ตกขาว เป็นอาการปกติที่พบบ่อยในเพศหญิง ซึ่งสามารถพบได้ในช่วงใกล้จะมีรอบเดือน ช่วงตั้งครรภ์ หรือ แม้แต่หลังคลอดได้ ซึ่งตกขาวปกตินั้นจะเป็นมูกสีขาวใส ไม่มีกลิ่นและไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ มาร่วมด้วย
อาการตกขาวมีกลิ่น เป็นอาการตกขาวผิดปกติ ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดการอักเสบติดเชื้อขึ้นในช่องคลอด โดยอาจเป็นการอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือการติดเชื้อรา เนื้องอก การแพ้สารเคมีและยา การบาดเจ็บของอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เชื้อที่ทำให้อาการตกขาวมีกลิ่นรุนแรงและผิดปกติมากที่สุดก็คือเชื้อแบคทีเรีย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
สาเหตุของการเกิดตกขาวมีกลิ่น
โดยปกติช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นหรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) โดย lactobacilli จะทำให้สภาพภายในช่องคลอดเป็นกรด โดยมีค่า pH น้อยกว่า 4.5 (3.8-4.2) ซึ่งจะทำห้แบคทีเรียก่อโรคและปรสิตอื่นถูกยับยั้งไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เมื่อไรที่จำนวนแบคทีเรียชนิดนี้ลดลง เช่น เมื่อร่างกายอ่อนแอ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือสวนล้างช่องคลอดบ่อยๆ จำนวนแบคทีเรียแลคโตบาซิลไลก็จะลดลง จากนั้นเมื่อเจอกับความอับชื้น หรือสัมผัสเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเข้า ก็ช่องคลอดจะอักเสบ ทำให้เกิดภาวะตกขาวตามมา
อาการและอาการแสดงของตกขาวมีกลิ่น
ตกขาวมีกลิ่นซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้น กลิ่นจะค่อนข้างรุนแรง เช่น เหม็นอับคล้ายปลาเค็ม และจะยิ่งรุนแรงขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์หรืออยู่ในช่วงระยะหมดประจำเดือน สีของตกขาวจะเป็นสีขาวปนเทา หรือเหลืองปนเขียว
อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงของกลิ่นในแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนไม่มีกลิ่น บางคนมีกลิ่นรุนแรงจนสัมผัสได้นอกร่มผ้า และเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะมีอาการระคายเคืองและอาการเจ็บมากขึ้น ซึ่งหากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดเกิดขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ ก็อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และลูกที่เกิดมาก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียไปด้วย
การวินิจฉัยและรักษาอาการตกขาวมีกลิ่น
เมื่อไปพบแพทย์ด้วยอาการตกขาวมีกลิ่น แพทย์จะทำการตรวจภายใน และใช้ไม้พันสำลีป้ายเอาตกขาวปริมาณเล็กน้อยไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อส่องหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของตกขาวมีกลิ่น การเพาะเชื้อนี้จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นซ้ำบ่อย หรือดื้อต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ไมจำเป็นต้องทำทุกราย
จากนั้นแพทย็จะให้ยาปฏิชีวนะในการฆ่าเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการตกขาวนั้น ยาที่ได้อาจเป็นยาเม็ดรับประทาน หรือ ยาสอดช่องคลอด หรือ ทั้งสองอย่าง ผู้ป่วยต้องรับประทาน หรือใช้อย่างต่อเนื่องจนครบตามที่แพทย์สั่ง ร่วมกับปฏิบัติตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตลอดการรักษา ถ้าจำเป็นต้องมี ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะชุดชั้นใน เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ที่คิดว่าต้องสัมผัสโดยตรง
- ไม่ควรใช้แผ่นรองอนามัยตลอดเวลา เพราะทำให้เกิดความอับชื้น หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะเวลาที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านหรือเดินทาง
- ไม่สวนล้างช่องคลอด หรือทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำยาทำความสะอาดรุนแรง หรือมีส่วนผสมของน้ำหอม เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น ยังกระตุ้นให้เกิดการระคายเคือง และลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ป้องกันโรคได้ การทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือการล้างทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์ภายนอกด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆ เท่านั้น จากนั้นซับให้แห้ง ไม่ต้องโรยแป้งหรือประพรมน้ำหอมจะดีที่สุด
- รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอเพื่อช่วยในการขับถ่ายเชื้อและยาออกจากร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดอาหารรสจัดและอาหารหมักดองในช่วงทำการรักษาเด็ดขาด
- งดสูบบุหรี่
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างรักษา
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคให้มากที่สุด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด โปร่ง และหลวมสบาย เพื่อให้อากาศถ่ายเทความอับชื้น ไม่ควรสวมเสื้อผ้ารัดแน่นจนเกินไป เช่น กางเกงรัดรูป ชุดรัดหน้าท้อง กางเกงยีนคับแน่น
- ไปตรวจและพบแพทย์ตามนัด หากมีอาการผิดปกติก่อนนัด เช่น อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะผิดปกติจากผลข้างเคียงการใช้ยา ให้รีบพบแพทย์ก่อนนัดได้
- หากพบความผิดปกติหลังการรักษา เช่น มีเลือด มีหนอง เจ็บแสบช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด ก็ควรกลับไปพบแพทย์เช่นกัน ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด