กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ทำความรู้จัก “HHS” หรือภาวะความเข้มข้นของเลือดสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน

มาดูกันว่า “HHS” คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด มีวิธีวินิจฉัย รักษา และป้องกันได้อย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ทำความรู้จัก “HHS” หรือภาวะความเข้มข้นของเลือดสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน

Hyperosmolar Hyperglycemic State หรือ HHS คือ ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดเกิน HHS เกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้แก่ การติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือภาวะใดๆ ที่ส่งผลให้ร่างกายมีความเครียดมากๆ ซึ่งทำให้ระบบการควบคุมระดับน้ำตาลไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดมาก เช่น โรคไตวาย จนทำให้ความเหนียวหรือความข้นของเลือดสูงขึ้น

HHS คือภาวะที่มีความร้ายแรงระดับหนึ่ง หากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้ แต่สามารถรักษาได้ง่ายหากไปโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การวินิจฉัยภาวะ HHS

ในการวินิจฉัย แพทย์จะสังเกตอาการผู้ป่วย ซึ่งมักจะซึมลง เรียกไม่ตอบ พูดคุยถามตอบไม่รู้เรื่อง หลับเยอะ อาจมีอาการเพ้อ บางรายอาจมีอาการชัก หรือตรวจร่างกายแล้วพบลักษณะของภาวะขาดน้ำ เช่น ตาโหลหรือตาลึก ผิวไม่เต่งตึง ปากแห้ง อัตราการเต้นของหัวใจเร็ว ความดันต่ำ ส่วนในผู้ป่วยเด็กจะสังเกตจากการที่ร้องไห้แล้วไม่มีน้ำตาไหล แพทย์จะส่งเลือดไปตรวจดูระดับน้ำตาลและความเข้มข้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และความเข้มข้นเลือดสูงกว่า 320 มิลลิออสโมล/กิโลกรัม พร้อมมีอาการดังที่กล่าวมา ก็อาจเป็นข้อยืนยันได้ว่ามีภาวะ HHS จริง และต้องรีบทำการรักษาทันที

วิธีรักษาภาวะ HHS

ในการรักษาภาวะนี้ แพทย์จะทำการลดความเข้มข้นของเลือดและเจือจางระดับน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะให้สารน้ำทางเส้นเลือด ซึ่งก็คือการให้น้ำเกลือที่เราคุ้นเคยกัน แต่การให้สารน้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะให้ในปริมาณมากและรวดเร็ว เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลเจือจางลง ระดับความเข้มข้นของเลือดลดลงอย่างเร็วที่สุด โดยไม่กระทบความสมดุลของสารอื่นๆ ในเลือด ระหว่างนี้จึงต้องมีการวัดระดับเกลือแร่ต่างๆ ในเลือดควบคู่กันไปด้วย

การให้สารน้ำแบบนี้เรียกว่า “Aggressive Hydration” ซึ่งเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุเท่านั้น เพราะต้นเหตุคือภาวะน้ำตาลเกิน ดังนั้นแพทย์จึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโดยกระตุ้นการเก็บน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ด้วยยาที่เรารู้จักกันดีอย่างอินซูลิน (Insulin) นั่นเอง ในช่วงแรกอาจจะให้ยาในปริมาณมากกว่าปกติเพื่อเร่งการคุมระดับน้ำตาล จากนั้นจึงค่อยๆ ลดขนาดยา จนถึงจุดที่ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นยารับประทาน

การป้องกันภาวะ HHS

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า สาเหตุของภาวะ HHS คือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ประกอบกับมีตัวกระตุ้น อันได้แก่ ภาวะการติดเชื้อ การได้รับอุบัติเหตุ จนไปถึงการขาดยา ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการดูแลตนเอง ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเดิมเป็นเบาหวานต้องดูแลตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ออกกำลังกายสร้างภูมิต้านทาน หลีกเลี่ยงการเกิดแผลตามร่างกาย ป้องกันตัวเองให้ไกลจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่สำคัญคือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับคนทั่วไป การป้องกันภาวะนี้ที่ดีที่สุดคืออยู่ให้ห่างจากโรคเบาหวาน โดยรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลให้น้อยลง หลีกเลี่ยงของหวานหรือผลไม้ที่มีรสหวาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ร่างกายก็จะห่างไกลจากภาวะ HHS ที่แสนน่ากลัวได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Joint British Diabetes Societies Inpatient Care Group,The management of the hyperosmolar hyperglycemic state(HHS) in adults with diabetes ,http://www.diabetologists-abcd.org.uk/jbds/jbds_ip_hhs_adults.pdf, August 2012.
Pocket Medicine 6th Edition,Hyperosmolar Hyperglycemic State

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป