กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป

โรคตากุ้งยิงคืออะไร ป้องกันและรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

รวมทุกข้อมูลควรรู้เกี่ยวกับตากุ้งยิง สาเหตุ ชนิดของโรค วิธีการรักษา ยาที่ใช้
เผยแพร่ครั้งแรก 29 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
โรคตากุ้งยิงคืออะไร ป้องกันและรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคตากุ้งยิง เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันใต้เปลือกตา ไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมแอบถ้ำมองอย่างที่เข้าใจผิดกันแต่อย่างใด โดยบริเวณดวงตาที่มักจะเกิดตากุ้งยิงคือ เปลือกตาด้านบน และเปลือกตาด้านล่าง
  • โรคตากุ้งยิงเป็นโรคที่พบได้ในผู้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้จะมีอยู่หลายปัจจัย เช่น ภูมิต้านทานร่างกายลดลง อันเนื่องมาจากการดูแลสุขภาพที่ไม่ดี การใช้สายตามากเกินไป การใช้เครื่องสำอางแล้วลบออกไม่หมด ดวงตาโดนฝุ่นละออง หรือฝุ่นควัน
  • อาการหลักของโรคตากุ้งยิง คือ มีอาการระคายเคืองตามาก มีตุ่มนูนบวมแดง มีน้ำตาไหล และเมื่อเวลาผ่านไป หนองข้างในตุ่มนูนก็จะแตกออก ซึ่งหากไม่รีบรักษาก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น เบ้าตาติดเชื้อ ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • โรคตากุ้งยิงสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา หรือป้ายยาที่ดวงตา แต่หากอาการรุนแรง แพทย์ก็อาจให้เข้ารับการผ่าตัดเอาหนองออกไป และขูดเปลือกตาที่มีการติดเชื้อให้สะอาด
  • โรคตากุ้งยิงอาจร้ายแรงถึงขั้นลุกลามไปถึงสมองได้หากไม่รับรักษา ดังนั้นหากคุณมีอาการผิดปกติบริเวณดวงตา ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพตาได้ที่นี่)

หลายคนน่าจะเคยประสบปัญหาเป็นโรคตากุ้งยิงกันมาก่อน หรืออาจได้ยินในรูปแบบของการแซวว่า ไปแอบดูใครอาบน้ำแล้วจะเป็นตากุ้งยิง ซึ่งความจริงแล้วตากุ้งยิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงคำพูดติดตลกที่พูดติดปากกันมาจนมีหลายคนเข้าใจผิดเท่านั้น 

เพราะความจริงแล้ว โรคตากุ้งยิงก็เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ดังนั้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกันว่า โรคตากุ้งยิงคืออะไรกันแน่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความหมายของโรคตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิง (Stye หรือ Hordeolum) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง หรืออาจจะเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใต้เปลือกตา ไม่ได้เกิดจากการแอบดูหรือการถ้ำมองดังที่เป็นคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด ส่วนบริเวณของดวงตาที่มักจะเกิดโรคตากุ้งยิงขึ้นคือ เปลือกตาด้านบนและเปลือกตาด้านล่าง 

การเกิดโรคตากุ้งยิงนั้นสามารถพบได้ในผู้คนทุกเพศ ทุกวัย โดยผู้ป่วยจะมีอาการบวมแดง รู้สึกร้อน หรือปวดบริเวณเปลือกตา หรืออาจเกิดเป็นตุ่มและถุงหนองได้ด้วย แต่จะไม่เป็นอันตรายต่อสายตาแต่อย่างใด และสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาหยอดตา หรือการป้ายขี้ผึ้งใต้ตา รวมถึงการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิงเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงการอุดตันหรือการติดเชื้อเท่านั้น ซึ่งสามารถแจกแจงได้เป็นข้อต่อไปนี้ 

  • เกิดมาจากแบคทีเรียที่เป็นเชื้อหนองชื่อว่า "สแตฟิโลค็อคคัส ออเรียส" (Staphylococcus aureus)
  • เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณโคนขนตา แล้วทำให้มีเชื้อโรคแทรกซ้อนเข้าไป ซึ่งสาเหตุนี้มีต้นเหตุมาจากภูมิต้านทานของร่างกายลดน้อยลง อันเนื่องมาจาก 
    • พักผ่อนไม่เพียงพอ 
    • รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา 
    • ออกกำลังกายน้อย  
  • ใช้สายตามาก หรือผู้ที่มีสายตาผิดปกติแล้วไม่ได้รับการแก้ไข เช่น สายตายาว สายตาสั้น สายตาเอียง สายตาเข
  • เกิดจากการขยี้ตาบ่อยจนเกินไป ทำให้เปลือกตาไม่สะอาดจนเกิดการติดเชื้อ 
  • เกิดจากการใช้เครื่องสำอางแล้วล้างออกไม่หมด หรือล้างไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคบนผิวหน้า
  • เกิดจากการใส่หรือถอดคอนแทกเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด 
  • มีสิ่งแปลกปลอมจากมลภาวะด้านนอกเข้ามาทำให้เกิดการอุดตัน เช่น ฝุ่นละออง ฝุ่นควัน
  • มีโรคแทรกซ้อน เช่น  โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคต่างๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง โดยสาเหตุนี้จะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุ

โรคตากุ้งอาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาเสมอไป เพราะผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคตากุ้งยิงแล้วมีหนองบริเวณเปลือกตา ก็สามารถหายได้เองเช่นกัน หรือหนองอาจแตกออกเอง แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ควรระวังเพราะในบางกรณี หนองบริเวณดวงตาอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนรบกวนการมองเห็น และทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบากมากขึ้น 

ชนิดของโรคตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิงสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด หรือ ตากุ้งยิงภายนอก (External hordeolum) ตากุ้งยิงชนิดนี้เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา มีลักษณะเป็นตุ่มหนองผุดให้เห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณขอบตา ทั้งยังมีลักษณะเป็นสีเหลือง ตรงกลางรอบๆ นูนแดง เวลากดจะรู้สึกเจ็บ
  2. ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน หรือ ตากุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตาในส่วนของเนื้อเยื่อสีชมพูที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไป ผู้ป่วยจะต้องปลิ้นเปลือกตาออกมา หรือใช้นิ้วคลำจึงจะเห็นตุ่มหนอง เพราะตุ่มหนองของตากุ้งยิงชนิดนี้จะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา โดยมีลักษณะเป็นตุ่มหนองสีเหลืองและจะรู้สึกเจ็บเมื่อใช้นิ้วสัมผัส

    นอกจากนี้ ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบในยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเยื่อบุเปลือกตาด้วย โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ซึ่งมีสาเหตุมาจากรูเปิดเล็กๆ ของต่อมไขมันที่มีเนื่อเยื่อเข้าไปรวมตัวกันอยู่ภายในจนเกิดเป็นตุ่มขึ้นมา 

    แต่อาการจากสาเหตุนี้จะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสโดน และเราสามารถเรียกได้อีกชื่อว่า "ตาเป็นซิสต์" 

อาการของโรคตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงเป็นโรคที่เกิดได้กับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย โดยลำดับอาการตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีสัญญาณของโรคตากุ้งยิง จะเป็นดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเคืองตาหรือคันตาคล้ายมีผงอยู่ในตา ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นที่ส่งสัญญาณบอกว่า ผู้ป่วยอาจเป็นโรคตากุ้งยิง
  2. ผู้ป่วยจะรู้สึกคันตาอยู่ตลอดเวลา และจะคันรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกอยากขยี้ตาอยู่เสมอ 
  3. เมื่ออาการเริ่มต้นไปได้ 1-2 วัน เปลือกตาของผู้ป่วยจะเริ่มเป็นตุ่มนูนบวมแดง และพัฒนาเป็นตุ่มหนองซึ่งอาจเกิดได้ทั้งเปลือกตาบนหรือเปลือกตาล่าง และอาจมีตุ่มหนองโผล่ออกมาหรืออาจซ่อนอยู่ข้างในเปลือกตาก็ได้
  4. ผู้ป่วยอาจมีน้ำตาไหลร่วมด้วย และเกิดการระคายเคืองมากจนมองภาพไม่ถนัด
  5. ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตารุนแรงมากขึ้น เมื่อแตะบริเวณตุ่มก็จะรู้สึกเจ็บ การก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอวก็สามารถทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้ด้วย
  6. เมื่อผ่านไป 3-4 วัน ตุ่มหนองจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีโอกาสที่หนองจะแตกได้ ซึ่งเมื่อหนองแตก ผลข้างเคียงอาจทำให้ขี้ตาของผู้ป่วยเป็นสีเขียวได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตากุ้งยิงยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ปรากฎขึ้นได้ระหว่างเป็นโรคนี้ เช่น 

  • มีอาการปวดหนังตา โดยจะเกิดขึ้นเวลาที่กลอกตาหรือหลับตา 
  • มีอาการบวมที่เปลือกตา และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นก้อนอยู่ที่เปลือกตา 
  • รู้สึกคันที่ตาเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา และแพ้แสงแดด 
  • เกิดอาการเปลือกตาบวมมากจนตาปิด หรือบางรายอาจร้ายแรงมากกว่านั้นคือ มีหนองไหลออกมาจากเปลือกตา 

สำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกระคายเคืองตามาก หรือกลัวว่าตุ่มหนองที่เปลือกตาจะแตกเองจนทำให้ส่งผลกระทบต่อดวงตา ให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ตั้งแต่วันแรกๆ ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตากุ้งยิง ซึ่งโดยส่วนมาก โรคตากุ้งยิงมักจะมีตุ่มขึ้นเพียงตุ่มเดียว และไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา แต่จะทำให้เกิดความระคายเคือง สร้างความรำคาญต่อผู้ป่วยเพราะทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่สะดวกนัก

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตากุ้งยิง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตากุ้งยิงอาจเกิดได้จากความผิดปกติของภูมิต้านทาน รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาความสะอาดดวงตาดีพอเมื่อเป็นโรคตากุ้งยิง โดยภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้คือ

ดังนั้น ทางที่ดีผู้ป่วยที่เป็นโรคตากุ้งยิงจึงไม่ควรปล่อยนิ่งเฉยจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ควรมีการทำความสะอาดดวงตาอย่างถูกวิธี และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที เพราะหากไม่รีบรักษา ผู้ป่วยอาจเกิดแผลที่บริเวณแก้วตา หรือเกิดความผิดปกติที่หนังตาตามมาได้

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

  • สายตาผิดปกติ
  • อาการปวดแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
  • ก้อนตุ่มหนองมีขนาดใหญ่มากขึ้น
  • พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา
  • เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด
  • เปลือกตาแดง หรือตาแดงทั่วไปหมด
  • มีอาการแพ้แสงแดด
  • กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีกหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
  • พบเลือดออกบริเวณก้อนที่เปลือกตา

การวินิจฉัยโรคตากุ้งยิง

แพทย์จะวินิจฉัยโรคตากุ้งยิงโดยอิงจากอาการต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ตรวจพบก้อนนูนที่บริเวณหนังตาหรือเปลือกตา
  • มีอาการเจ็บก้อนนูนเวลาใช้นิ้วกด 
  • มีอาการตาแดง มีขี้ตาชัดเจน 
  • มีก้อนนูนเป็นไตแข็งๆ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ ตาไม่แดง เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ หรือความระคายเคืองเหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในดวงตา 

การรักษาโรคตากุ้งยิง

เมื่อคุณมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคตากุ้งยิง ให้รีบไปปรึกษาจักษุแพทย์โดยเร็ว เพราะในระยะเริ่มแรกนั้น อาการของโรคจะยังไม่เป็นโรคตากุ้งยิงในทันที แต่จะมีลักษณะเป็นเหมือนภาวะเปลือกตาอักเสบ วิธีบรรเทาอาการคือ ให้ใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณดวงตา ซึ่งวิธีนี้ยังป้องกันไม่ให้เกิดการรวมตัวของเชื้อโรคจนเกิดเป็นตุ่มหนองได้ด้วย 

การรักษาโรคตากุ้งยิงนั้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา และยาจะต้องถูกสั่งโดยแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารักษาเอง ซึ่งโดยส่วนมาก ยาที่ใช้รักษาโรคตากุ้งยิงมักเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะแบบหยอดตา ป้ายตา 

และในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจต้องสั่งยาปฏิชีวนะแบบรับประทานร่วมด้วย 

แต่หากผู้ป่วยเป็นตุ่มหนองขึ้นมาจนยาอาจรักษาได้ไม่ดีพอ ก็อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตุ่มหนอง และขูดบริเวณเปลือกตาที่มีการติดเชื้อให้สะอาด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และสามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ในครั้งเดียว

1. การรักษาด้วยยาสำหรับรับประทาน

  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร แต่ข้อควรระวังในการใช้ยาชนิดนี้คือ ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และไม่ควรใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้ เพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดท้อง
    • ทีโอฟิลลิน (Theophyllin)
    • ไดจอกซิน (Digoxin)
    • คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine)
    • ไซโคลสปอรีน (Cyclosporine)
    • วาฟารีน (Warfarine)
    • โลวาสแตติน (Lovastatin)
    • ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
  • ไดคลอกซาซิลลิน (Dicloxacillin) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร
  • เตตราไซคลีน (Tetracycline) ให้รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง แต่มีข้อควรระวังคือ หากใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาโรคกระเพาะอาหารหรือยาระบาย จะทำให้การดูดซึมของยานี้ลดลง และมีผลทำให้ระดับประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลงด้วย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ และห้ามใช้ยานี้ในหญิงมีครรภ์ด้วย

2. การรักษาด้วยยาป้ายตาและยาหยอดตา

  • ขี้ผึ้งบาซิทราซิน (Bacitracin ophthalmic ointment) สำหรับผู้ป่วยรายที่มีอาการค่อนข้างมาก ให้ป้ายบริเวณแผลวันละ 4-6 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ส่วนผู้ป่วยรายที่เป็นน้อย ให้ป้ายวันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน
  • ยาหยอดตาโทบรามัยซิน (Tobramycin ophthalmic solution) ให้หยอดตาทุกๆ 4 ชั่วโมงจนกว่าอาการจะดีขึ้น

3. การรักษาด้วยการผ่าตัดระบายหนอง

ขั้นตอนการผ่าตัดระบายหนองจะมีกระบวนการดังต่อไปนี้

  • จักษุแพทย์จะทำความสะอาดบริเวณที่ต้องผ่าตัด 
  • จากนั้น จักษุแพทย์จะใช้ยาชาหยอดตา เช่น ยาหยอดโพรพาราเซน (proparacaine eye drop) แล้วจึงฉีดยาชาในปริมาณ 1-2% ในบริเวณที่จะลงมีด แต่ไม่ควรฉีดเข้าไปในตุ่มบริเวณเปลือกตาโดยตรง ซึ่งยาชาที่ใช้คือ ยาลิโดเคนร่วมกับอะดรีนาลีน (Lidocaine with Adrenarine) 
  • จักษุแพทย์แพทย์จะทำการลงมีดซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามตำแหน่งของตุ่มบริเวณเปลือกตา 
    • หากสามารถเห็นตุ่มชัดเจนทางด้านนอกของเปลือกตาในแนวนอน จักษุแพทย์จะลงมีดผ่านตำแหน่งของตากุ้งยิง
    • หากสามารถมองเห็นตุ่มด้านในเปลือกตาได้ จักษุแพทย์จะลงมีดตั้งฉากในด้านเยื่อบุตาขาว ผ่านไปยังแผ่นหนังตา (Tarsal plate) ในเปลือกตาซึ่งมีต่อมไขมันมัยโบเมียน (Meibomain glands) อยู่ โดยให้มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร หรือตามความเหมาะสมโดยประมาณ และให้ขนานตามทิศทางของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาด้วย

      แต่ไม่ควรลงมีดผ่านไปถึงขอบเปลือกตา (lid margin) เนื่องจากเมื่อแผลหายแล้ว อาจทำให้ขอบเปลือกตาของผู้ป่วยผิดรูปไปจากเดิม 
  • ภายหลังจากการรักษา แพทย์มักจะปิดตาข้างที่ผ่าตัดไว้เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยลดอาการบวมได้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรลดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้สายตา เช่น ไม่ควรขับรถเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากมีอาการปวดบริเวณที่ผ่าตัด ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล  (Paracetamol) ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุกๆ 4 ชั่วโมงหรือเมื่อมีอาการ

ผลข้างเคียง

โรคตากุ้งยิงถือเป็นโรคที่นับว่าสามารถหายเองได้ หากมีการรักษาความสะอาดที่ดี ร่วมกับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หรือการใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้อาการของผู้ป่วยก็จะหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือมีเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก และไม่มีการรักษาความสะอาดของใบหน้าและดวงตาอย่างเพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบที่ลุกลามได้ เช่น 

  • เกิดการอักเสบลุกลามไปทั่วหนังตา 
  • เกิดการติดเชื้อลึกเข้าไปถึงด้านในเบ้าตา 
  • เกิดการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด
  • โรคลุกลามเข้าไปถึงบริเวณด้านหลังของลูกตา และลามไปถึงสมอง ซึ่งหากผู้ป่วยปล่อยให้ตนเองมีอาการรุนแรงถึงระยะนี้ ก็อาจจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตากุ้งยิง

  • ประคบบริเวณดวงตาด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที ทำติดต่อกัน 3-4 วัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมและเจ็บ อีกทั้งวิธีการนี้จะช่วยทำให้รูของต่อมใต้เปลือกตาเปิด ทำให้ไม่เกิดการอุดตัน และผู้ป่วยควรหลับตาในเวลาที่ประคบด้วย 
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 
  • งดใช้เครื่องสำอางชั่วคราว 
  • หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทกเลนส์ 
  • ไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเอง เพราะอาจก่อให้เกิดอาการอักเสบมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อดวงตา

การป้องกันโรคตากุ้งยิง

การป้องกันโรคตากุ้งยิงสามารถทำได้ง่ายมากๆ นั่นคือ การรักษาความสะอาดให้กับตัวตาของตนเอง ล้างมือให้สะอาดอยู่เป็นประจำ และไม่นำมือที่สกปรกไปขยี้ตา รวมทั้งรักษาความสะอาดของใบหน้าและเส้นผม ควรสระผมบ่อยๆ อย่าให้ผมแยงตาเพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย และหากเริ่มมีอาการคล้ายกับเป็นโรคตากุ้งยิง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
"Eyelid Disorders Chalazion & Stye". NEI. 4 May 2010. Archived from the original on 18 October 2016. Retrieved 14 October 2016.
Lindsley K et al., Non-surgical interventions for acute internal hordeolum (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/28068454), 9 January 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคตากุ้งยิง (Hordeolum)
โรคตากุ้งยิง (Hordeolum)

ไขข้อกระจ่างเกี่ยวกับโรคตากุ้งยิง ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร อาการแทรกซ้อน การรักษาทำได้อย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่ม