ไขความเข้าใจผิดของโรค “กลากน้ำนม” โรคผิวหนังมักเกิดในเด็กซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับกลากเกลื้อนเลย
หลายคนโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย คงเคยได้ยินชื่อโรคที่เรียกว่า “กลากน้ำนม” ซึ่งถ้าฟังแค่ชื่อก็อาจเข้าใจผิดคิดว่าหมายถึงโรคกลาก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อรา แต่จริงๆ แล้วโรคกลากน้ำนมเป็นคนละโรคกับโรคกลากโดยสิ้นเชิง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผื่นกลากน้ำนมคืออะไรและมีลักษณะอย่างไร?
โรคกลากน้ำนม หรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า “Pityriasis Alba” (Pityriasis ในภาษาละตินแปลว่า ขุย ส่วน Alba แปลว่า สีขาว) เป็นผื่นที่ไม่อันตราย ไม่ใช่มะเร็ง และไม่ใช่การติดเชื้อ แต่เป็นการอักเสบเล็กน้อยของผิวหนัง ที่มักมีอาการเรื้อรัง
ผื่นกลากน้ำนมมีสีค่อนข้างขาว แต่ไม่ขาวสนิท อาจกล่าวได้ว่าเพียงแค่จางกว่าสีผิวปกติ ขอบเขตไม่ชัด รูปร่างกลมหรือรี มักพบขุยขนาดเล็กได้ทั่วทั้งผื่น อาจมีอาการคันได้เล็กน้อยแต่พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่มักพบบนใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณแก้ม อย่างไรก็ตามสามารถพบได้ในตำแหน่งอื่นๆ เช่น คอ ลำตัวส่วนบน และแขน ผื่นอาจมีเพียงตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งก็ได้ โดยทั่วไปมักพบ 4 ถึง 20 ตำแหน่ง มักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5 ถึง 5 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบว่าผื่นกลากน้ำนมจะชัดขึ้นหลังออกแดดเนื่องจากผิวหนังข้างเคียงที่มีเม็ดสีปกติจะสร้างเม็ดสีเพิ่มเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Ray) ทำให้บริเวณผื่นกลากน้ำนมดูขาวขึ้น ส่วนขุยอาจเพิ่มขึ้นในภาวะที่มีอากาศแห้ง เช่น ฤดูหนาวหรือสิ่งแวดล้อมที่ใช้เครื่องปรับอาการ โดยทั่วไปแล้วผื่นกลากน้ำนมสามารถหายเองได้ แต่ค่อนข้างใช้เวลานานเป็นหลักเดือนถึงหลักปี สีผิวจะกลับมาเป็นปกติเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับสภาพผิว พันธุกรรม สภาวะแวดล้อม และการดูแลผิวในแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยกลากน้ำนมจะกลับมาเป็นสีผิวปกติได้ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ผื่นกลากน้ำนมเจอในคนกลุ่มใดบ้าง?
ผื่นกลากน้ำนมมักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 3-16 ปี โดย 90 % พบในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบว่าในคนที่มีสีผิวคล้ำ หรือผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบเจอภาวะดังกล่าวมากกว่าคนทั่วไป
ผื่นกลากน้ำนมถูกจัดอยู่ในเกณฑ์การวินิจฉัยรองสำหรับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Minor criteria of Hanifin and Rajka) แต่ไม่ใช่ว่าคนที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังทุกคนจะต้องมีผื่นกลากน้ำนม จากการศึกษาของประเทศไทยพบว่า ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถพบผื่นกลากน้ำนมได้ประมาณ 40 %
นอกจากผื่นกลากน้ำนมจะสัมพันธ์กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแล้ว ภาวะอื่นที่อาจพบร่วมได้ ได้แก่ ภาวะต่อไขมันฝ่อ การขาดธาตุเหล็ก และการขาดทองแดง แต่พบได้น้อย
อะไรคือสาเหตุของผื่นกลากน้ำนม?
จากงานวิจัยปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผื่นกลากน้ำนมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสมมติฐานว่าเกิดจากภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรังจนทำให้เซลล์สร้างเม็ดสี (melanocyte) ที่อยู่บริเวณชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า (epidermis) ได้รับบาดเจ็บ เซลล์ดังกล่าวจึงสร้างเม็ดสี (melanin pigment) ได้ลดลง ผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบจึงมีขาวกว่าตำแหน่งปกติ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การวินิจฉัยผื่นกลากน้ำนมทำอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว ผื่นกลากน้ำนมสามารถวินิจฉัยได้ด้วยลักษณะของผื่นและประวัติผู้ป่วย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์หรือตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคหรือภาวะบางอย่างมีอาการคล้ายกับผื่นกลากน้ำนม เช่น เกลื้อน (tinea versicolour) ภาวะสีผิวจางลงตามหลังผิวหนังอักเสบจากการบาดเจ็บทางผิวหนัง (post-inflammatory hypopigmentation) โรคด่างขาว (vitiligo) โรคมะเร็งบริเวณผิวหนังบางชนิด (cutaneous T-cell lymphoma หรือ mycosis fungoides) ผื่นปื้นขาวที่สัมพันธ์กับความผิดปกติในสมอง (ash leaf macules in tuberous sclerosis complex หรือ hypomelanosis of Ito) โรคเหล่านี้มีความจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม โดยอาจใช้การขูดผิวหนังเพื่อย้อมสีเชื้อรา ส่องด้วยแสงชนิดพิเศษเพื่อดูโรคด่างขาว ตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งย้อมสีเพิ่มเติมในโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด หรือตรวจร่างกายในระบบอื่นๆ เพื่อหาความผิดปกติร่วม ในภาวะผื่นปื้นขาวที่สัมพันธ์กับความผิดปกติในสมอง ดังนั้นหากพบว่าผิวมีผื่นขาวขึ้น จึงอาจสรุปเองไม่ได้ว่าเป็นผื่นกลากน้ำนม แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องเหมาะสม
ผื่นกลากน้ำนมสามารถรักษาได้อย่างไร?
ผื่นกลากน้ำนมสามารถหายได้เองได้ แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ระยะเวลาที่สีผิวจะกลับมาเป็นปกติขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยการดูแลผิวที่ถูกวิธีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สีผิวกลับมาสู่สีปกติเร็วขึ้น
ตัวอย่างการดูแลผิวที่สามารถทำได้เอง มีดังนี้
- อาบน้ำโดยใช้น้ำอุณหภูมิห้อง ไม่ร้อนจนเกินไป
- ระยะเวลาที่ใช้ในการอาบน้ำแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 10 นาที
- ใช้สบู่ชนิดเหลวที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือสารก่อการแพ้ต่อผิวหนัง
- ไม่อาบน้ำเกินวันละ 2 ครั้ง
- หลังอาบน้ำแล้วซับตัวเพียงหมาดๆ ไม่ใช้ผ้าเช็ดหรือขัดผิว
- หลังอาบน้ำเสร็จใช้สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทันที โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ หรือสารก่อการแพ้ต่อผิวหนัง
- ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
- หากมีภาวะผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร่วมด้วย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นทุกครั้งที่รู้สึกว่าผิวแห้ง
การดูแลผิวอย่างถูกวิธี นอกจากจะช่วยให้สีผิวกลับมาสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นแล้ว ยังสามารถลดอาการคันได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการคันบริเวณผื่นมาก อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์แบบอ่อนที่เหมาะสมกับอายุของเด็กทาได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และต้องใช้ยาดังกล่าวตามวิธีที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อยาทาสเตียรอยด์ทาเองเนื่องจากมีผลข้างเคียงที่อันตรายมาก
นอกจากการดูแลผิวหนังที่ถูกต้องตามที่ได้กล่าวในข้างต้น การป้องกันผิวหนังจากแสงแดดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย โดยราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academic of Pediatrics) ได้แนะนำการป้องกันผิวหนังจากการทำลายของแสงแดดด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- พยายามอยู่ในที่ร่มหรือกางร่มที่สามารถกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้เมื่อต้องออกแดด
- ใส่หมวกปีกกว้าง
- สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
- หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารสถานที่ในช่วงเวลาที่มีแสดงแดดจัด หรือเวลา 10.00-16.00 น. (แต่ในประเทศไทย เนื่องจากใกล้เส้นศูนย์สูตร มีความเข้มข้นของรังสีอัลตราไวโอเลตมากกว่า จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงแสงแดดตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.)
- ใช้สารกันแดดชนิดทา (sunscreen) โดยสารกันแดดชนิดทานั้นสามารถใช้ได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะต้องเป็นชนิด Physical Sunscreen ซึ่งมีไทนาเนียมออกไซด์ (Titanium Oxide) หรือซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) เป็นสารที่ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง เนื่องจากสวนประกอบของสารกันแดดชนิดทาที่ใช้ในแต่ละผลิตภัณฑ์อาจมีข้อจำกัดเรื่องอายุของผู้ใช้แตกต่างกัน
โดยสรุป โรคกลากน้ำนมเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง มักพบในเด็ก มีความสัมพันธ์กับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถหายได้เองได้แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน หากได้รับการดูแลผิวที่ดีและการป้องกันผิวหนังจากแสงแดดที่เหมาะสมจะทำให้โรคหายเร็วขึ้น