กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คืออะไร อันตรายไหม?

ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คือการแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียงที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำเลสิกได้
เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 มิ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คืออะไร อันตรายไหม?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คือ การนำเลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาโดยไม่ได้มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก
  • เลนส์เสริม มีส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจน (Collagen) และโคโพลีเมอร์ (Copolymer) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถเข้ากับร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องอาการแพ้
  • ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คือ สามารถรักษาได้ในระดับที่กว้างกว่าการทำเลสิก ผู้ที่มีภาวะตาแห้งรุนแรงสามารถทำได้ ไม่เจ็บ และหากไม่พึงพอใจในผลการรักษาสามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้
  • ข้อจำกัดของการผ่าตัดเลนส์เสริม คือ ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ และต้องมีสภาพตาสมบูรณ์ และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ตาค่อนข้างสูง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำเลสิก

ใครที่ประสบปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง จนต้องสวมแว่นตาแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ตลอดเวลา และกำลังมองหานวัตกรรมทางแพทย์ใหม่ๆ ที่ช่วยให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์ อีกต่อไป

ปัจจุบันมีทางเลือกที่น่าสนใจ นั่นคือ "การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL" ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสายตา และไม่สามารถทำเลสิกได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL คืออะไร?

Phakic หมายถึง การนำเลนส์เสริมเข้าไปในดวงตาโดยไม่ได้มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก 

ส่วน ICL ย่อมาจาก Implantable Collamer Lens เป็นเลนส์ชนิดพิเศษที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง) 

มีส่วนประกอบสำคัญคือคอลลาเจน (Collagen) และโคโพลีเมอร์ (Copolymer) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถเข้ากับร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องอาการแพ้

เลนส์ ICL นับว่า เป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงกลายเป็นคำนิยมที่ใช้เรียกโดยทั่วไปว่า "Phakic ICL" 

แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดเสริมเลนส์นั้นมีชื่อเรียกว่า "Phakic IOL (Phakic Intra-ocular Lens)" หมายถึง การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมเข้าไปในดวงตา โดยไม่มีการนำเลนส์แก้วตาธรรมชาติออก เพื่อแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

หลักการผ่าตัดเสริมเลนส์นี้คล้ายกับการใส่คอนแทคเลนส์ แต่ต่างกันที่ Phakic IOL เป็นการใส่เลนส์เข้าไปในลูกตาแบบถาวร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL เป็นนวัตกรรมที่มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

  • สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ ในระดับที่กว้างกว่าการทำเลสิก
  • แม้จะมีภาวะกระจกตาบางหรือมีอาการตาแห้งอย่างรุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีทำเลสิก ก็ยังผ่าตัดเสริมเลนส์ได้
  • การรักษาใช้เวลาไม่นาน ไม่รู้สึกเจ็บ และสายตาคงที่ได้อย่างรวดเร็ว
  • หากไม่พึงพอใจในผลการรักษา สามารถผ่าตัดนำเลนส์ออกได้
  • มีความแม่นยำในการรักษาค่อนข้างสูง การมองภาพคมชัด เพราะเลนส์ตาธรรมชาติยังคงอยู่ และไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเยื่อกระจกตา
  • ผลลัพธ์คงทน ถาวร มักไม่กลับไปมีอาการสายตาสั้น ยาว เอียง ซ้ำ
  • หลังจากแผลหายสนิท ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามากนัก เพียงแต่ควรเข้าพบจักษุแพทย์ตามกำหนด

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL) เหมาะกับใคร?

ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้

  • มีอายุระหว่าง 20-50 ปี
  • ต้องมีสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี (บวกหรือลบได้ไม่เกิน 50)
  • มีค่าสายสั้นระหว่าง 300-2,300 หรือสายตายาวระหว่าง 300-1,900 หรือสายตาเอียงระหว่าง 100-600
  • สุขภาพตาสมบูรณ์ ไม่มีโรคทางตาที่มีผลต่อการรักษา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม
  • ไม่เคยผ่านการผ่าตัดตามาก่อน
  • มีความลึกของช่องด้านหน้าลูกตาอย่างน้อย 3 มิลลิเมตรขึ้นไป

ข้อจำกัดของการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL มีข้อจำกัด ดังนี้

  • ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ได้ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่ระบุไว้ และต้องมีสภาพตาสมบูรณ์
  • ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ตาค่อนข้างสูง

จะเห็นได้ว่า เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีข้อกำจัดน้อยกว่าการทำเลสิกมาก

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL จำเป็นต้องได้รับการตรวจและประเมินสภาพตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ดังนี้

  1. ควรงดสวมคอนแทคเลนส์ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ล่วงหน้า สำหรับคอนแทคเลนส์แบบนิ่มควรงดอย่างน้อย 3 วัน สำหรับคอนแทคเลนส์แบบแข็งควรงดอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากคอนแทคเลนส์จะกดทับกระจกตา การงดสวมคอนแทคเลนส์จะช่วยให้กระจกตาคืนรูปร่างตามธรรมชาติ เพื่อผลการตรวจและผ่าตัดที่แม่นยำที่สุด
  2. งดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7-10 วัน
  3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อจะได้ตรวจเช็กสภาพร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  4. ก่อนผ่าตัดเสริมเลนส์ต้องมีการตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียด โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง มีขั้นตอนดังนี้
    • ตรวจวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์
    • ตรวจวัดค่าความดันตา
    • ตรวจค่าความโค้งและความหนาของกระจกตา
    • ตรวจค่าความเพี้ยนในการรวมแสงระดับสูง
    • ตรวจวัดระดับการมองเห็น
    • ตรวจวัดค่าความผิดปกติของสายตาก่อนและหลังการขยายม่านตา
    • ตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์ในวันที่ตรวจประเมินสภาพตา ควรนำแว่นกันแดดมาด้วย และควรมาพร้อมกับเพื่อน หรือญาติ เนื่องจากการตรวจสภาพสายตานั้นจะมีการหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดและสู้แสงไม่ได้ การเดินทางจะค่อนข้างลำบาก

ทั้งนี้ หากการตรวจประเมินสภาพตาผ่าน ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมเลนส์ประมาณ 2 สัปดาห์ แพทย์จะนัดผู้ป่วยเข้ามายิงเลเซอร์เพื่อเปิดรูเล็กๆ บริเวณด้านข้างม่านตา ป้องกันความดันลูกตาสูงขึ้นภายหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ขั้นตอนการผ่าตัดเสริมเลนส์

วันที่นัดผ่าตัดเสริมเลนส์ งดใส่คอนแทคเลนส์ งดแต่งหน้า โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา รวมทั้งงดฉีดสเปรย์และน้ำหอมทุกชนิด ควรสวมเสื้อที่มีกระดุมด้านหน้า พร้อมทำความสะอาดร่างกาย สระผมให้เรียบร้อย 

โดยแพทย์จะดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

  1. ทีมแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาและยาชาลงบริเวณลูกตาข้างที่ต้องการผ่าตัด
  2. แพทย์จะเปิดช่องเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรบริเวณขอบกระจกตา
  3. นำเลนส์เสริมสอดเข้าไปในรูที่เปิดไว้ โดยเลนส์จะค่อยๆ คลี่ตัวออก และคงอยู่ในลูกตาโดยไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แผลที่เกิดขึ้นจะสมานได้เอง ไม่จำเป็นต้องเย็บ ระหว่างการผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยจะไอ จาม หรือต้องการเคลื่อนไหวร่างกาย ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  4. เมื่อผ่าตัดเสร็จ แพทย์จะหยอดยาฆ่าเชื้อ ใช้ฝาครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน และจ่ายยาลดความดันลูกตา ให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน และนัดมาตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาในวันถัดไป

การผ่าตัดเสริมเลนส์ใช้เวลาข้างละประมาณ 15-20 นาที ซึ่งแพทย์จะนัดผ่าตัดทีละข้าง โดยต้องรอให้แผลหายสนิทก่อนจึงจะนัดผ่าตัดข้างถัดไป โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์

ทั้งนี้หลังการผ่าตัดและหมดฤทธิ์ของยาขยายม่านตา ผู้ป่วยจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนทันที

อาการข้างเคียงหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

การผ่าตัดเสริมเลนส์มีอาการข้างเคียงน้อยมาก จะพบในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น โดยอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • น้ำตาค่อนข้างมาก หรือมีอาการคัดจมูกร่วมด้วย
  • เคืองตา หรือแสบตา
  • ตาแดง
  • แสบตา สู้แสงจ้าไม่ได้
  • ต้อกระจก โดยเฉพาะกรณีที่ใช้เทคนิค Sulcus-Supported PIOLs โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือมีสายตาสั้นมาก
  • เกิดต้อหิน หากมีการเคลื่อนของเลนส์
  • เกิดภาวะแคบลงของห้องตาด้านหน้า ซึ่งเกิดจากเลนส์ธรรมชาติจะมีการหนาตัวเพิ่มขึ้นไปตามอายุถึงแม้ข้อมูลทางการแพทย์ในเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากการหนาตัวของเลนส์จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 12-17 ไมโครเมตรต่อปี นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเห็นผลดังกล่าว แต่ภาวะดังกล่าวยังเป็นที่กังวลของจักษุแพทย์ เนื่องจากเลนส์จะถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่แคบที่สุดของห้องตาด้านหน้า

หากมีอาการดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดทราบทันที เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดเสริมเลนส์

หลังการผ่าตัดเสริมเลนส์ แม้ว่าจะไม่เห็นแผล ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ แต่ก็จำเป็นต้องมีการดูแลแผลอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. หลังผ่าตัดแพทย์ 1 วัน แพทย์จะเป็นผู้นำฝาครอบตาออกให้ ห้ามผู้ป่วยเอาฝาครอบตาออกเองโดยเด็ดขาด
  2. ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน
  3. ไม่ควรนอนตะแคงทับตาข้างที่ทำการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  4. ระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าตาเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ดังนั้นจึงไม่ควรสระผมเอง ไม่ควรล้างหน้า แนะนำให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสะอาดเช็ดหน้าเท่านั้น หากบังเอิญมีน้ำเข้าตา ให้ใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์จ่ายให้
  5. งดใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  6. ห้ามยกของหนัก รวมทั้งห้ามก้มศีรษะต่ำกว่าเอว เช่น ก้มหยิบของที่พื้น ใส่รองเท้า อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  7. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง หรือควันบุหรี่ และควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องอยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและแสงแดด
  8. หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อทางศีรษะเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพราะขณะสวมใส่อาจกระทบบริเวณดวงตาได้
  9. หยอดยาและรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยปกติจักษุแพทย์จะสั่งยาหยอดตาชนิดสเตียรอยด์ให้ใช้เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
  10. งดว่ายน้ำเป็นเวลา 1 เดือน
  11. เข้ารับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลานัดตรวจหลังการผ่าตัดดังนี้
    • 1 วัน หลังการผ่าตัด
    • 1 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด
    • 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน หลังการผ่าตัด
    • 1 ปี และ 2 ปี หลังการผ่าตัด

การผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL) ต่างจากการทำเลสิกอย่างไร?

หลายคนอาจสงสัยว่า การผ่าตัดเสริมเลนส์แตกต่างจากการทำเลสิกอย่างไร จริงๆ แล้วผลลัพธ์ของการผ่าตัดแทบไม่แตกต่างกัน คือสามารถแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ได้อย่างถาวร แต่จะแตกต่างกันที่กระบวนการ

การผ่าตัดเสริมเลนส์จะเป็นการแก้ไขสายตาโดยการใส่เลนส์ชนิดพิเศษ ที่ตัดตามค่าสายตาของแต่ละคนแล้วใส่เข้าไปในดวงตา ขณะที่การทำเลสิกเป็นการแก้ไขปัญหาสายตาโดยการใช้แสงเลซอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตา เพื่อให้การหักเหของแสงตกลงพอดีที่เซลล์รับภาพในดวงตา

การทำเลสิกจะมีข้อจำกัดมากกว่า นั่นคือ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ รวมถึงผู้มีกระจกตาบาง มีอาการตาแห้ง

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์ (Phakic ICL)

การผ่าตัดเสริมเลนส์ Phakic ICL เป็นนวัตกรรมมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้มองเห็นได้คมชัดอย่างถาวร มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง 

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเสริมเลนส์สำหรับตาทั้ง 2 ข้าง ในโรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นที่ 80,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชน เริ่มต้นที่ 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนั้นๆ

ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง ต้องสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ตลอดเวลา จนกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดเสริมเลนส์เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางการแพทย์ที่น่าสนใจ แต่ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ชัด รวมทั้งเลือกทำกับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำเลสิก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Myron Yanoff; Jay S. Duker (2009). Ophthalmology (3rd ed.). [Edinburgh]: Mosby Elsevier. pp. 186–201. ISBN 978-0-323-04332-8.
Dimitri T. Azar; Damien Gatinel (2007). Refractive surgery (2nd ed.). Philadelphia: Mosby Elsevier. pp. 397–463. ISBN 978-0-323-03599-6.
โรงพยาบาล ตา หู คอ จมูก, การใส่เลนส์เสริม ICL, (https://eent.co.th/lasik/lasik-eye-surgery/icl/).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 ความจริงเกี่ยวกับการปกป้องดวงตาของคุณ
5 ความจริงเกี่ยวกับการปกป้องดวงตาของคุณ

บริหารตาช่วยยืดอายุตาได้จริงหรือไม่? ถอดแว่นเป็นพักๆ ดีกับดวงตาจริงไหม? อ่าน 5 ความจริงของการดูแลสุขภาพดวงตา ที่คุณอาจเคยรู้มาแบบผิดๆ

อ่านเพิ่ม