กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

คู่มือไวรัส RSV ในเด็กและผู้ใหญ่ ฉบับสมบูรณ์

รู้จักไวรัส RSV สาเหตุการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อันตรายถึงชีวิต ครบที่สุดทั้งอาการ การติดต่อ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การรักษา และภาวะแทรกซ้อน
เผยแพร่ครั้งแรก 27 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 มิ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
คู่มือไวรัส RSV ในเด็กและผู้ใหญ่ ฉบับสมบูรณ์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เชื้อไวรัส RSV หรือชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด หรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ (ภูมิต้านทานโรคต่ำ) ติดเชื้อไวรัส RSV อาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้และอาจมีอันตรายถึงชีวิต
  • เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายได้ง่ายคล้ายโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป ผ่านละอองจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสสารคัดหลั่งเหล่านี้ที่ปะปนอยู่ตามสิ่งของ เครื่องใช้ แล้วเข้าสู่ร่างกายทางตา จมูก หรือปาก
  • อาการเมื่อติดเชื้อไวรัส RSV เช่น ไข้สูงขึ้นๆ ลงๆ จาม แน่นจมูก มีน้ำมูกไหล หายใจลำบาก หายใจเสียงวี๊ด อกบุ๋ม ลายเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน ไออย่างรุนแรงจนเหนื่อย อ่อนเพลียผิดปกติ เบื่อาหาร เซื่องซึม 
  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉัดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

โรคไวรัส RSV เป็นหนึ่งในโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งเป็นอันตรายรุนแรงสำหรับทารกและเด็กเล็ก สามารถก่อให้เกิดปอดอักเสบได้ โรคไวรัส RSV เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่มักระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน

รู้จักเชื้อไวรัส RSV

เชื้อไวรัส RSV หรือชื่อเต็มว่า Respiratory Syncytial Virus หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Human orthopneumovirus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจหลายโรค เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะโรคหลอดลมฝอยอักเสบในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอด หรือปอดอักเสบได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากเป็นการติดเชื้อในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด หรือผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ (ภูมิต้านทานโรคต่ำ) อาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้และอาจมีอันตรายถึงชีวิต 

ใครคือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส RSV

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV ขั้นรุนแรง หรือขั้นที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี
  • เด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด
  • เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กที่ได้รับเคมีบำบัด หรือได้รับการปลูกถ่ายกระดูก
  • ทารกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่แออัด 
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด มีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคลูคิเมีย หรือผู้ติดเชื้อ HIV หรือเอดส์

สำหรับเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เชื้อไวรัส RSV ไม่ถือเป็นเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และมักจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งอาจทำให้มีอาการไอ หรือมีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไปเท่านั้น 

เด็กโตและผู้ใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและมีหลอดลมขนาดใหญ่ ทำให้อาการบวมและอักเสบในหลอดลมไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย และอาการเจ็บป่วยมักหายเป็นปกติภาย 1-2 สัปดาห์

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV

เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายได้ง่ายคล้ายโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป ผ่านละอองจากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งการสัมผัสสารคัดหลั่งเหล่านี้ที่ปะปนอยู่ตามสิ่งของ เครื่องใช้ แล้วเข้าสู่ร่างกายทางตา จมูก หรือปาก

เชื้อไวรัสมีชีวิตอยู่ได้หลายชั่วโมงบนวัตถุที่เป็นของแข็ง เช่น ลูกบิดประตู พื้นโต๊ะเคาน์เตอร์ คอกเตียง และของเล่น และสามารถอยู่ได้นานกว่าบนพื้นผิววัสดุอ่อนนุ่ม เช่น มือ หรือกระดาษชำระ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เหตุนี้เชื้อไวรัส RSV จึงมักติดต่อกันง่ายในเนอร์สเซอรี่ หรือโรงเรียน 

ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรกหลังได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ และมักจะระบาดในช่วงที่สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลง

ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัส RSV มาก่อนสามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำอีกครั้งได้และมักจะติดเชื้อในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการติดเชื้อครั้งก่อน แต่อาการเจ็บป่วยจะไม่รุนแรงเท่าเดิมและมักจะมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดาเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อซ้ำในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรังอาจมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้

อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV

โดยทั่วไปแล้ว สัญญาณและอาการที่บ่งชี้ว่า เกิดการติดเชื้อไวรัส RSV จะแสดงออกมาหลังจากการสัมผัสกับเชื้อประมาณ 4-6 วัน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต 

สัญญาณและอาการที่แสดงออกมาหลังการติดเชื้อไวรัส RSV จะคล้ายอาการของโรคไข้หวัด 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • จาม
  • คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล
  • ไอแห้ง
  • มีไข้ต่ำ
  • เจ็บคอ
  • ปวดศีรษะเล็กน้อย 
  • รับประทานอาหารได้น้อยลง

อาการของการติดเชื้อรุนแรง

เชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวม หรือโรคหลอดลมอักเสบได้ (การอักเสบบริเวณหลอดลมฝอยที่เป็นท่อนำลมเข้าสู่ปอด) 

สัญญาณและอาการดังกล่าวที่มักพบในทารกและเด็กเล็ก ได้แก่

  • มีไข้สูงขึ้นๆ ลงๆ (ประมาณ 38 องศา สำหรับเด็กอ่อนที่อายุไม่เกิน 3 เดือน)
  • จามบ่อย มีน้ำมูกไหลมีน้ำมูกเหนียว สีเหลือง เขียว หรือเทา
  • แน่นจมูก
  • ไออย่างรุนแรงจนเหนื่อย
  • ไอคล้ายเสียงหมาเห่า
  • หายใจมีเสียงวี๊ด (เสียงดังที่มักจะได้ยินเวลาหายใจออก)
  • หายใจเร็ว หอบ หรือหายใจลำบาก (เด็กที่มีอาการมักเลือกที่จะลุกขึ้นนั่งมากกว่านอนราบ)
  • อกบุ๋ม เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋มลงไปอย่างเห็นได้ชัดเวลาหายใจเนื่องจากต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการหายใจแต่ละครั้ง
  • ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ
  • ตัวลายเขียว เนื่องจากขาดออกซิเจน
  • รับประทานน้อยลง เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลียผิดปกติ (เซื่องซึม)
  • หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย
  • ผิวซีดเซียว

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่จะสามารถหายจากอาการเจ็บป่วยได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนของเชื้อไวรัส RSV ได้แก่

โรคปอดบวม 

เป็นการอักเสบติดเชื้อในปอด ซึ่งเกิดอย่างน้อย 1 ใน 4 ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV เป็นครั้งแรก โดยทั่วไปแล้ว ภาวะปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) หรือภาวะหลอดลมปอดอักเสบ (โรคหลอดลมอักเสบ) ในทารก มักมีสาเหตุหลักมาจากเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง 

เชื้อไวรัสจะปิดกั้นทางเดินหายใจโดยการทำให้หลอดลมฝอยที่เชื่อมเข้าสู่ปอดอักเสบและเต็มไปด้วยเสมหะ 

ภาวะปอดอักเสบจะมีความรุนแรงเมื่อเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรัง

ภาวะติดเชื้อในหูส่วนกลาง 

หากเชื้อโรคเข้าสู่ช่องว่างหลังแก้วหูจะเกิดการติดเชื้อในหูส่วนกลาง (หูชั้นกลางอักเสบ) ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในทารกและเด็กเล็ก

โรคหอบหืด 

การติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรงในเด็กอาจทำให้เด็กมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้ในเวลาต่อมา

ควรไปพบแพทย์เมื่อใด

หากลูกของคุณมีอายุน้อยกว่า 3 เดือน คลอดก่อนกำหนด มีโรคเกี่ยวกับปอด หรือหัวใจ และมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่มีอาการของโรคไข้หวัด

เด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยว่า ได้รับเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เองภายใน 1- 2 สัปดาห์ แม้บางรายจะยังมีอาการหายใจมีเสียงวี๊ดอยู่ 

หากผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของการติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรงอย่างน้อย 1 อาการ หรือเป็นการติดเชื้อในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กอ่อนและผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเรื้อรัง หรือโรคปอดเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ทันที

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคได้ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกายและทดสอบหาเชื้อไวรัส RSV (rapid RSV test) ซึ่งจะทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาที โดยแพทย์อาจส่งตัวอย่างเสมหะจากจมูก หรือทางเดินหายใจส่วนบนของผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

การ x-ray ปอด อาจพบความผิดปกติที่เข้าได้กับโรค RSV

แพทย์อาจใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ในการทดสอบระดับออกซิเจนในเลือด (โดยจะนำอุปกรณ์มาหนีบไว้ที่ปลายนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า) เพื่อตรวจดูว่า ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเพียงพอหรือไม่

การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV

หากผู้ป่วยได้เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็จะสามารถหายจากโรคได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะหายเป็นปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์ในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง 

แต่หากติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรง แพทย์จะให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ และดูดเสมหะให้เป็นระยะ รวมถึงให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หากมีภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคปอดบวม 

ปัจจุบันเชื้อไวรัส RSV นั้นไม่มียารักษาจำเพาะ หรือวิธีการรักษาให้หายโดยตรงเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด แต่สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าหากเป็นเด็กวัยยังไม่หย่านม ควรให้เด็กดื่มนมบ่อยที่สุดเท่าที่เด็กต้องการ
  • หยอดน้ำเกลือล้างจมูก 2-3 หยดลงในรูจมูกเพื่อละลายน้ำมูก หรือเสมหะ จากนั้นใช้ที่บีบดูดน้ำมูก หรือเครื่องดูดน้ำมูก เพื่อนำน้ำมูกออกมา 
  • ให้ผู้ป่วยสูดดมไอน้ำจากเครื่องทำไอระเหยเพื่อให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและหายใจได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาความสะอาดเครื่องมือดังกล่าวจากผู้ผลิต เพราะถ้าหากเครื่องมือสกปรก เชื้อโรคจะสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายขณะสูดดมไอน้ำ
  • ระวังไม่ให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้ควันบุหรี่ สีที่ยังไม่แห้ง ควันจากไม้ฟืน หรือฝุ่นควันอื่นๆ ที่รบกวนทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูดดมควันบุหรี่ที่จะทำให้อาการเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัส RSV หรือไวรัสในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รุนแรงขึ้น
  • หากลูกของคุณอายุน้อยกว่า 3 เดือน คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาพาราเซตามอลสำหรับทารก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยของลูก หากลูกของคุณอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณสามารถให้ยาไอบูโพรเฟน หรือพาราเซตามอลสำหรับเด็กแก่ลูกของคุณได้ในปริมาณที่เหมาะสม
  • คุณไม่ควรซื้อยาแก้หวัดมาให้ผู้ป่วยรับประทานเอง ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากแพทย์ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจหายจากอาการป่วยได้เร็ว แต่อาจจะส่งผลเสียที่รุนแรงกว่าเดิม หรืออาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่เราสามารถดูแลรักษาสุขภาพของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส RSV ได้ ดังนี้ 

  • ล้างมือให้ถูกวิธีบ่อยๆ ควรให้เด็กๆ และคนรอบข้างหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนสัมผัสตัวลูกของคุณ
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและสถานที่ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทารกดังกล่าวคลอดก่อนกำหนด หรืออยู่ในช่วงอายุ 2 เดือนแรก อาจจะให้ลูกอยู่บ้านในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด (ปกติจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน โดยเชื้อจะระบาดมากที่สุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์)
  • ทำความสะอาดสิ่งรอบตัว ควรหมั่นรักษาความสะอาดในห้องครัวและเคาน์เตอร์ห้องน้ำอยู่เสมอ และทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วทันที
  • ไม่ใช้ของใช้ เช่น แก้วน้ำจานชาม ร่วมกับผู้อื่น เวลาที่คุณ หรือคนใกล้ตัวมีอาการป่วย ควรใช้แก้วน้ำส่วนตัว หรือใช้แก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และควรมีการติดป้ายชื่อแก้วน้ำส่วนตัวของแต่ละคน
  • ไม่สูบบุหรี่ ทารกที่ได้รับควันบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และอาจมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่าปกติ หากคุณสูบบุหรี่ จะต้องไม่สูบในบ้าน หรือในรถ
  • ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ต่างๆ อยู่เสมอ คุณควรทำความสะอาดของเล่น ของใช้ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ลูก หรือเพื่อนลูกของคุณไม่สบาย 
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ 
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี

ยาป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

ยาป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือที่เรียกว่า "Palivizumab (Synagis)" สามารถช่วยป้องกันโรคให้แก่เด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากเชื้อไวรัส RSV ได้

ยาดังกล่าวควรใช้ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 29) ที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ แต่ไม่ควรใช้กับเด็กที่คลอดหลังอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 29 ที่มีสุขภาพแข็งแรง 

นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวกับเด็กที่มีสภาวะดังต่อไปนี้

  • ทารกคลอดก่อนกำหนดที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
  • ทารกอายุน้อยกว่า 12 เดือนที่เป็นโรคหัวใจตั้งแต่กำเนิด
  • เด็กอ่อนและเด็กวัยหัดเดินอายุต่ำกว่า 2 ปีที่ได้รับออกซิเจนอย่างน้อย 1 เดือนตั้งแต่แรกเกิด และยังคงต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับปอด
  • เด็กอายุไม่เกิน 2ปี ที่อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำในช่วงฤดูที่ไวรัส RSV ระบาด

แพทย์จะให้ยานี้เดือนละครั้งเป็นระยะเวลา 5 เดือนในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาดหนัก ซึ่งยานี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น และยาจะไม่มีผลหากเด็กมีอาการป่วยมาก่อนแล้ว 

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนแบบพ่นจมูกเพื่อใช้ป้องกันไวรัส RSV

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉัดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hall, Caroline Breese; Weinberg, Geoffrey A.; Iwane, Marika K.; Blumkin, Aaron K.; Edwards, Kathryn M.; Staat, Mary A.; Auinger, Peggy; Griffin, Marie R.; Poehling, Katherine A.; Erdman, Dean; Grijalva, Carlos G.; Zhu, Yuwei; Szilagyi, Peter (2009). "The Burden of Respiratory Syncytial Virus Infection in Young Children". New England Journal of Medicine. 360 (6):58898. doi:10.1056/NEJMoa0804877. PMC 4829966. PMID 19196675
Glezen, WP; Taber, LH; Frank, AL; Kasel, JA (1986). "Risk of primary infection and reinfection with respiratory syncytial virus". American Journal of Diseases of Children. 140(6): 543–6. doi:10.1001/archpedi.1986.02140200053026. PMID 3706232.
พญ.สุชาดา เรืองเลิศพงศ์ และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ไวรัส อาร์เอสวี (RSV) (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1343), 28 เมษายน 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคไข้สมองอักเสบ
โรคไข้สมองอักเสบ

โรคติดเชื้อที่สมองสุดอันตราย รักษาไม่ทันอาจเสียชีวิต บางรายแม้รักษาหายแต่ก็มีโอกาสพิการสูง

อ่านเพิ่ม
เตือนภัย 6 โรคยอดฮิต! ที่มากับหน้าหนาว
เตือนภัย 6 โรคยอดฮิต! ที่มากับหน้าหนาว

6 โรคพบบ่อยในหน้าหนาว ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อุจจาระร่วง ไข้สุกใส พร้อมวิธีดูแลรักษาและป้องกัน

อ่านเพิ่ม