ภาพรวมของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ อาการ สาเหตุ และการรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ภาพรวมของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) เป็นการติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเดินทางผ่านปากมดลูกไปที่มดลูกและท่อนำไข่ โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก อาการปวดท้องน้อยเรื่อรัง ฝีของรังไข่หรือท่อนำไข่ พังผืด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis) และการอักเสบรอบตับ (perihepatitis) ในกรณีที่มีอาการรุนแรงและเกิดขึ้นได้น้อยมาก ภาวะนี้ที่ไม่ได้รักษาสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจเป็นภาวะฉับพลัน (อาการเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง) หรือเป็นแบบเรื้อรัง (อาการเป็นระยะเวลานานและมีความรุนแรงน้อยกว่า) หรือไม่มีอาการเลย การที่มีหรือไม่มีอาการไม่ได้บอกว่าโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะสืบพันธุ์ไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว เป็นไปได้ที่จะไม่มีอาการเลย แต่มีการอุดกั้นและพังผืดจนทำให้มีบุตรยาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผู้หญิงบางคนอาจรู้ว่าตัวเองมีภาวะนี้หลังจากที่พยายามจะตั้งครรภ์แล้วไม่ประสบความสำเร็จหรือหลังจากมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกแล้ว อ้างอิงจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีจะมีผู้หญิงมากกว่า 750,000 คนที่มีอาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเฉียบพลันและผู้หญิงเหล่านี้มากถึง 300,000 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะดังกล่าว เนื่องจากมีหลายกรณีที่โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบไม่มีอาการ และภาวะนี้มักถูกวินิจฉัยผิดหรือไม่ได้รับการวินิจฉัย ตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนผู้ป่วยภาวะนี้จึงน่าจะมากกว่านี้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ?

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease หรือ STD) ซึ่งเชื้อที่เป็นสาเหตุได้บ่อย คือ Chlamydia และ Gonorrhea โดยที่ Chlamydia เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบชนิดไม่มีอาการ ซึ่งหมายผู้หญิงหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังติดเชื้ออยู่

หากคุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ยังวินิจฉัยไม่ได้ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบก็สูงขึ้นทุกครั้งที่ปากมดลูกเปิดและการติดเชื้อก็จะลามเข้ามดลูกได้ง่าย คุณจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบสูงขึ้นหลังจากคลอดบุตร การคลอดก่อนกำหนด การทำแท้ง การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก การใส่ห่วงคุมกำเนิด การตรวจฉีดสีดูท่อนำไข่และโพรงมดลูก การส่องกล้องดูท่อโพรงมดลูก และการผสมเทียม (artificial insemination)

แม้ว่าการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานสามารถเกิดได้จากแบคทีเรียอื่นนอกเหนือจากที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ภาวะดังกล่าวแทบจะไม่นับว่าเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แม้ว่าอาการและอาการแสดงจะคล้ายกันก็ตาม

สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะมีบุตรยากที่เกี่ยวข้องกับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ คือ การอุดกั้นของท่อนำไข่ ท่อนำไข่มักถูกอุดกั้นจากพังผืดที่เกิดจากการอักเสบและจะพบการอุดกั้นที่ตำแหน่งค่อนไปทางรังไข่มากกว่ามดลูก เมื่อการอุดกั้นเกิดขึ้นใกล้รังไข่ การรักษาทางศัลยกรรมก็เป็นไปได้ยากขึ้น โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจทำให้เกิดท่อนำไข่บวมน้ำ (hydrosalpinx) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อท่อนำไข่อุดกั้นที่บริเวณใกล้รังไข่และขยายขนาดขึ้นจากของเหลวที่อยู่ภายในท่อ การมีท่อนำไข่บวมน้ำจะลดโอกาสที่จะทำเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization) ได้สำเร็จ

การตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถเกิดได้จากความเสียหายจากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ หากคุณได้รับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความเสียหายของท่อนำไข่จากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ โอกาสที่คุณจะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกก็จะสูงขึ้น ในกรณีที่พบได้น้อยมาก การติดเชื้ออย่างฉับพลันบางชนิดอาจทำให้ต้องทำการตัดมดลูกฉุกเฉิน (emergency hysterectomy) ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ในอดีต แพทย์บางคนรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบชนิดเรื้อรังโดยการตัดมดลูก แต่การรักษานี้ใช้กันน้อยลงเรื่อยๆ หากแพทย์ของคุณแนะนำให้ทำการตัดมดลูกเพื่อรักษาภาวะดังกล่าว คุณอาจต้องการหาความเห็นจากแพทย์คนอื่นก่อนที่จะทำการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโอกาสการมีลูกของคุณในอนาคต อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อได้ข้างล่างในหัวข้อเรื่องการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ

อาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบคืออะไร?

อาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับว่าพวกเขากำลังมีภาวะโรคแบบเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือไม่มีอาการ โดยอาการของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด คือ อาการปวดท้องน้อย อาการอื่นๆ ได้แก่ อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดบั้นเอว ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ตกขาวผิดปกติ อาการคล้ายหวัด อาการเพลีย ไข้ หนาวสั่น ต่อมน้ำเหลืองโต เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน และมีบุตรยาก อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นจากโรคอื่นๆ ได้ รวมถึงภาวะไส้ติ่งอักเสบ

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบอกแพทย์หากคุณสงสัยว่าคุณอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีความเสี่ยงอื่นๆ ของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ เช่น การแท้งเมื่อเร็วๆ นี้ การคลอดบุตร การคลอดก่อนกำหนด หรือการใส่ห่วงคุมกำเนิด

สำหรับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบชนิดเรื้อรัง การที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายๆ ปี ไม่ใช่เรื่องที่พบได้บ่อย หากคุณมีอาการปวดท้องน้อยเป็นประจำหรือปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์ และแพทย์ของคุณไม่สามารถวินิจฉัยหรือรักษาได้ คุณอาจอยากไปหาความเห็นจากแพทย์คนอื่น อย่ายอมแพ้จนกว่าคุณจะพบการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของคุณ การมีบุตรในอนาคตและสุขภาพของคุณขึ้นอยู่กับเรื่องนี้

จะวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้จากอาการและอาการแสดง การวิเคราะห์ผลเพาะเชื้อจากช่องคลอดและปากมดลูก การส่งตรวจเลือดและปัสสาวะ การตรวจภายใน และการประเมินลักษณะตกขาว ในขณะที่ผลเพาะเชื้อจากช่องคลอดมักทำให้ทราบการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ แต่ไม่ได้ตรวจพบการติดเชื้อที่กระจายไปยังมดลูกและท่อนำไข่ได้เสมอไป การตรวจอื่นๆ ที่แพทย์อาจใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ รวมถึงการทำอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน (pelvic ultrasound) การส่องกล้องตรวจท่อนำไข่ (folloposcopy) การส่องกล้องตรวจในช่องท้อง (laparoscopy) และการเก็บชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก (endometrial biopsy)

เนื่องจากการตรวจบางอย่างอาจเป็นการนำแบคทีเรียจากช่องคลอดเข้าไปสู่ปากมดลูก มดลูก และท่อนำไข่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำการเพาะเชื้อหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเบื้องต้น และทำการรักษาก่อนที่จะทำการตรวจอื่นๆ ที่ต้องมีการรุกล้ำ (invasive test)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การรักษาใดที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ?

ยาปฏิชีวนะรูปแบบกินมักจะถูกใช้บ่อยที่สุดในการรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ การตัดสินใจว่าเชื้อโรคใดที่เป็นสาเหตุของโรคอาจเป็นเรื่องยาก และในบางครั้งก็เกิดจากแบคทีเรียมากกว่าหนึ่งชนิด ด้วยสาเหตุนี้ คุณจึงอาจต้องกินยามากกว่าสองชนิดไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและผลเสียต่อการมีบุตร จึงมักเริ่มการรักษาไปก่อนที่ผลการตรวจต่างๆ จะออกมา

ผลการตรวจอาจบอกว่ายาปฏิชีวนะตัวอื่นจำเป็นต่อการรักษาให้หาย ดังนั้น แพทย์ของคุณจึงอาจเปลี่ยนชนิดยากลางคันได้ ยาปฏิชีวนะอาจให้ในรูปฉีดก็ได้ กรณีที่เป็นการติดเชื้ออย่างเฉียบพลันหรือรุนแรง อาจจะต้องรักษาโดยการใช้ยาฉีด ซึ่งอาจต้องรักษาในโรงพยาบาล แม้ว่าจะรู้สึกดีขึ้นได้หลังการได้รับยาปฏิชีวนะเพียงไม่กี่วัน แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องรับยาปฏิชีวนะให้ครบ การไม่รับยาให้ครบอาจทำให้เกิดการดื้อยาของแบคทีเรียและทำให้รักษาได้ยากขึ้นหรืออาจไม่ได้เลย

คู่นอนของคุณจะต้องได้รับการรักษาด้วย แม้ว่าเขาหรือพวกเขาจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ไม่เช่นนั้น คุณอาจจะกำลังแพร่กระจายแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบไปมา คุณควรใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่กำลังรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ในบางกรณี การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นเพื่อรักษาฝีหรือพังผืดที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ในกรณีที่หาได้ยากมาก อาจต้องทำการตัดมดลูกฉุกเฉิน

จะสามารถป้องกันโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้หรือไม่?

ในเมื่อโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น จึงป้องกันได้ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนโดยไม่ได้ป้องกันจะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ หากคุณไม่ได้มีความสัมพันธ์ผูกพันกับคู่นอนที่ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยใช้ถุงยางอนามัยชายและการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งจำเป็น การใส่ห่วงคุมกำเนิดก็ทำให้เกิดโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้หากคุณมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่เดิม การตรวจหาและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนใส่ห่วงคุมกำเนิดจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อย่างมาก

การสวนล้างช่องคลอดก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้เช่นกัน การสวนล้างจะปรับเปลี่ยนเชื้อประจำถิ่นและความเป็นกรดด่างในช่องคลอดและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในช่องคลอด การสวนล้างยังมีผลเสียต่อมูกที่ปากช่องคลอด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการตั้งครรภ์

การตรวจประเมินภาวะมีบุตรยากแบบรุกล้ำเช่น HSG และการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (hysteroscopy) และการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เกี่ยวข้องกับปากมดลูกและมดลูก เช่น การทำเด็กหลอดแก้วหรือการฉีดน้ำเชื้อ (insemination) ก็อาจทำให้เกิดโรคโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้เช่นกันหากคุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่คลินิกรักษาภาวะมีบุตรยากส่วนใหญ่จะทำการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเพาะเชื้อในช่องคลอดก่อนจะทำการตรวจและรักษาภาวะมีบุตรยาก

หากคุณมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันซึ่งทำให้คุณอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และคุณกำลังรับการตรวจหรือรักษาภาวะมีบุตรยาก ควรแจ้งแพทย์เพื่อที่คุณจะได้สามารถรับการตรวจใหม่อีกครั้ง


16 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pelvic inflammatory disease. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/pelvic-inflammatory-disease-pid/)
Pelvic Inflammatory Disease (PID): Warning Signs You Might Have It (https://www.webmd.com/women/guide/what-is-pelvic-inflammatory-disease)
Pelvic Inflammatory Disease: Risk Factors, Symptoms & Treatments. Healthline. (https://www.healthline.com/health/pelvic-inflammatory-disease-pid)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)