เยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นการติดเชื้อที่ทำให้ปวดมากของเยื่อบุผนังทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน
เยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เยื่อบุช่องท้อง ซึ่งเป็นเยื่อบุบางๆ คล้ายผ้าไหมที่บุอยู่ในผนังหน้าท้องด้านใน เยื่อบุช่องท้องจะปกป้องอวัยวะในช่องท้อง เช่น ตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องจะทำให้เกิดอาการปวด อักเสบ ระคายเคือง และต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาการติดเชื้อและภาวะที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง
ตรวจ รักษาโรคทางเดินอาหาร วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 116 บาท ลดสูงสุด 74%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สาเหตุของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
เยื่อบุช่องท้องอักเสบเกิดจากการสะสมของเลือด ของเหลวที่ร่างกายสร้าง หรือหนองในช่องท้อง โดยเยื่อบุช่องท้องอักเสบมี 2 ประเภท คือ
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เกิดขึ้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อของของเหลวที่สะสมอยู่ในช่องท้อง ซึ่งของเหลวนี้จะมีมากในโรคตับระยะท้ายหรือในโรคไต และยังทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นอันตรายต่อลำไส้ได้ด้วย
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบจากสาเหตุอื่น เกิดจากภาวะอื่นๆ ของร่างกาย เช่น มีการติดเชื้อที่แพร่กระจายจากระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่นจากไส้ติ่งแตก แผลในกระเพาะอาหาร ถุงผนังลำไส้อักเสบ หรือลำไส้ใหญ่รั่ว
นอกจากนี้ การบาดเจ็บจากแผลกระสุนปืนหรือแผลถูกแทงก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่นเดียวกับการใส่สายล้างไตทางหน้าท้องหรือใส่สายให้อาหาร เยื่อบุช่องท้องอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียสามารถทำให้เกิดเกิดภาวะพิษจากการติดเชื้อ (sepsis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงมากในกระแสเลือด ทารกคลอดก่อนกำหนดที่อวัยวะยังพัฒนาไม่เต็มที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากภาวะลำไส้เน่าในทารกแรกเกิด (necrotizing enterocolitis)
อาการของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
อาการและอาการแสดงของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ได้แก่
- ปวดท้องหรือสัมผัสท้องแล้วปวด
- ท้องอืดหรือแน่นท้อง
- ไข้
- คลื่นไส้และอาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ถ่ายเหลว
- ถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือผายลมไม่ออก
- ปัสสาวะออกน้อย
- กระหายน้ำ
- อ่อนเพลีย
- หนาวสั่น
- ปวดข้อ
- มึนศีรษะหรือไม่มีแรง
ผู้ที่ล้างไตทางหน้าท้องอาจเคยมีอาการเหล่านี้
- น้ำล้างไตออกมาเป็นสีขุ่น
- มีจุด เส้นใย หรือตะกอนขาวๆ (เส้นใยไฟบริน)ในน้ำล้างไต
ทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีภาวะลำไส้เน่า ในทารกจะมีอาการเกิดขึ้นใน 1-2 สัปดาห์แรก ได้แก่
- ท้องอืด หรือหน้าท้องบวม
- รับอาหารได้ไม่ดี
- อาเจียนบ่อยและอาจมีสีเขียว
- อุจจาระมีเลือดปน ท้องผูก หรือถ่ายเหลว
- หน้าท้องแดงหรือมีสีผิดปกติไป
- ไม่มีแรง
- ไข้
- อุณหภูมิกายต่ำหรือไม่คงที่ หัวใจเต้นช้า หรือความดันต่ำ
- หยุดหายใจ
ภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
หากทิ้งไว้ไม่รักษา เยื่อบุช่องท้องอักเสบจะทำให้เกิด
- การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดที่เรียกว่า แบคทีรีเมีย (bacteremia)
- ภาวะพิษจากการติดเชื้อ (sepsis)
- โรคสมองจากตับ (Hepaticencephalopathy) เป็นการสูญเสียการทำงานของสมอง ซึ่งเกิดจากตับไม่สามารถกำจัดสารพิษในเลือดออกไปได้
- กลุ่มอาการโรคไตจากตับ (Hepatorenal syndrome) คือ ภาวะที่ไตล้มเหลวมากขึ้นเรื่อยๆ ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- เสียชีวิต
การวินิจฉัยเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
ในผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้องแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบด้วยอาการและอาการแสดงโดยเฉพาะหากมีน้ำล้างไตสีขุ่น หากแพทย์ต้องการยืนยันการวินิจฉัยหรือภาวะติดเชื้อนั้นเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายหน้าท้องเพื่อดูว่ากดแล้วปวดหรือแข็งหรือไม่ และอาจต้องส่งตรวจอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้
- ตรวจวิเคราะห์น้ำในช่องท้องทำได้โดยใช้เข็มเล็กๆ เก็บตัวอย่างน้ำในช่องท้อง หากเม็ดเลือดขาวในน้ำในช่องท้องสูงขึ้น บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบและการเพาะเชื้อจากน้ำในช่องท้องจะบ่งบอกว่าติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่
- ตรวจเลือด จะช่วยบอกได้หากมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นและการเพาะเชื้อจากเลือดจะบอกได้ว่ามีแบคทีเรียในเลือดหรือไม่
- การถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซเรย์ อัลตราซาวน์ หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) สามารถตรวจหาน้ำ ลม ก้อน หรือฝีในช่องท้องได้และหารอยรั่วของระบบทางเดินอาหารได้
การรักษาเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
เมื่อพบสาเหตุของเยื่อบุช่องท้องอักเสบแล้ว การรักษาจะเริมทันที หากทิ้งไว้เยื่อบุช่องท้องอักเสบจะรุนแรงมากขึ้นและอันตรายถึงชีวิต การรักษา ได้แก่ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อและไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจาย อาจทำการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก รักษาสาเหตุของการติดเชื้อและป้องกันเชื้อแพร่กระจาย ส่วนการรักษาอื่นๆ เช่น ยาระงับปวด การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การให้ออกซิเจน และการให้เลือดอาจทำในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล หากล้างไตทางหน้าท้องอยู่ จำเป็นต้องล้างไตด้วยวิธีอื่นจนกว่าการติดเชื้อจะหายไป หากเยื่อบุช่องท้องอักเสบเป็นนานหรือกลับมาเป็นซ้ำจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีล้างไตเป็นวิธีอื่นอย่างถาวร
ช่วงนี้ปวดท้องบ่อย