กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic IOL รักษาสายตาสั้น ยาว เอียง คืออะไร อันตรายไหม?

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic IOL คือนวัตกรรมที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสายตาสั้น ยาว เอียง แต่ไม่สามารถทำเลสิกได้
เผยแพร่ครั้งแรก 13 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 มิ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic IOL รักษาสายตาสั้น ยาว เอียง คืออะไร อันตรายไหม?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL) เป็นการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเข้าไปในดวงตา โดยไม่มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก เพื่อแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง
  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี สายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี (บวก หรือลบได้ไม่เกิน 50) มีค่าสายสั้นระหว่าง 300-2,300 หรือสายตายาวระหว่าง 300-1,900 หรือสายตาเอียงระหว่าง 100-600 และสุขภาพตาสมบูรณ์
  • ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเลนส์คือ สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ ในระดับที่กว้างกว่าการทำเลสิก ไม่เจ็บ และหากไม่พึงพอใจในผลการรักษาสามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้
  • ข้อจำกัดของการผ่าตัดเลนส์เสริมคือ ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ และต้องมีสภาพตาสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ตาค่อนข้างสูง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำเลสิก

สายตาสั้น ยาว เอียง เป็นอุปสรรคสำคัญของการมองเห็น หลายคนจึงเลือกสวมแว่นตา หรือใส่คอนแทคเลนส์เพื่อปรับการมองเห็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีที่กล่าวมาก็อาจไม่สะดวกนักสำหรับบางอาชีพ หรือการไปทำกิจกรรมโลดโผน

ด้วยเหตุนี้จึงมีนวัตกรรมทางการแพทย์เกิดขึ้นมากมายเพื่อช่วยแก้ปัญหา หรือข้อจำกัดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ "การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic IOL"

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL) คืออะไร?

Phakic หมายถึง การนำเลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาโดยไม่ได้มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก ซึ่งเลนส์แก้วตานี้มีหน้าที่ช่วยปรับระยะโฟกัส ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนทั้งใกล้และไกล 

ส่วน IOL ย่อมาจาก Intra-ocular Lens หมายถึง เลนส์แก้วตาเสริม

เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงหมายความว่า การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเข้าไปในดวงตา โดยไม่มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก เพื่อแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

หลักการผ่าตัดเสริมเลนส์นี้คล้ายกับการใส่คอนแทคเลนส์ แต่ต่างกันที่ Phakic IOL เป็นการใส่เลนส์เข้าไปในลูกตาแบบถาวร

ทั้งนี้เลนส์ที่นำมาเสริมเข้าไปในดวงตานั้นมีหลากหลายชนิด แต่ชนิดที่ได้มาตรฐานและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ Implantable Collamer Lens หรือ ICL

ICL เป็นเลนส์ชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง) มีส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจน (Collagen) และโคโพลีเมอร์ (Copolymer) 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เลนซ์ ICL มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถเข้ากับร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องอาการแพ้ นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ แผลที่กระจกตาจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับ polymethylmethacrylate (PMMA)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL) เหมาะกับใคร?

การผ่าตัดเสริมเลนส์ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่น หรือคอนแทคเลนส์ โดยผู้รับการผ่าตัดต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นดังนี้

  • อายุระหว่าง 20-50 ปี
  • มีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี (บวก หรือลบได้ไม่เกิน 50)
  • มีภาวะกระจกตาบาง หรือมีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีเลสิก (Lasik)
  • มีค่าสายสั้นระหว่าง 300-2,300 หรือสายตายาวระหว่าง 300-1,900 หรือสายตาเอียงระหว่าง 100-600
  • สุขภาพตาสมบูรณ์และไม่มีโรคทางตาที่มีผลต่อการรักษา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม
  • ไม่เคยผ่านการผ่าตัดตามาก่อน
  • มีความลึกของช่องด้านหน้าลูกตาอย่างน้อย 3 มิลลิเมตรขึ้นไป

ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์เพื่อรักษาอาการสายตาสั้น ยาว เอียงนั้น มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ ในระดับที่กว้างกว่าการทำเลสิก
  • การรักษาใช้เวลาไม่นาน ไม่รู้สึกเจ็บ และสายตาคงที่ได้อย่างรวดเร็ว
  • หากไม่พึงพอใจในผลการรักษา สามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้
  • มีความแม่นยำในการรักษาค่อนข้างสูง การมองภาพคมชัด เพราะเลนส์ตาธรรมชาติยังคงอยู่ และไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเยื่อกระจกตา
  • ผลลัพธ์คงทน มักไม่กลับไปมีอาการสายตาสั้น ยาว เอียง ซ้ำ
  • หลังจากแผลหายสนิท ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากนัก เพียงแต่ควรเข้าพบจักษุแพทย์ตามกำหนด

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ แม้จะมีข้อดีค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน

  • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ และต้องมีสภาพตาสมบูรณ์
  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ตาค่อนข้างสูง

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์แม้จะเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจและประเมินสภาพตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ก่อน และมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

  1. ควรงดสวมคอนแทคเลนส์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน สำหรับคอนแทคเลนส์แบบนิ่ม และอย่างน้อย 7 วัน สำหรับคอนแทคเลนส์แบบแข็ง เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะกดทับกระจกตา เนื่องจากการงดสวมคอนแทคเลนส์จะช่วยให้กระจกตาคืนรูปร่างตามธรรมชาติ เพื่อผลการตรวจและผ่าตัดที่แม่นยำมากที่สุด
  2. งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7-10 วัน
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจเช็กสภาพร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  4. ก่อนผ่าตัดเสริมเลนส์ต้องมีการตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียด โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีขั้นตอนดังนี้
    • ตรวจวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์
    • ตรวจวัดค่าความดันตา
    • ตรวจค่าความโค้งและความหนาของกระจกตา
    • ตรวจค่าความเพี้ยนในการรวมแสงระดับสูง
    • ตรวจวัดระดับการมองเห็น
    • ตรวจวัดค่าความผิดปกติของสายตาก่อนและหลังการขยายม่านตา
    • ตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์

ในวันที่มาตรวจประเมินสภาพตาควรนำแว่นกันแดดติดตัวมาด้วย และควรเดินทางมาพร้อมกับเพื่อน หรือญาติ เนื่องจากการตรวจสภาพสายตานั้นจะมีการหยอดยาขยายม่านตาซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดและสู้แสงไม่ได้ ทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท คลิกเลย!

ทั้งนี้หากการตรวจประเมินสภาพตาผ่าน แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามายิงเลเซอร์ เพื่อเปิดรูเล็กๆ บริเวณด้านข้างม่านตา เพื่อป้องกันความดันลูกตาสูงขึ้นภายหลังการใส่เลนส์ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะนัดยิงเลเซอร์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ประมาณ 2 สัปดาห์

ขั้นตอนการผ่าตัดเสริมเลนส์

ในวันที่นัดผ่าตัดเสริมเลนส์ ควรงดใส่คอนแทคเลนส์ งดแต่งหน้า โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา งดฉีดสเปรย์และน้ำหอมทุกชนิด และสวมเสื้อที่มีกระดุมด้านหน้า พร้อมทำความสะอาดร่างกาย สระผมให้เรียบร้อย โดยแพทย์จะดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ทีมแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาและยาชาลงบริเวณลูกตาข้างที่ต้องการผ่าตัด
  2. แพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรบริเวณขอบกระจกตา
  3. นำเลนส์เสริมสอดเข้าไปในรูที่เปิดไว้ เลนส์ที่สอดเข้าไปจะค่อยๆ คลี่ตัวออก และคงอยู่ในลูกตาโดยไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แผลที่เกิดขึ้นจะสามารถสมานได้เอง ไม่จำเป็นต้องเย็บ ทั้งนี้ระหว่างการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยจะไอ จาม หรือจะเคลื่อนไหวร่างกาย ต้องบอกให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  4. เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะหยอดยาฆ่าเชื้อ ใช้ฝาครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน และจ่ายยาลดความดันลูกตาให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน พร้อมทั้งนัดหมายมาตรวจติดตามผลการรักษาในวันถัดไป

การผ่าตัดเสริมเลนส์ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ซึ่งแพทย์จะนัดผ่าตัดทีละข้าง โดยต้องรอให้แผลหายสนิทก่อนจึงจะนัดผ่าตัดข้างถัดไป โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้หลังการผ่าตัดและหมดฤทธิ์ของยาขยายม่านตา ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทันที

อาการข้างเคียงหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

การผ่าตัดเสริมเลนส์มีอาการข้างเคียงน้อยมาก โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • น้ำตาค่อนข้างมาก หรือมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย
  • เคืองตาหรือแสบตา
  • ตาแดง
  • แสบตา สู้แสงจ้าไม่ได้
  • อาจเห็นแสงเป็นวง หรือเป็นประกาย
  • ต้อกระจก โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เทคนิค Sulcus-Supported PIOLs โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือมีสายตาสั้นมาก
  • เกิดต้อหิน หากมีการเคลื่อนของเลนส์

หากมีอาการดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

แม้ว่าการผ่าตัดเสริมเลนส์จะเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก และโดยส่วนใหญ่แผลจะมีการสมานตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็จำเป็นต้องมีการดูแลแผลอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ห้ามเอาฝาครอบตาออกเองโดยเด็ดขาด ต้องให้แพทย์เป็นผู้นำออกให้ ซึ่งแพทย์จะนำฝาครอบตาออกให้ 1 วันหลังจากผ่าตัดเสร็จ
  2. ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน
  3. ไม่ควรนอนตะแคงทับตาข้างที่ทำการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  4. ระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าตาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ดังนั้นจึงไม่ควรล้างหน้า แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดเช็ดหน้าเท่านั้นและไม่ควรสระผมเอง หากบังเอิญมีน้ำเข้าตาให้ใช้ยาหยอดตา ตามที่แพทย์จ่ายให้
  5. งดใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  6. ห้ามยกของหนักรวมทั้งห้ามก้มศีรษะต่ำกว่าเอว เช่น ก้มหยิบของที่พื้น หรือใส่รองเท้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  7. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือควันบุหรี่ และควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแสงแดด
  8. หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อทางศีรษะ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพราะขณะสวมใส่อาจกระทบบริเวณดวงตาได้
  9. หยอดยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  10. งดว่ายน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
  11. เข้ารับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลานัดตรวจหลังการผ่าตัดดังนี้
    • 1 วัน หลังการผ่าตัด
    • 1 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
    • 1 / 3 / 6 เดือน หลังการผ่าตัด
    • 1 / 2 ปี หลังการผ่าตัด

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL) ต่างจากการทำเลสิกอย่างไร?

การผ่าตัดเสริมเลนส์มีกระบวนการแตกต่างจากเลสิกอย่างมาก โดยการผ่าตัดเสริมเลนส์จะเป็นการแก้ไขสายตาโดยการใส่เลนส์ชนิดพิเศษที่ตัดตามค่าสายตาของแต่ละคนแล้วใส่เข้าไปในดวงตา 

ขณะที่การทำเลสิกเป็นการแก้ไขปัญหาสายตาโดยการใช้แสงเลซอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การหักเหของแสงตกลงพอดีที่เซลล์รับภาพในดวงตา

การทำเลสิกจะมีข้อจำกัดมากกว่านั่นคือ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ รวมถึงผู้มีกระจกตาบาง มีอาการตาแห้ง

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic IOL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์นับว่า เป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยมาก ที่สำคัญยังมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้มองเห็นได้คมชัดอย่างถาวร 

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์สำหรับตาทั้ง 2 ข้าง ในโรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นที่ 80,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เริ่มต้นที่ 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นๆ

การผ่าตัดเสริมเลนส์นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ปลอดภัย ช่วยให้คุณกลับมามองเห็นได้อย่างคมชัด แต่อย่างไรก็ตามควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำเลสิก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คืออะไร อันตรายไหม?


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Myron Yanoff; Jay S. Duker (2009). Ophthalmology (3rd ed.). [Edinburgh]: Mosby Elsevier. pp. 186–201. ISBN 978-0-323-04332-8.
Dimitri T. Azar; Damien Gatinel (2007). Refractive surgery (2nd ed.). Philadelphia: Mosby Elsevier. pp. 397–463. ISBN 978-0-323-03599-6.
โรงพยาบาล ตา หู คอ จมูก, การใส่เลนส์เสริม ICL, (https://eent.co.th/lasik/lasik-eye-surgery/icl/).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป