ฮอร์โมน เป็นสารเคมีที่หลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อ ฮอร์โมนมีหลายชนิด ฮอร์โมนสำคัญที่มีบทบาทต่อความเป็นผู้หญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) กับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ร่างกายแสดงความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์ เช่น ทำให้สามารถสืบพันธุ์ได้ หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น มูกในช่องคลอดเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากร่างกายสามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้เป็นปกติ ผิวพรรรก็จะดูเต่งตึง สดใส มีน้ำมีนวล เซลล์ต่างๆ จะเสื่อมสภาพช้าลง กระดูกก็จะมีความแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
ในภาวะที่ผู้หญิงไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้ปกตินั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รังไข่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้อย่างปกติ ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีโรคหรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับรังไข่จึงต้องมีการตัดรังไข่ออก 1 หรือ 2 ข้าง ซึ่งการสูญเสียรังไข่ทั้งสองข้างจะทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิง รวมถึงไม่สามารถมีเลือดระดูได้เองอย่างถาวร
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แม้จะไม่มีได้เป็นโรคอะไรเลย เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็จะสร้างฮอร์โมนเพศหญิงได้น้อยลงเองตามธรรมชาติ ทำให้ถึงช่วงอายุประมาณ 48-52 ปีก็จะไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป วัยนี้มักเรียกกันว่า “วัยหมดประจำเดือน” หรือ “วัยทอง” รังไข่จะหยุดทำงานต่อเนื่องนาน 12 เดือนขึ้นไป
ผู้ที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น แต่ไม่ได้พบในทุกราย และความรุนแรงของอาการแต่ละคนก็ไม่เท่ากันด้วย อาการผิดปกติดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
- ด้านร่างกาย มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกง่าย และขี้ร้อนผิดปกติ ผิวพรรณเริ่มแห้งและเหี่ยว หน้าอกมีขนาดเล็กลง มีอาการปวดข้อ ปวดหลัง มีเพศสัมพันธ์แล้วรู้สึกเจ็บแสบในช่องคลอด เวลาถ่ายปัสสาวะอาจมีอาการแสบขัดบริเวณช่องเปิดของท่อปัสสาวะ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเมือกที่ทำหน้าที่หล่อลื่นบริเวณจุดซ่อนเร้นมีปริมาณลดลง
- ด้านจิตใจ มีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวายใจ เบื่อคนรอบตัวและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน บางรายอาจมีอาการซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับยาก
ข้อแนะนำในการให้ฮอร์โมนทดแทน
โดยปกติแล้ว เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยอันสมควร หรือในกรณีที่สตรีวัยทองมีอาการต่างๆ มาก หรือตรวจพบความผิดปกติของร่างกาย เช่น ความหนาแน่นของกระดูกลดลงจนมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาอาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้อาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจดีขึ้น
ฮอร์โมนทดแทนที่ใช้รักษาภาวะขาดฮอร์โมนเพศหญิง
การให้ฮอร์โมนทดแทน คือ การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์หรือสกัดจากธรรมชาติที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกันกับกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย รูปแบบของฮอร์โมนทดแทนที่ใช้รักษามีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วยและความเหมาะสมในการรักษา เช่น ชนิดยาเม็ดฮอร์โมนให้รับประทาน ชนิดแปะผิวหนัง ทาผิวหนัง ฉีด หรือสอดในช่องคลอด ฮอร์โมนทดแทนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการใช้ได้ดังนี้
- ฮอร์โมนทดแทนชนิดผสมเอสโตรเจนและโพรเจสโตรเจน (Estrogen and Progestogen) เป็นฮอร์โมนทดแทนที่ผสมฮอร์โมนเพศหญิงทั้งสองตัว เหมาะสำหรับผู้ที่อาการวัยทอง หรือหญิงที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้เอง แต่ยังมีมดลูกอยู่ ฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนธรรมชาติจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ฮอร์โมนชนิดนี้สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย ได้แก่
- ชนิดที่ใช้เป็นรอบเดือน (Cyclic regimen) แบ่งเป็นชนิด 21 และ 28 เม็ด (กรณี 28 เม็ด 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นยาหลอกหรือธาตุเหล็ก) โดยเป็นการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน 21 วันและใน 12 วันหลังจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนร่วมด้วยเพื่อให้ระดับฮอร์โมนใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยจะมีช่วงที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน 7 วัน ทำให้มีประจำเดือนสม่ำเสมอมาในช่วง 7 วันนี้ ฮอร์โมนชนิดนี้เหมาะกับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหมดประจำเดือนช่วงต้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Oilezz®, Triquilar®, Trinordiol® เป็นต้น
- ชนิดที่ต้องใช้ต่อเนื่อง (Continuous combined regimen) เป็นการให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในปริมาณที่เท่ากันทุกวันเพื่อให้ไม่ต้องมีประจำเดือน ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนมานานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ตัวอย่างยาที่มีฮอร์โมน 2 ตัว ในปริมาณเท่ากันทุกเม็ด ได้แก่
- ชนิดฮอร์โมนสูง เช่น Microgynon ED50®, Ovulen®, Lyndiol®, Anovlar®, Gynovlar®, Minilyn®, Ovostat®, Eugynon®, Norinyl® เป็นต้น
- ชนิดฮอร์โมนต่ำ เช่น Diane-35®, Preme®, Tina®, Sucee®, Cilest®, Yasmin®, Microgynon ED30®, Nordette®, Microgest®, AnNa®, Marvelon®, Prevenon®, Minulet®, Gynera®, Mercilon®, Meliane® เป็นต้น
- ฮอร์โมนทดแทนชนิดเอสโตรเจนเดี่ยว (Estrogen only) จะเป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการวัยทองและผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว ตัวอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนเดี่ยว ได้แก่ Norethisterone, Levonorgestrel, Ethynodiol Diacetate, Desogestrel เป็นต้น
ข้อควรรู้และควรระวังในการใช้ฮอร์โมนทดแทน
- ไม่ควรใช้ฮอร์โมนทดแทนในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน โรคหลอดเลือดในสมองตีบหรืออุดตัน โรคหัวใจ เป็นโรคตับชนิดรุนแรง มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมะเร็งเต้านม หรือมีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านม มีก้อนเนื้อผิดปกติที่เต้านม เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนาน 10-15 ปี หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทนแพทย์จะพิจารณาใช้เฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น และต้องติดตามการรักษารวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
- ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงประวัติโรคที่เป็น และประวัติการแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาและผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดจากการใช้ฮอร์โมนทดแทน
- หากตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ฮอร์โมนทดแทน
- การใช้ฮอร์โมนทดแทนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด อาการเจ็บเต้านม ซึ่งพบได้บ่อยในช่วง 3-6 เดือนแรกที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน และเมื่อใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างสม่ำเสมอ อาการเหล่านี้มักจะหายไปเอง นอกจากนี้ อาจพบอาการปวดศีรษะ หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่อาการจะหายไปหากหยุดใช้ยา