ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

แตงไทย (Muskmelon)

ไขทุกคำตอบเกี่ยวกับแตงไทย แตงไทยเป็นผักหรือผลไม้ แตงไทยกับแคนตาลูปเหมือนกันหรือไม่ กินแตงไทยให้ประโยชน์อะไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
แตงไทย (Muskmelon)

แตงไทย สิ่งที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผักหรือผลไม้กันแน่ ในทางพฤกษศาสตร์ได้ให้นิยามของคำว่า “ผลไม้” ว่า คือส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ ภายในมีเมล็ด และเมล็ดเหล่านั้นสามารถขยายพันธุ์ได้ ส่วนใหญ่เนื้อในของผลไม้จะมีรสหวานจากน้ำตาลฟรุกโตส ส่วนคำว่า “ผัก” หมายถึงพืชที่คนเราใช้ส่วนต่างๆ เช่น ใบ ลำต้น ดอก หรือหัวใต้ดินมาประกอบอาหาร จากเกณฑ์เหล่านี้ แตงไทย จึงเป็นผลไม้

แตงไทยต่างจากแคนตาลูปอย่างไร?

ทั้งแตงไทยและแคนตาลูปล้วนเป็นพืชวงศ์แตง (Cucurbitaceae) ผลแตงไทยมีลักษณะรี แต่แคนตาลูปผลจะเป็นทรงกลม ลักษณะผิวภายนอกของแตงไทยจะคล้ายแตงกวาและแตงโม คือเป็นริ้วยาว ส่วนเปลือกแคนตาลูปจะมีลักษณะจะเป็นแบบตาข่ายลายนูน เห็นเส้นประสานกันชัดเจน

เนื้อด้านในของแตงไทยเมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลืองอ่อนแกมเขียว แต่ผลสุกของแคนตาลูปนั้นจะมีสีส้มทอง ทั้งคู่จะมีกลิ่นหอมและรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ความเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งของทั้งคู่คือ เมล็ดของแตงไทยและแคนตาลูปนั้นถือเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ กรดไขมันอย่างโอเมกา 3 ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ขับของเสียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ และที่สำคัญ ยังช่วยบำรุงเส้นผมและเล็บได้เป็นอย่างดี

แตงไทยเป็นทั้งอาหารและยา

ผู้คนนิยมนำแตงไทยมาทำเป็นทั้งของคาวและของหวาน เนื้อในของแตงไทยมีสีเหลืองอมส้ม เนื้อนิ่ม รสชาติหวานกำลังดี สามารถนำมาทำอาหารประเภทยำและแกงได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเห็นในเมนูของหวานอย่างน้ำแข็งไส หรือในของหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ

แตงไทยจัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามินซีและบีรวม ซึ่งทั้งสองเป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในน้ำ ไม่สามารถสะสมไว้ในร่างกายได้ จำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเท่านั้น

ข้อควรระวังอย่างหนึ่งของวิตามินที่ละลายในน้ำ คือวิตามินมักจะสูญเสียคุณค่าระหว่างการปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนสูง

นอกจากนี้แตงไทยยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ทั้งนี้วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา ชะลอความเสื่อมของจอประสาทตาและต้อกระจก ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากนี้สารอาหารในแตงไทยยังช่วยเสริมสร้างระบบในร่างกายและอวัยวะภายในให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ระบบประสาท ระบบไหลเวียนเลือด ระบบไขข้อและกระดูก ระบบขับถ่าย

แตงไทย ผลไม้สำหรับคนลดน้ำหนัก

แตงไทย ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก มีรายงานจากการศึกษาในคน 3,628 คนที่รับประทานแตงไทยเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าดัชนีมวลกายลดลง เนื่องจากแตงไทยเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่ต่ำและเนื้อฉ่ำน้ำ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ที่เพียงพอในแต่ละวัน

เมื่อรับประทานแตงไทยเข้าไปแล้วจึงทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว ช่วยควบคุมน้ำหนักได้ ยิ่งไปกว่านั้น

ผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถกินแตงไทยได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลต่ำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี

แตงไทยกับการรักษาพื้นบ้าน

ส่วนเมล็ดและเนื้อผลของแตงไทยมีสรรพคุณทางยาดังนี้

  • เมล็ดแก่ ช่วยในการขับปัสสาวะ ในผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ขัดเบา แก้ไอ
  • เนื้อผล มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อนใน กระหายน้ำ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาระบายได้ เนื่องจากมีกากใยสูง

เคล็ดลับความงามด้วยแตงไทย

เนื้อแตงไทยมีฤทธิ์เย็น และอุดมไปด้วยวิตามินซีที่สูงมาก สามารถนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ แปะไว้ทั่วหน้าประมาณ 15-20 นาที สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ด้วยความเย็นของเนื้อแตงไทยจะช่วยให้รูขุมขนกระชับขึ้น ลดอาการอักเสบที่ผิวหนัง แก้ฝ้า จุดด่างดำ ริ้วรอย ที่เกิดในระยะแรกได้

แตงไทย ทำอะไรกินได้บ้าง?

ส่วนใหญ่เนื้อแตงไทยมักอยู่ในเมนูขนมหวานคู่กับน้ำกะทิ เมนูอื่นที่ทำได้ ได้แก่ สลัดแตงไทย น้ำปั่นแตงไทยใส่นมหรือโยเกิร์ต หรือเดิมความหวานด้วยน้ำผึ้ง ส่วนเมล็ดสามารถนำมาอบแห้ง รับประทานเป็นอาหารว่าง หรือใช้โรยในซุปหรือสลัดก็ได้ ยังมีผลแตงไทยลูกเล็ก ใช้ทำแกงส้ม

แตงไทยกินมากไปก็ไม่ดี

การรับประทานแตงไทยมากเกินไป อาจเป็นผลเสียสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากในเนื้อแตงไทยมีโพแทสเซียมที่สูง แร่ธาตุดังกล่าวมีผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด เกี่ยวของกับดวามดันโลหิตโดยตรง อาจทำให้เกิดความผิดปกติตามมาได้ และหากรับประทานมากเกินอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย เพราะแตงไทยมีสรรพคุณเป็นยาระบาย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เดชา ศิริภัทร, นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 213, แตงไทย (https://www.doctor.or.th/article/detail/3941), 1 มกราคม 2540.
Rachael Link, Muskmelon: What is it and how is it different from Cantaloupe? (https://www.healthline.com/nutrition/muskmelon-vs-cantaloupe#muskmelon-vs-cantaloupe), 12 April 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป