อาการไอเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการไอ เช่น ได้รับฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้ มีเสมหะในทางเดินอาหาร การสูบบุหรี่ มีประวัติเป็นโรคหอบหืด รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางกลุ่ม เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เป็นต้น หากไอไม่รุนแรง อาการไออาจทำให้เกิดความรำคาญและสามารถหายได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไออย่างรุนแรงต่อเนื่อง อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบ และอาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไออีกด้วย วิธีการรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือ การกำจัดที่ต้นเหตุของอาการไอ เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือรักษาโรคหอบหืดที่เป็นอยู่ นอกจากนั้นคือใช้ยาแก้ไอช่วยบรรเทาอาการได้ โดยที่มักพบกันโดยทั่วๆ ไปจะเป็นยาแก้ไอรูปแบบยาเม็ด กับยาแก้ไอรูปแบบน้ำ
ชนิดของยาแก้ไอ
ยาแก้ไอเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการไอ สามารถแบ่งตามการรักษาได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มยาระงับอาการไอหรือยากดอาการไอ และกลุ่มยาน้ำแก้ไอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
1. กลุ่มยาระงับอาการไอ หรือยากดอาการไอ (Cough Suppressants)
ยากดอาการไอออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดการไอ โดยยากลุ่มนี้มีผลรักษาอาการไอแห้ง และเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไอเนื่องจากการอักเสบของหลอดลมชนิดเรื้อรังที่เกิดจากการแพ้หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ หากใช้ยานี้เดี่ยวๆ รักษาอาการไอแบบมีเสมหะ อาจทำให้เสมหะที่เหนียวข้นอยู่แล้วถูกขับออกมาจากทางเดินหายใจได้ยากขึ้น จนเกิดอาการระคายเคืองและทำให้อาการไอรุนแรงกว่าเดิมได้
แม้ว่าจะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดี แต่ยาในกลุ่มนี้บางตัวอาจทำให้เกิดการเสพติด หรืออาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ดังนั้น การใช้และสั่งจ่ายยาแก้ไอจึงควรอยู่ในการดูแลและควบคุมโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
ยาแก้ไอกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และรูปแบบยาน้ำสำหรับเด็ก ตัวอย่างได้แก่
- โคเดอีน (Codeine) และโอพิเอตหรืออนุพันธ์ของฝิ่น (Opiate Derivertives) โคดีอีนเป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ ใช้ระงับอาการไอและบรรเทาอาการปวดเรื้อรังระดับปานกลางขึ้นไป ยาแก้ไอผสมโคเดอีนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 สามารถจำหน่ายได้ในสถานพยาบาลที่มีเตียงไว้พักค้างคืนเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายในคลินิกหรือร้านขายยาได้ การใช้ยาโคเดอีนเกินขนาด หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อาจทำให้เกิดการติดยาหรือเสียชีวิต เนื่องจากยาโคเดอีนมีผลชะลออัตราการหายใจ หรือส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กรับประทานยาที่มีส่วนผสมของโคเดอีน
ยาโคเดอีนที่มีจำหน่ายสำหรับระงับอาการไอในประเทศไทยอาจมีตัวยาช่วยขับเสมหะ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) รวมอยู่ด้วยในตำรับ เพื่อให้ไอและขับเสมหะออกมาด้วยในคราวเดียวกัน - เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) แม้ว่าเด็กซ์โทรเมทอร์แฟนจะมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโคเดอีนและมอร์ฟีน แต่ยานี้ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด และทำให้ง่วงนอนเพียงเล็กน้อย เด็กซ์โทรเมทอร์แฟนเป็นตัวยาแก้ไอที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับรักษาอาการไอ จึงเป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรนิยมจ่ายเพื่อรักษาอาการไอแห้งๆ
- ลีโวโดรโพรพิซีน (Levodropropizine) เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนปลาย นิยมใช้บรรเทาอาการไอแห้งที่เกิดจากการแพ้ หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ เภสัชกรแนะนำให้ใช้ยาแก้ไอลีโวโดรโพรพิซีนในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน
- บูทามิเรต (Butamirate) เป็นยาระงับอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองทางเดินหายใจชนิดไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำเชื่อม ซึ่งในบ้านเราที่พบเป็นชนิดยาน้ำเชื่อม ใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ยาบูทามิเรตออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง และลดการหดตัวของหลอดลม
- ยากลุ่มต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะหลั่งสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ ยากลุ่มนี้จะยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน จึงช่วยบรรเทาการเกิดอาการแพ้ รวมถึงอาการไอเนื่องจากการระคายเคืองในลำคอ ตัวอย่างยากลุ่มต้านฮิสตามีน ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) โปรเมทาซีน (Promethazine) และคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นต้น
2. กลุ่มยาแก้ไอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น
กลุ่มยาแก้ไอในรูปแบบน้ำจะออกฤทธิ์โดยเคลือบลำคอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น ลดอาการระคายเคืองจากการไอในลำคอ ยาน้ำแก้ไอมีผลช่วยลดอาการไอในผู้ป่วยที่มีอาการคอแห้ง ยาน้ำแก้ไอที่มีจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมใส่สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการไอร่วมด้วย เช่น มะขามป้อม มะแว้ง ชะเอมเทศ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาล เมื่อรับประทานลงไปจะทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการหลั่งน้ำลายมากขึ้น และระบบร่างกายจะตอบสนองน้ำลายที่มากเกินไปโดยการกลืน ซึ่งจะมีผลออกฤทธิ์รบกวนกลไกการไอ จึงทำให้ไอลดลง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานยืนยันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลุ่มยาแก้ไอแบบน้ำในการรักษาอาการไอที่แน่ชัด ดังนั้น ในทางปฏิบัติ แพทย์ส่วนใหญ่จึงมักพิจารณาใช้กลุ่มยาแก้ไอเป็นยาร่วมในการรักษาอาการไอ ควบคู่ไปกับกลุ่มยากดอาการไอ (Cough Suppressants) ซึ่งใช้เป็นยาหลัก
คำเตือน และข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอ
ยาแก้ไอแต่ละชนิดในกลุ่มยาแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบของยาที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา ประวัติแพ้ยา และประวัติทางการแพทย์อื่นๆ ด้วยทุกครั้งก่อนใช้ยา คำแนะนำหลักๆ ที่สำคัญมีดังนี้
- ยาแก้ไอโคเดอีนมีฤทธิ์เสพติด จึงควรใช้เมื่อยาตัวอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น และควรใช้ในระยะสั้นๆ ห้ามใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีฤทธิ์กดการหายใจด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้ และห้ามใช้ยานี้ในคนท้อง
- ยาแก้ไอเด็กซ์โทรเมทอร์แฟนมีข้อห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
- ยาแก้ไอบูทามิเรต ลีโวโดรโพรพิซีน และยากลุ่มต้านฮิสตามีน เวลาใช้ควรระวังในการขับรถและการควบคุมเครื่องจักรเนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงซึม
- ยาลีโวโดรโพรพิซีน หากใช้ในผู้ป่วยโรคไต ควรมีการติดตามการใช้ยาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android