ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ (Bowel incontinence หรือ faecal incontinence) คือภาวะที่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ได้จนทำให้มีการถ่ายหนักออกมาโดยไม่ตั้งใจ
ความรุนแรงของภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้จะแตกต่างไปตามกรณีบุคคล ผู้ป่วยบางรายอาจมีความรู้สึกปวดอุจจาระอย่างกะทันหันและถ่ายราดทันทีจนทำให้ไม่สามารถไปห้องน้ำได้ทันเวลา หรือที่เรียกว่าภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้แบบทันใด (urge bowel incontinence)
ผู้ป่วยกลุ่มอื่นอาจไม่รู้สึกปวดเลยจนกระทั่งปล่อยออกมาเรี่ยราดแล้ว หรือที่เรียกว่าภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้แบบไม่รู้ตัว (passive incontinence หรือ passive soiling) หรืออาจมีอุจจาระเล็ดออกมาพร้อมกับลม
คาดกันว่ามีผู้คนประมาณ 1 ใน 10 คนจะประสบกับภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้นี้สักช่วงใดช่วงหนึ่งในชีวิต ภาวะนี้สามารถเกิดกับมนุษย์ช่วงอายุใดก็ได้ แต่ก็มักจะพบมากกับผู้สูงอายุ และพบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
เหตุใดจึงเกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ขึ้นมา?
ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เป็นอาการของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ โดยหลาย ๆ กรณีเกิดมาจากภาวะท้องร่วง (diarrhoea) หรือท้องผูก (constipation) หรือเนื่องจากกล้ามเนื้อควบคุมช่องเปิดปิดทวารหนักเกิดอ่อนแอลง
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นมาจากภาวะสุขภาพระยะยาวอย่างเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) หรือโรคสมองเสื่อม (dementia) ก็ได้
การเข้ารับคำปรึกษาและการรักษา
ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เป็นอาการที่น่ารำคาญและรับมือได้ยาก แต่การรักษาที่มี ณ ปัจจุบันสามารถเยียวยาอาการประเภทนี้ได้สำเร็จ ดังนั้นวิธีรักษาภาวะนี้ที่ดีที่สุดคือการเข้าพบแพทย์
สิ่งที่พึงจำคือ: ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มิใช่เป็นภาวะที่น่าอาย: ภาวะนี้เป็นเพียงปัญหาทางการแพทย์ที่ไม่ต่างจากเบาหวานหรือหอบหืด ภาวะนี้สามารถรักษาได้: มีการรักษามากมายที่ยืนยันแล้วว่าประสบผลสำเร็จจริง ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มิใช่เป็นอาการของการแก่ชรา ภาวะนี้ไม่สามารถหายได้เอง
สามารถทำการรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้อย่างไร?
เมื่อได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยหลายกรณีจะสามารถกลับไปควบคุมการทำงานของลำไส้ของตนเองได้ตามปรกติได้นานถึงตลอดชีวิต
การรักษาที่ดำเนินการจะขึ้นอยู่สาเหตุและความรุนแรงของภาวะ ซึ่งอาจมีตัวเลือกดังต่อไปนี้: การปรับเปลี่ยนวิธีชีวิตและอาหารการกินเพื่อบรรเทาภาวะท้องผูกหรือท้องร่วง โปรแกรมบริหารกล้ามเนื้อควบคุมลำไส้ การใช้ยาควบคุมท้องผูกหรือท้องร่วง การผ่าตัด ซึ่งมีตัวเลือกต่าง ๆ มากมาย
มีสินค้าสำหรับผู้ป่วยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มากมายให้เลือกใช้ เช่นจุกอุดทวารและแผ่นซับ ซึ่งคุณสามารถใช้ได้เรื่อย ๆ จนกว่าคุณสามารถควบคุมอาการได้
แม้หากว่าในกรณีของคุณจะไม่สามารถรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ให้หายขาดได้ อาการของภาวะนี้ควรจะดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษา
สาเหตุของภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มักจะเกิดมาจากปัญหาด้านร่างกาย ณ ส่วนที่ใช้ควบคุมลำไส้ โดยส่วนมากจะเป็นผลมาจาก: ปัญหาที่ลำไส้ตรง (rectum): ลำไส้ตรงไม่สามารถกักเก็บอุจจาระได้อย่างที่ควรเป็น ปัญหาที่กล้ามเนื้อหูรูด (sphincter muscles): กล้ามเนื้อที่ส่วนปลายของลำไส้ตรงไม่สามารถทำงานได้ตามปรกติ ความเสียหายที่ประสาท: สัญญาณทางประสาทจากลำไส้ตรงไม่สามารถส่งไปถึงสมองได้
ปัญหาเหล่านี้จะถูกอธิบายในหัวข้อต่อ ๆ ไป
สิ่งที่พึงกระทำคือการเข้าปรึกษาปัญหาของลำไส้กับแพทย์เพราะอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงมากกว่าได้ เช่นมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
ปัญหาที่ลำไส้ตรง
ภาวะท้องผูก
ภาวะท้องผูก (Constipation) ก็สามารถนำไปสู่อาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ ในกรณีที่เป็นท้องผูกรุนแรง ก้อนอุจจาระที่แข็งและใหญ่จะเข้าไปติดอยู่ที่ลำไส้ตรง (เรียกว่า faecal impaction) จนทำให้กล้ามเนื้อโดยรอบยืดออกและอ่อนแอลง
อุจจาระแบบเหลวจะรั่วไหลผ่านก้อนอุจจาระ ออกมาทางทวารหนักจนทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ชนิดไม่รู้ตัว (overflow incontinence) ขึ้นมา ซึ่งภาวะนี้มักจะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก
การประสบกับภาวะท้องผูกหรือ faecal impaction บ่อย ๆ จะทำให้ลำไส้ตรงหย่อนจนทำให้ลำไส้บางส่วนเคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรเป็นและยื่นออกมาจากทวารหนัก ซึ่งการหย่อนของลำไส้ตรงนี่เองก็สามารถทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เช่นกัน
ภาวะท้องร่วง
ลำไส้ตรงทำการกลั้นอุจจาระเหลวได้ยาก ดังนั้นผู้ป่วยภาวะท้องร่วง (Diarrhoea) (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นท้องร่วงซ้ำซาก) ก็สามารถประสบกับอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้เหมือนกัน
ภาวะที่ทำให้เกิดท้องร่วงซ้ำซากมีดังนี้: โรคโครห์น (Crohn's disease): การอักเสบของระบบย่อยอาหาร กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome): ภาวะที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านระบบย่อยหลายอย่าง เช่นท้องอืด ท้องร่วง เป็นต้น โรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล (ulcerative colitis): การอักเสบของลำไส้ใหญ่
ภาวะเหล่านี้ยังไปสร้างความเสียหายแก่ลำไส้ตรงจนทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ขึ้นมา
โรคริดสีดวงทวาร
โรคริดสีดวงทวาร (Haemorrhoids) คือการขยายใหญ่ของหลอดเลือดภายในหรือรอบทวารหนัก (ส่วนลำไส้ตรงและปากทวาร) อาการของโรคนี้มีทั้งคัน ไม่สบายเนื้อ เลือดออก หรือมีก้อนเนื้อบวมห้อยออกมาข้างนอกปากทวารหนัก
ปัญหาที่กล้ามเนื้อหูรูด
กล้ามเนื้อหูรูด (sphincter muscles) อยู่ที่ส่วนปลายของลำไส้ตรง มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ โดยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้รเกิดอ่อนตัวหรือเสียหาย
การคลอดบุตรเป็นสาเหตุของความเสียหายที่กล้ามเนื้อหูรูดที่พบได้บ่อยที่สุด และยังนำไปสู่ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ในที่สุด ระหว่างการคลอดบุตรตามธรรมชาติ กล้ามเนื้อหูรูดจะยืดตัวออกและเสียหาย โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการใช้คีม (forceps) ในการทำคลอด สาเหตุอื่น ๆ มีทั้งตัวทารกมีขนาดใหญ่ ทารกเกิดมาโดยมีหลังศีรษะหันไปที่ข้างหลังของมารดา (ท่าท้ายทอยเฉียง หรือ occipitoposterior position) และใช้เวลาคลอดนาน เป็นต้น
กล้ามเนื้อหูรูดสามารถเสียหายจากการบาดเจ็บทั่วไป หรือจากบาดแผลหลังจากผ่าตัดลำไส้ตรงก็ได้
ความเสียหายที่ประสาท
ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้สามารถเกิดมาจากปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทที่เชื่อมต่อสมองกับลำไส้ตรงได้ โดยปัญหาทางประสาทนี้จะทำให้ร่างกายของคุณไม่รู้สึกถึงอุจจาระภายในลำไส้ตรง และอาจทำให้คุณควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดได้ยากขึ้น
ความเสียหายที่ประสาทอาจเป็นผลมาจากภาวะต่าง ๆ เช่น: เบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (ภาวะที่ระบบประสาทส่วนกลาง) ภาวะเส้นเลือดสมองตีบ โรค spina bifida (ความผิดปรกติแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการของกระดูกสันหลังและระบบประสาท)
การบาดเจ็บที่เส้นประสาท อย่างการบาดเจ็บที่สันหลังก็สามารถทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เช่นกัน
ภาวะสุขภาพอื่น ๆ
ในบางกรณีภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้อาจเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพอย่างโรคสมองเสื่อม หรือความบกพร่องด้านการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการควบคุมไส้ตรง เป็นต้น
ส่วนความพิการทางร่างกายเองก็อาจทำให้ผู้ป่วยไปห้องน้ำได้ไม่ทันเวลา
การวินิจฉัยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามรูปแบบของอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ของคุณ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน อย่างเช่นเรื่องของอาหารการกินของคุณ
แม้คุณจะรู้สึกอายที่ต้องตอบคำถามเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการตอบคำถามอย่างเถรตรงที่สุดเพื่อให้แพทย์สามารถดำเนินการรักษาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับ: การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบนิสัยการถ่ายหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา การมีเลือดออกจากลำไส้ตรง อาการปวดท้องต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกินของคุณ ยาที่คุณกำลังใช้อยู่
แพทย์มักจะดำเนินการตรวจร่างกายโดยการดูที่ทวารหนักและบริเวณโดยรอบของคุณเพื่อมองหาความเสียหายและเริ่มการตรวจภายในทวารหนักด้วยการใช้นิ้วที่สวมถุงมือสอดเข้าไปตรวจสอบ
การตรวจทวารจะมีขึ้นเพื่อดูว่าภาวะท้องผูกเป็นสาเหตุหรือไม่ และตรวจสอบหาก้อนเนื้อต่าง ๆ ภายใน แพทย์อาจขอให้คุณขมิบกล้ามเนื้อโดยรอบเพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อทวารหนักของคุณ
แพทย์จะจัดการทดสอบเพิ่มเติมหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลการทดสอบเหล่านี้
การทดสอบเพิ่มเติม
การสอดกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก (sigmoidoscopy)
การทดสอบส่องกล้องภายในทวารหนัก (และในบางกรณีก็รวมถึงลำไส้ส่วนล่าง) จะเป็นการตรวจด้วยท่อยืดหยุ่นที่เรียวยาวและมีไฟกับกล้องวิดีโอติดอยู่ที่ปลาย (endoscope) เก็บภาพภายในร่างกายไปแสดงบนหน้าจอ
กล้องชนิดนี้มีเพื่อตรวจหาสิ่งกีดขวาง ความเสียหาย หรือการอักเสบต่าง ๆ ภายในลำไส้ตรง
การทดสอบด้วยการสอดกล้องมักจะไม่เจ็บปวด แต่อาจสร้างความไม่สบายตัวบ้าง ดังนั้นแพทย์จึงจะให้ยาระงับประสาทกับคุณเสียก่อน
การตรวจวัดการทำงานของทวารหนัก (Anal manometry)
การตรวจวัดการทำงานของทวารหนักมีขึ้นเพื่อประเมินว่ากล้ามเนื้อและเส้นประสาทภายในและรอบลำไส้ตรงทำงานได้ดีอย่างไร
การทดสอบนี้จะใช้อุปกรณ์ที่ดูเหมือนปรอทวัดไข้ขนาดเล็กที่มีบอลลูนติดอยู่ที่ปลายสอดเข้าไปในทวารหนักก่อนที่แพทย์จะสูบลมทำให้บอลลูนพองตัว แม้จะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัวบ้าง แต่ก็ไม่สร้างความเจ็บปวดใด ๆ
อุปกรณ์ดังกล่าวจะเชื่อมไปยังเครื่องจักรที่ใช้วัดค่าแรงดันที่ได้จากบอลลูน
คุณจะถูกขอให้ขมิบ และคลาย และเบ่งลำไส้ของคุณในบางช่วง ในการเบ่งนั้น คุณต้องพยายามทำเหมือนกับกำลังพยายามเบ่งอุจจาระออก แรงดันที่เครื่องตรวจจับวัดค่าได้จะบ่งชี้ถึงระดับการทำงานของกล้ามเนื้อของคุณ
การสแกนอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
การสแกนอัลตราซาวด์จะใช้เพื่อร่างภาพภายในทวารหนักของคุณ โดยการสแกนประเภทนี้จะสามารถตรวจจับความเสียหายต้นตอที่กล้ามเนื้อหูรูดได้
การถ่ายภาพรังสีการถ่ายอุจจาระ (Defecography)
การถ่ายภาพรังสีการถ่ายอุจจาระเป็นการทดสอบเพื่อดูว่าคุณถ่ายอุจจาระออกมาอย่างไร เพื่อดูว่ามีสัญญาณของการอุดตันหรือการหย่อนของลำไส้ที่ไม่อาจพบได้ด้วยการตรวจทวารหนักหรือไม่
ระหว่างการทดสอบนี้ จะมีการฉีดสารที่เรียกว่าแบเรียม (barium) เข้าไปในไส้ตรงของคุณ แบเรียมจะช่วยทำให้มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ภายในได้ชัดเจนขึ้นจากบนฟิล์มเอกซเรย์ เมื่อมีการฉีดแบเรียมแล้ว คุณจะต้องทำการถ่ายอุจจาระตามปรกติขณะทำการสแกนภาพ
ในบางครั้งแพทย์อาจจัดการทดสอบนี้ร่วมกับการสแกนภาพสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging - MRI) แทนเอกซเรย์ก็ได้
การรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
การรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุและรูปแบบของอาการ ในตอนแรกแพทย์จะพยายามใช้วิธีรักษาที่เป็นการแทรกแซงร่างกายน้อยที่สุดอย่างการเปลี่ยนอาหารการกินกับการบริหาร ส่วนการใช้ยาและการผ่าตัดมักจะนำมาพิจารณาเมื่อการรักษาข้างต้นไม่ได้ผล โดยการรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มีรายละเอียดดังนี้
ผลิตภัณฑ์สำหรับภาวะกลั้นการขับถ่ายไม่ได้
คุณอาจเลือกใช้สิ่งของสำหรับผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายไปจนกว่าอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ของคุณจะดีขึ้น
การใช้จุกปิดทวารหนักเป็นวิธีป้องกันอุจจาระเล็ดวิธีหนึ่ง โดยจุกปิดนี้ผลิตมาจากโฟมและออกแบบมาให้สามารถสอดเข้าทวารหนักได้ อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ชนิดนี้อาจสร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวบ้างและอาจใช้ในระยะยาวไม่ได้
หากจุกปิดต้องกับความชื้นจากลำไส้ จุกจะขยายตัวออกและป้องกันการเล็ดของอุจจาระได้มากขึ้น ตัวจุกสามารถใช้งานได้นานต่อเนื่อง 12 ชั่วโมง หลังจากช่วงเวลานี้จุกจะต้องถูกดึงออก
แผ่นรองซับแบบใช้แล้วทิ้งเป็นแผ่นดูดซับอุจจาระเหลวและช่วยป้องกันผิวหนังของคุณจากของเสีย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถใช้กับกรณีอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้แบบไม่รุนแรง
ซิลิโคนแบบสอดชนิดใช้งานครั้งเดียวที่ใช้เพื่อผนึกทวารหนักจนกว่าที่ลำไส้ของคุณจะเคลื่อนตัวรอบต่อไปก็เป็นตัวเลือกอีกหนึ่งอย่างสำหรับภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ชนิดปานกลางจนถึงรุนแรง
แพทย์หรือพยาบาลของคุณสามารถให้คำแนะนำเรื่องผลิตภัณฑ์ที่คุณสามารถใช้ได้
เมื่อคุณต้องออกไปข้างนอก
สวมกางเกงหรือกระโปรงที่สามารถปลดออกได้ง่าย และเป็นแบบยางยืดแทนแบบกระดุมจะดีที่สุด
การเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกิน
ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะท้องร่วงหรือท้องผูกสามารถควบคุมได้ง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนอาหารการกินของคุณ
คุณควรทำบันทึกอาหารเพื่อจดจำผลจากอาหารบางประเภทที่ส่งผลต่ออาการของคุณ
ท้องร่วง
มีคำแนะนำจากสถาบันเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการรักษา (NICE) ดังนี้: จำกัดปริมาณกากใยอาหารที่ทานเข้าไปอย่างขนมปังธัญพืชรวม ซีเรียล ถั่ว และเมล็ดพืชต่าง ๆ เลี่ยงการทานเปลือกหรือผิวของผลไม้และผัก จำกัดผลไม้สดและแห้งให้เป็นสัดส่วน 3 ส่วนต่อวัน และน้ำผลไม้เป็น 1 แก้วเล็ก ๆ ต่อวัน จำกัดความถี่ในการรับประทานเครื่องดื่มอัดลม และคาเฟอีน เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อย่างเช่นมันฝรั่งทอด อาหารฟาสฟูด และเบอร์เกอร์
ท้องผูก
สำหรับผู้ป่วยที่ประสบกับอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่มาจากภาวะท้องผูกมักจะถูกแนะนำให้ทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง ๆ โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำอาหารประเภทนี้แก่คุณอีกที
กากใยอาหารจะทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง ทำให้อุจจาระไหลออกมาได้ง่ายขึ้น โดยอาหารที่มีกากใยอาหารสูงมีดังนี้: ผักและผลไม้ ถั่ว ข้าวรวม ขนมปังและพาสต้าธัญพืชรวม เมล็ดพืช และข้าวโอ๊ต
การดื่มน้ำมาก ๆ ก็ช่วยทำให้อุจจาระอ่อนตัวลงได้เช่นกัน
การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเป็นโปรแกรมการบริหารที่ใช้รักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่เกิดจากกล้ามเนื้อเชิงกรานที่อ่อนแอ
นักบำบัด ซึ่งมักจะเป็นนักกายภาพบำบัดหรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญจะสอนวิธีการบริหารต่าง ๆ แก่คุณ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อาจหย่อน ยืด หรืออ่อนแอ
คุณจำต้องบริหารเช่นนี้สามครั้งต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่อง 6 ถึง 8 สัปดาห์ หลังจากช่วงเวลานี้คุณควรจะสังเกตได้ว่าอาการของคุณดีขึ้นจากเดิม
การทดลองวิธีบริหาร
ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนลองขั้นตอนต่อไปนี้ด้วยตนเองที่บ้าน
อันดับแรก ทำเหมือนกับคุณกำลังกลั้นอุจจาระอยู่ โดยคุณควรจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อรอบทวารหนักรัดตัวขึ้น
ต่อมา นั่ง ยืน หรือนอนราบในท่าที่สบายที่สุดโดยแยกขาออกจากกันเล็กน้อย
ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจึงผ่อนคลาย ทำซ้ำเช่นนี้ 5 ครั้ง
ขมิบกล้ามเนื้อให้แรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจึงผ่อนคลาย ทำซ้ำเช่นนี้ 5 ครั้ง
ขมิบกล้ามเนื้อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจึงผ่อนคลาย ทำซ้ำเช่นนี้ 5 ครั้ง
หากคุณลองบริหารเช่นนี้ลำบาก พยายามปฏิบัติเช่นนี้ด้วยจำนวนครั้งที่น้อยกว่าที่ระบุไว้ และจึงค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นทีละน้อย หากวิธีการบริหารเช่นนี้ง่ายเกินไป พยายามทำแต่ละขั้นตอนให้มากขึ้น คุณสามารถลองบริหารกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้โดยที่ผู้อื่นไม่สังเกตเห็น ดังนั้นคุณจึงสามารถจัดการบริหารเหล่านี้ในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย
การกลั้นลำไส้
การฝึกกลั้นลำไส้ (Bowel retraining) เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่มีความรู้สึกภายในลำไส้ตรงลดลงเนื่องจากความเสียหายที่เส้นประสาท หรือสำหรับผู้ที่ประสบกับภาวะท้องผูกซ้ำซาก เป้าหมายของการฝึกกลั้นลำไส้คือ: เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของอุจจาระ เพื่อจัดเวลาให้คุณทำการถ่ายหนักให้หมดลำไส้ เพื่อมองหาสิ่งที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้
การเปลี่ยนอาหารการกินของคุณมักจะช่วยทำให้อุจจาระคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
การจัดเวลาถ่ายหนักในแต่ละวันจะทำให้คุณสามารถกำหนดช่วงเวลาที่คุณต้องเข้าห้องน้ำเพื่อทำธุระได้โดยไม่ต้องเร่งรีบใด ๆ
วิธีที่กระตุ้นการทำงานของลำไส้จะแตกต่างกันออกไปตามกรณีบุคคล บางคนอาจใช้วิธีดื่มน้ำและอาหารร้อน ๆ หรือบางคนอาจใช้วิธีกระตุ้นด้วยการใช้นิ้วสอดเข้าทวารหนัก เป็นต้น
Biofeedback Biofeedback คือการบริหารกลั้นลำไส้ที่เป็นการสอดแท่งส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปทวารหนัก
ตัวเซนเซอร์จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวและแรงดันของกล้ามเนื้อในลำไส้ตรงกลับไปยังหน้าจอคอมพิวเตอร์
คุณจะถูกขอให้ดำเนินการบริหารเพื่อเพิ่มการทำงานของลำไส้ โดยตัวเซนเซอร์จะตรวจสอบว่าคุณดำเนินการบริหารถูกวิธีหรือไม่
การใช้ยา
มีการใช้ยาสำหรับรักษาหรือทำให้อุจจาระอ่อนตัว หรือรักษาภาวะท้องผูกที่เกี่ยวข้องกับภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้เช่นกัน
ยาที่นิยมใช้ในการรักษาภาวะท้องร่วงคือ Loperamide โดยยาจะเข้าไปชะลอการเคลื่อนตัวของอุจจาระผ่านระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำถูกดูดออกจากอุจจาระได้มากขึ้น Loperamide สามารถถูกจัดจ่ายในขนาดยาที่ต่ำให้ใช้ภายในระยะยาวได้
ยาระบาย (Laxatives) ก็ถูกใช้ในการรักษาภาวะท้องผูก โดยกลุ่มยาประเภทนี้จะช่วยทำให้คุณถ่ายหนักได้ง่ายขึ้น โดยส่วนมากแล้วแพทย์จะแนะนำยาระบายที่ทำให้อุจจาระเกาะตัวเป็นก้อน (Bulk-forming laxatives) ที่ช่วยให้อุจจาระยังคงมีน้ำคงอยู่บ้าง ซึ่งทำให้อุจจาระไม่แห้ง และไม่ก่อให้เกิดการอุดตันขึ้น
การสวนทวารระบายอุจจาระ
การสวนทวารระบายอุจจาระ (Rectal irrigation หรือ enemas) เป็นการรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่เกิดจากการอุดตันของอุจจาระแข็ง ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น ๆ
กระบวนการนี้จะมีการสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในทวารหนักก่อนฉีดสารละลายชนิดพิเศษเข้าไปล้างลำไส้ตรงของคุณ
การผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้มักจะแนะนำก็ต่อเมื่อตัวเลือกการรักษาข้างต้นทั้งหมดไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดที่ใช้กันมากที่สุดคือศัลยกรรมตกแต่งหูรูด (sphincteroplasty) กับการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาท sacral (sacral nerve stimulation) ส่วนการรักษาอื่น ๆ เช่นการกระตุ้นประสาท tibial (tibial nerve stimulation) การรักษาด้วยความร้อน (endoscopic heat therapy) และการผ่าตัดหูรูดเทียมนั้นก็สามารถใช้ได้ แต่บางสถานพยาบาลอาจไม่สามารถดำเนินการได้
การผ่าตัดที่เรียกว่าโคลอสโตมี (colostomy) ก็เป็นการรักษาที่นิยมดำเนินการกันมากเช่นกัน แต่จะดำเนินการก็ต่อเมื่อการรักษาทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ผล
ศัลยกรรมตกแต่งหูรูด
ศัลยกรรมตกแต่งหูรูด (sphincteroplasty) เป็นหัตถกรรมที่ใช้ซ่อมแซมความเสียหายที่กล้ามเนื้อหูรูด ศัลยแพทย์จะทำการนำเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อออกบางส่วนก่อนเย็บขอบของกล้ามเนื้อทับกันเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันจนมีกำลังบีบรัดมากขึ้น
การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาท sacral การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาท sacral (sacral nerve stimulation) เป็นการรักษาสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อหูรูดอ่อนแรง
จะมีการสอดอีเล็กโทรดเข้าใต้ผิวหนังที่ส่วนแผ่นหลังส่วนล่าง และเชื่อมเข้ากับเครื่องกระตุ้นให้ปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาท sacral จนทำให้หูรูดและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานทำงานได้ดีขึ้น
ในช่วงแรก เครื่องกระตุ้นจะอยู่ภายนอกร่างกายของคุณ แต่หากการรักษามีประสิทธิภาพจริง แพทย์จะทำการปลูกฝังอุปกรณ์กระตุ้นเข้าใต้ผิวหนังแผ่นหลังของคุณ
ภาวะแทรกซ้อนที่มักมีรายงานเข้ามาจากกระบวนการนี้คือการติดเชื้อ ณ ตำแหน่งที่ผ่าตัด และปัญหาทางเทคนิคของตัวเครื่องปล่อยแรงกระตุ้น ซึ่งต้องมีการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม
การกระตุ้นประสาท tibial การกระตุ้นประสาท tibial (tibial nerve stimulation) เป็นเทคนิครักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่ค่อนข้างใหม่
จะมีการใช้เข็มแทงลงไปยังเส้นประสาท tibial ที่อยู่เหนือข้อเท้า และมีการติดอีเล็กโทรดบนเท้าของผู้ป่วย ก่อนมีการส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนไปยังเข็มเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท tibial ยังไม่มีรายงานประสิทธิผลของการรักษานี้ แต่ก็คาดกันว่าจะให้ผลคล้ายกับการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาท sacral
ทาง NICE สรุปว่ากระบวนการนี้มีความปลอดภัย แม้จะยังคงมีความไม่มั่นใจเรื่องของประสิทธิภาพอยู่ก็ตาม
การฉีดสารเพิ่มความแข็งแรง สารเพิ่มความแข็งแรงอย่างคอลลาเจนหรือซิลิโคนจะถูกฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อหูรูดและลำไส้ตรง โดยวิธีการใช้สารเหล่านี้ยังคงนับว่าใหม่อยู่มาก ดังนั้นจึงมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพ ผลกระทบระยะยาว และความปลอดภัยอยู่น้อยมาก
คุณควรปรึกษาข้อดีข้อเสียของการรักษาประเภทนี้กับทีมรักษาก่อนตัดสินใจดำเนินการ
การรักษาด้วยความร้อน การรักษาด้วยความร้อนจากคลื่นวิทยุ (Endoscopic radiofrequency therapy) เป็นวิธีการรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่ค่อนข้างใหม่
พลังงานความร้อนที่ส่งให้กับกล้ามเนื้อหูรูดผ่านแท่งขนาดเล็กจะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อรัดตัวและช่วยควบคุมการเคลื่อนตัวของลำไส้ให้ดีขึ้น
ทาง NICE สรุปว่ากระบวนการนี้มีความปลอดภัย แม้จะยังคงมีความไม่มั่นใจเรื่องของประสิทธิภาพอยู่ก็ตาม
เช่นเดียวกับความไม่แน่นอนของกระบวนการนี้ การรักษาประเภทนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นจึงเป็นการรักษาที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองทางการแพทย์อยู่
หูรูดเทียม การปลูกถ่ายหูรูดเทียมจะดำเนินการกับผู้ป่วยภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ที่มีปัญหาที่กล้ามเนื้อหูรูด
หัตถการนี้จะมีการใช้ปลอกทรงกลมสอดเข้าใต้ผิวหนังรอบทวารหนัก โดยปลอกนี้จะเต็มไปด้วยน้ำและดามปิดอยู่รอบทวารอย่างแน่นหนา
จะมีการสอดท่อเข้าใต้ผิวหนังจากปลอกดังกล่าวเข้ากับตัวปั๊มควบคุม สำหรับผู้ชาย ตัวปั๊มจะถูกจัดให้อยู่ใกล้กับอัณฑะ สำหรับผู้หญิงจะอยู่ใกล้กับช่องคลอด จะมีการสอดบอลลูนชนิดพิเศษเข้าไปในท้องผู้ป่วย และเชื่อมเข้ากับปั๊มควบคุมที่มีท่อวางอยู่ใต้ผิวหนัง
ปั๊มจะเริ่มทำงานด้วยการกดปุ่มที่ถูกฝังอยู่ใต้ผิวหนัง โดยจะเริ่มดูดของเหลวจากปลอกเข้าไปในบอลลูนเพื่อให้ทวารหนักเปิดออก และทำให้คุณถ่ายออกมา เมื่อคุณทำธุระเสร็จสิ้น ของเหลวจะถูกดูดกลับเข้าไปในปลอกเพื่อทำให้ทวารหนักปิดตัวลง
การใช้หูรูดเทียมเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้นจึงยังคงขาดแคลนข้อมูลเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลระยะยาว
ส่วนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังกระบวนการนี้คือการติดเชื้อ การบาดเจ็บระหว่างการผ่าตัด และปลอกที่ใช้เคลื่อนออกจากตำแหน่งที่ควรเป็น ในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดพลาดต่าง ๆ
โคลอสโตมี โคลอสโตมี (Colostomy) เป็นกระบวนการผ่าตัดที่จะแนะนำเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อการรักษาอื่น ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ
โคลอสโตมีเป็นหัตถกรรมที่ตัดลำไส้ส่วนล่างของคุณและนำออกผ่านผนังกระเพาะเพื่อสร้างช่องทางใหม่ของอุจจาระ โดยจะมีถุงไว้เก็บอุจจาระติดเข้ากับช่องเปิดดังกล่าว