วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย

วิธีการวางแผนป้องกัน และการสื่อสารกับผู้ที่อยากฆ่าตัวตาย
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
วิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย

การฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาทางสังคมที่น่าสะเทือนใจ และเป็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา คุณอาจไม่รู้ว่าทั่วโลกในทุกๆ 40 วินาที จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน และหากคิดเป็นชั่วโมง จะหมายความว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 90 คน

การฆ่าตัวตายเกิดจากอะไร

สาเหตุของการฆ่าตัวตายส่วนมากมักมาจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท หรืออาจมีปัญหาชีวิตที่หาทางแก้ไขไม่ได้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ปัญหาครอบครัว ความรัก หรือปมด้อยตั้งแต่ในวัยเด็ก และคิดว่าการฆ่าตัวตายคือ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ดังนั้นสาเหตุของการฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นการปัญหาด้านจิตใจที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นรายบุคคล ที่สำคัญควรมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือหรือการป้องกันฆ่าตัวตายกลับไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนมากมักจะอยู่ในรูปแบบของการแจกแจงพฤติกรรม หรือบุคลิกของคนที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตาย แต่ยังไม่มีการให้ความรู้ในเชิงลึกว่า คุณสามารถช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างไรบ้าง ทั้งกับตัวเองและคนรอบตัว

คุณสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

วางแผนป้องกัน ทำอย่างไรดีเมื่อเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

คุณสามารถวางแผนป้องกันล่วงหน้าได้ว่าหากคุณรู้สึกซึมเศร้า หรือพบเจอภาวะปัญหาที่ยากจะรับมือจนเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายขึ้นมา คุณจะมีขั้นตอนการช่วยเหลือตัวเองอย่างไร 

  • รู้จักสังเกตตนเองบ่อยๆ: ว่าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกเศร้าหมอง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ให้สังเกตว่าอาการนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อใด มีใครอยู่ในสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องนั้นบ้าง เพื่อคุณจะได้รู้สาเหตุที่ทำให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตายว่าเกิดจากอะไร นั่นจะทำให้สามารถแก้ไขได้ถูกจุด
  • ทำอะไรดี เมื่อรู้สึกหดหู่จนอยากฆ่าตัวตาย: ลองคิดว่ามีกิจกรรมไหนที่คุณสามารถทำได้บ้าง เพื่อเบนความคิดอยากฆ่าตัวตายไปเป็นอย่างอื่นแทน เช่น การเดินเล่น ฟังเพลง เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำเบเกอรี่ ออกไปช้อปปิ้ง หาหนังสนุกๆ ดู หรือการออกไปอยู่ในสถานที่ซึ่งมีผู้คนมากๆ มีแสงสี มีสังคม เช่น สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ก็อาจช่วยลดความคิดเรื่องฆ่าตัวตายได้
  • โทรหาใครดี เมื่อรู้สึกหดหู่จนอยากฆ่าตัวตาย: บันทึกเบอร์โทรศัพท์คนใกล้ชิดสักคนที่คุณจะโทรหาเมื่ออยากฆ่าตัวตาย เพื่อระบายความรู้สึก และบอกสัญญาณเตือนให้คนรอบตัวรับรู้ว่าคุณอยากฆ่าตัวตาย เช่น เพื่อนสนิท คนในครอบครัว คนรัก หรือจิตแพทย์ประจำตัว

เมื่อรู้สึกหดหู่จนอยากฆ่าตัวตาย ต้องทำอย่างไร

เมื่อไรก็ตามที่คุณเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย คุณสามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้  

  • ขอให้ตั้งสติ: อาจเป็นเรื่องยากที่สุด แต่เป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดสำหรับกรณีนี้ อย่าเพิ่งลงมือกระทำการใดๆ ในช่วงที่รู้สึกหดหู่จนอยากฆ่าตัวตาย ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จหลายคนมักมีความคิดชั่ววูบแล้วลงมือทันที ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันเวลา 
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับตัวเอง: เก็บสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธฆ่าตัวตายได้ให้ห่างจากตัวคุณให้หมด เช่น มีด เชือก สารเคมี ยาบางชนิด
  • อย่าปล่อยให้ตนเองอยู่คนเดียว: เพราะการอยู่คนเดียวจะทำให้คุณจมอยู่กับความเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้โทรศัพท์หาใครสักคนที่คุณสบายใจ เพื่อระบายความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายออกมา หรือออกไปข้างนอกให้ได้อยู่ท่ามกลางผู้คน แต่อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่คนเดียว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด: หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การทำให้ตัวเองมึนเมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติดจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ นั่นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะความจริงแล้วสิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวกระตุ้น ให้คุณเกิดความคิดชั่ววูบขึ้นมาว่า อยากฆ่าตัวตายมากขึ้นด้วยซ้ำ 
  • นอนหลับให้เพียงพอ: การพักผ่อนน้อยจะทำให้คุณเกิดภาวะซึมเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ คุณควรปรับเวลานอนให้เพียงพอ หรือเฉลี่ยประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันสำหรับวัยผู้ใหญ่
  • ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายจะทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้เพราะร่างกายได้หลั่งฮอร์โมนหลายชนิดออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน" (Endorphin) ลองออกไปวิ่ง ว่ายน้ำ หรือหากีฬาที่ชอบ จากนั้นลองออกกำลังประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ คุณอาจรู้สึกว่าสภาพจิตใจดีขึ้น สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ไม่เศร้าหมองเหมือนแต่ก่อน 
  • อย่าสนใจเสียงรอบข้างมากจนเกินไป: อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนฆ่าตัวตายมักมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ หรือความคิดแง่ลบของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง ลองปรับทัศนคติใหม่ไม่ฟังเสียงเหล่านั้น หรือมองว่า พวกเขาไม่ใช่ตัวคุณ คุณคือ คนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด บางทีคุณอาจจะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองมากขึ้น
  • พบจิตแพทย์: การพบจิตแพทย์แท้จริงแล้วไม่ต่างจากการไปพบแพทย์ทั่วๆ ไป เพียงแต่จิตแพทย์ คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยวินิจฉัยและรับฟังปัญหาของคุณโดยตรง แต่คนส่วนมากมักกลัวและอายที่จะพบจิตแพทย์ ด้วยกรอบความคิดเดิมๆ ที่ว่า คนที่ไปพบจิตแพทย์คือ คนบ้าเท่านั้น

หากคุณหาเพื่อนสนิท คนใกล้ชิดที่รับฟังปัญหาของคุณไม่ได้ หรือรู้สึกอึดอัดใจที่จะพูดสาเหตุของการฆ่าตัวตายให้คนรอบตัวฟัง คุณสามารถไปพบจิตแพทย์เพื่อเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และยังจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องอีกด้วย หรือคุณสามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้น โดยผู้ให้คำปรึกษาจะเป็นพยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ 

นอกจากนี้ยังมีช่องทางการติดต่อจากหน่วยงานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตอื่นๆ เพื่อให้คุณได้รับคำปรึกษาได้ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มีบริการอาสาสมัคร "รับฟังด้วยใจ" โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 0-27136793
  • สายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาลราชวิถี โทร. 0-23548152
  • สายด่วน Depress we care โรงพยาบาลตำรวจ โทร. 081-9320000

การสื่อสารกับผู้ที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตาย

เป็นอีกปัญหาที่หลายคนมักสงสัยว่า สามารถพูดอะไรกับคนที่อยากฆ่าตัวตายได้บ้าง บางครั้งคำพูดง่ายๆ ให้กำลังใจทั่วไปกลับไม่ช่วยอะไร แล้วจะให้พูดอย่างไร สื่อสารอย่างไรถึงจะช่วยเหนี่ยวรั้งให้คนอยากฆ่าตัวตายยังไม่ตัดสินใจลงมือได้

นอกจากการพูดที่คิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับกรณีนี้แล้ว เราพบว่า ที่จริงแล้วการฟังคือสิ่งที่สำคัญกว่าและควรเริ่มต้นทุกครั้งด้วยการฟัง แล้วจึงตามด้วยการพูด

การฟัง

  • ฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่เปรียบเทียบ: หากคุณมีโอกาสได้รับฟังสิ่งที่คนอยากฆ่าตัวตายระบายออกมา ขอให้แค่ฟัง อย่าเอาประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่เคยคุณเจอมาตัดสินปัญหา หรือเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของคนที่อยากฆ่าตัวตาย เพราะเงื่อนไขชีวิตของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

การแสดงออกให้เห็นเพียงว่า คุณมีความเห็นอกเห็นใจที่จะรับฟังปัญหากับคนที่จะฆ่าตัวตาย แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว เพราะหลายครั้งเมื่อคนที่อยากฆ่าตัวตายถูกตัดสิน หรือถูกเปรียบเทียบกับคนอื่น ก็จะยิ่งมีแนวโน้มรู้สึกว่า ตนเองโดดเดี่ยว อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง และไม่สมควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

  • ฟังโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลเสมอไป: ผู้ฟังการระบายอาจรู้สึกขัดใจในบางเหตุผล การกระทำของคนที่อยากฆ่าตัวตาย แต่การรับฟังผู้ที่อยากฆ่าตัวตายขอให้ใช้ “ใจ” ฟังก็พอ 

เพียงแค่ฟัง ไม่ต้องรับเหตุผลของการกระทำต่างๆ ที่รับรู้มาแล้วมาคิดหาทางแก้ปัญหาให้กับพวกเขา แค่ให้คนที่อยากฆ่าตัวรู้สึกว่า มีตัวตน มีคนรับฟังและรับรู้ว่า เขากำลังเสียใจ ก็ถือเป็นการฟังที่ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้มากแล้ว

การพูด

การพูดเพื่อปลอบใจและทำให้คนที่อยากฆ่าตัวตายรู้สึกว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง จำเป็นต้องมีการไตร่ตรองก่อนว่าอะไรควรพูดและไม่ควรพูด คุณอาจใช้เป็นแนวทางการพูดต่อไปนี้ในการสื่อสารกับผู้ที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตาย เช่น 

  • คุณดีใจที่เขายอมระบายว่า อยากฆ่าตัวตาย: คำพูดนี้เป็นแสดงว่าคุณรู้สึกยินดีที่ผู้ที่อยากฆ่าตัวตายยอมเผยความคิดอยากฆ่าตัวตายออกมา แทนที่จะเก็บไว้ในใจคนเดียว
  • ถามหาสาเหตุ: เช่น “อะไรทำให้น้องอยากฆ่าตัวตาย?” การเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากฆ่าตัวตายได้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขาจะทำให้มองเห็นต้นเหตุ และที่มาที่ไปของเหตุการณ์ รวมถึงเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า คุณอยากจะเข้าใจในตัวพวกเขาจริงๆ และเมื่อการระบายจบลงคุณอาจปิดท้ายบทสนทนาด้วยคำพูดที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ เช่น “เรื่องที่เล่า มันฟังดูแย่มากนะ” หรือ “เราเข้าใจแล้วว่ามันแย่ขนาดไหน”
  • แสดงความช่วยเหลือ: เช่น “เราช่วยอะไรได้บ้างไหม?” หรือ “หวังว่า น้องจะยังคุยกับพี่เรื่องอยากฆ่าตัวตายต่อไปนะ” เพื่อบอกว่า คุณพร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา และช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ วิธีนี้จะเป็นการช่วยเหลือไม่ให้ผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตายไม่อยู่ตามลำพังด้วย
  • ถามวิธีการฆ่าตัวตาย: เป็นคำถามประเมินความเสี่ยงที่นอกจากจะทำให้คุณสามารถประเมินสภาพจิตใจของผู้ที่จะฆ่าตัวตายได้แล้ว ยังเป็นการช่วยหาแนวทางช่วยผู้ที่จะฆ่าตัวตายไม่ให้ลงมือสำเร็จได้ เช่น ถ้าคุณรู้ว่า ผู้ที่เสี่ยงจะฆ่าตัวตายคิดใช้วิธีฆ่าตัวตายด้วยการรับประทานยาแก้ปวด คุณจะได้เก็บยาทั้งหมดไว้ในที่มิดชิดได้ทันเวลา รวมถึงสารเคมี หรือผลิตภัณฑ์ยาที่สามารถนำมาทดแทนใช้ฆ่าตัวตายได้

สิ่งที่ไม่ควรพูดกับคนที่จะฆ่าตัวตาย

ความต้องการที่จะฆ่าตัวตายมักมีสาเหตุที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และเป็นปัญหาที่ไม่ใครอยากให้เกิดขึ้น รวมถึงตัวผู้ตายด้วย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจสาเหตุว่า ทำไมคนที่อยากฆ่าตัวตายถึงอยากจากโลกใบนี้ไป ถึงแม้จะไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือ การระมัดระวังคำพูดบางอย่างที่คุณอาจไม่รู้ตัวว่า นั่นเป็นการพูดทำร้ายจิตใจมากกว่าการช่วยเหลือ เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • การฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่งี่เง่า และผู้ที่ฆ่าตัวตายก็เป็นพวกโง่สิ้นคิด: คำพูดนี้เป็นการแสดงการดูถูกผู้ที่กำลังเผชิญปัญหา และอาจทำให้ผู้ที่จะฆ่าตัวตายรู้สึกอยากจากไปมากกว่าเดิมเพราะพวกเขากำลังถูกมองว่า เป็นคนโง่
  • บอกว่า ชีวิตของพวกเขาดีกว่าใครหลายคนบนโลกใบนี้ด้วยซ้ำ: หรืออาจเป็นคำพูดว่า “คนอื่นก็มีปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาของคุณ และพวกเขาก็ไม่เห็นจะอยากฆ่าตัวตายเลย” คำพูดเหล่านี้เป็นการเปรียบเทียบที่ทำให้ผู้ที่จะฆ่าตัวตายรู้สึกว่า ตนเองผิดปกติ มีข้อบกพร่อง อ่อนแอ และไม่มีความอดทนในการต่อสู้ปัญหา ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจพยายามอย่างเต็มที่แล้ว
  • ไม่เชื่อว่า ผู้ที่อยากฆ่าตัวตายจะกล้าลงมือจริงๆ: คำพูดนี้อาจเป็นการดูถูกว่า การเปิดเผยเรื่องจะฆ่าตัวตายเป็นเพียงการล้อเล่น หรือข่มขู่ และยังเป็นการท้าทายผู้ที่อยากฆ่าตัวตายให้ลงมือทำจริง ทั้งๆ ที่บางครั้งเขาอาจแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากใครสักคนเท่านั้น คำพูดนี้ยังทำร้ายจิตใจผู้ที่อยากฆ่าตัวตายไปมากกว่าเดิมด้วย
  • เมื่อฆ่าตัวตายแล้วจะต้องตกนรก: เป็นคำพูดที่ไม่ได้ช่วยให้จิตใจของผู้ที่อยากฆ่าตัวตายดีขึ้น เพราะผู้ที่ฆ่าตัวตายหลายคนมักคิดถึงเรื่องโลกหลังความตายอยู่แล้ว หลายคนก็ยังคงยืนยันอยากจะฆ่าตัวตายเช่นเดิม บางคนอาจไม่เชื่ออยู่แล้วว่านรกมีจริง คำพูดนี้จึงไม่ได้ป้องกันการฆ่าตัวตายได้ และไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
  • เปลี่ยนหัวข้อสนทนา เมื่อผู้ที่อยากฆ่าตัวตายระบายความในใจออกมา: เป็นการแสดงถึงความรำคาญ หรือคุณไม่สนใจ แต่หากคุณรู้สึกรับฟังไม่ไหว หรือฟังความคิดแง่ลบของผู้ที่อยากฆ่าตัวตายมามากพอแล้ว คุณสามารถแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์ให้หาคนรับฟังที่ถูกทางและได้รับการรักษาได้

ดูแลสุขภาพจิตของตนเอง

ความคิดอยากฆ่าตัวตายจะไม่เกิดขึ้น หากคุณมีสภาพจิตใจที่แข็งแรงพร้อมรับมือกับแรงกดดัน หรือภาวะทางจิตใจต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน วิธีปฏิบัติตนเพื่อดูแลสุขภาพจิตใจของคุณให้แข็งแรงมีดังต่อไปนี้

  1. มองเห็นคุณค่าของตนเอง: คิดเสมอว่า แต่ละคนย่อมมีจุดด้อย แต่ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปเช่นกัน 
  2. ดูแลร่างกายของคุณให้แข็งแรง: หาเวลาออกกำลังกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน อย่าสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์มากเกินไป นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การมีสุขภาพกายที่ดีจะนำพาสุขภาพจิตที่ดีตามมาด้วย 
  3. พาตนเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คน: ลองทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นดู หรือใช้เวลาร่วมกับคนในครอบครัว การมีสังคมจะทำให้คุณได้แลกเปลี่ยนความคิด สามารถปรับตัวกับผู้อื่นได้ง่าย และไม่ฟุ้งซ่านกับตนเองจนเกินไป หรือคุณอาจหาเวลาว่างทำงานอดิเรกที่ชอบ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี เรียนภาษา เขียนหนังสือ เป็นต้น
  4. ช่วยเหลือผู้อื่น: เมื่อคุณได้ทำอะไรดีๆ สักอย่าง แม้เพียงการช่วยคนเก็บของที่หล่นพื้นก็ทำให้คุณรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนที่ดีคนหนึ่งได้ คุณจะรู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่า บางทีคุณอาจลองออกไปทำกิจกรรมอาสาในโรงเรียน หรือในชุมชนที่คุณอาศัยอยู่ดู นอกจากจะช่วยสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นยังทำให้คุณได้พบปะผู้คนใหม่ๆ ด้วย
  5. เรียนรู้ที่จะรับมือกับความเครียด: เพราะทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากคุณรู้ว่าตนเองจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ความเครียดก็ไม่ใช่อุปสรรคในความคิดของคุณ บางทีอาจเป็นการออกไปเดินเล่นสักพัก นั่งเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือเขียนระบายลงกระดาษ และอย่ากดดันตนเองจนเกินไป เพราะจะทำให้คุณคาดหวังกับผลลัพธ์มากเกินจนรับความผิดหวังไม่ไหว
  6. ลองอยู่กับความเงียบบ้าง งดการท่องโลกโซเชียล: การพบปะผู้คนไม่ว่าจะในโลกจริง หรือโลกสมมติที่สร้างขึ้นอย่างโลกโซเชียลเป็นเรื่องที่ดี แต่บางครั้งการท่องโลกโซเชียลมากๆ ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ใจมากขึ้นก็ได้ หรืออาจเร่งให้คุณตัดสินใจฆ่าตัวตายเร็วขึ้นก็ได้ หากคุณไปพบเจอข้อความที่ตอกย้ำความรู้สึกที่เป็นอยู่ 
    ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ ปิดจอทุกจอ งดการเสพสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร โซเชียลใดๆ ก็ตาม แล้วใช้เวลาอยู่กับความเงียบและตัวคุณเองก็เป็นการผ่อนคลายให้กับจิตใจ ทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้วุ่นวายจนเกินไป คุณอาจลองใช้เวลานี้นั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ก็ได้ 
  7. อยู่กับโลกแห่งความจริง: ลองตั้งเป้าหมายในชีวิตของคุณไว้และวางแผนว่าคุณจะไปถึงจุดที่คุณต้องการได้อย่างไร โดยคำนึงถึงปัจจัยความเป็นจริงและไม่หักโหมจนเกินไป แบ่งเวลาให้ดี เพื่อให้คุณมีความสุขกับการทำงานและกิจกรรมในทุกๆ วันโดยไม่หมดไฟง่ายๆ
  8. ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณรู้สึกไม่ดี: การเก็บความรู้สึกแย่ไว้คนเดียวไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่การขอความช่วยเหลือต่างหากที่เป็นทางออกที่ดี เพื่อให้คุณสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วและไม่จมอยู่กับปัญหานานจนเกินไป ปัญหาที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องจิตใจ แต่รวมถึงเรื่องงาน ความสัมพันธ์ หรือสุขภาพด้วย

การฆ่าตัวตายอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกมองว่าผิดวิธี เป็นการคิดสั้นและไม่คิดถึงคนที่อยู่ข้างหลัง แต่หากมองในอีกแง่ ผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายต้องเผชิญปัญหาที่หนักหน่วง มีความบอบช้ำเรื่องความรู้สึก หรือเจ็บปวดจากโรค ผลกระทบบางอย่างที่ร้ายแรงจนรู้สึกอยากจบชีวิตตนเอง

ดังนั้นการรู้จักวิธีสื่อสาร การดูแลตนเอง และวิธีรับมือเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายจึงเป็นความรู้ที่คนในสังคมควรรับรู้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Suicide. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/westernpacific/health-topics/suicide)
Help for suicidal thoughts. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/Suicide/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป