ่าตัดเกิดพังผืดและขาดความยืดหยุ่น ลำไส้จึงอาจเคลื่อนตัวผ่านรอยแผลที่ผ่าได้
การรักษาโรคไส้เลื่อน
โดยทั่วไปไส้เลื่อนสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่หากระหว่างรอผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการปวดหน่วงอย่างรุนแรง แพทย์ก็อาจให้ยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการด้วย ในกรณีที่ลำไส้ขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดไส้เน่า ถือว่าเป็นเคสฉุกเฉินที่ต้องรับการผ่าตัดโดยด่วนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่านั้นทิ้งไป
นอกเหนือจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยก็ควรระวังไม่ให้ไส้เลื่อนรุนแรงขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงการยกของหนัก งดดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และงดอาหารรสจัด เพราะจะทำให้เกิดกรดในกระเพาะมาก และไม่ควรเบ่งอุจจาระแรงๆ
การป้องกันไม่ให้เกิดไส้เลื่อน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักอย่างผิดวิธี
- งดการสูบบุหรี่ การสัมผัสกับฝุ่น ควัน มลพิษ เพื่อป้องกันอาการไอรุนแรง
- ทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่นพวกผักผลไม้ต่างๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะผู้ที่อ้วนมากก็มีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้สูง