ยาและการรักษาโรคของต่อมไทรอยด์

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ยาและการรักษาโรคของต่อมไทรอยด์

การรักษาโรคของต่อมไทรอยด์มีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น และสภาวะของผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น กรณีต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จะรักษาด้วยยายับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน การผ่าตัด หรือการใช้กัมมันตรังสีไอโอดีน ถ้าเป็นกรณีต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป จะรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมนสังเคราะห์ เป็นต้น

ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Medications for Hyperthyroidism)

  • เบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blockers): ยาในกลุ่มนี้จะยับยั้งการตอบสนองของร่างกายหลายๆ อย่างที่มีต่อภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ยาจะลดอาการมือสั่น, กระวนกระวายใจ, กระสับกระส่าย และทำให้หัวใจที่เต้นเร็วจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปให้เต้นช้าลงได้ แพทย์จะสั่งยาเบต้าบล็อกเกอร์รูปแบบเม็ดให้ผู้ป่วยที่มีอาการในระดับรุนแรงน้อยถึงรุนแรงปานกลาง แต่ถ้ามีอาการในระดับรุนแรง (thyrotoxic crisis) แพทย์จะสั่งเป็นยาชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำแทน แม้ว่ายาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์จะยับยั้งการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป แต่ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดโรค
  • โพรพิลไทโอยูราซิล (propylthiouracil): ยานี้คือยาต้านไทรอยด์ (antithyroid drug) ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เริ่มรับประทานยากว่าจะได้ผลการรักษาเต็มที่ องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ให้คำแนะนำไว้ว่า ในกรณีที่ตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้เฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เท่านั้น หรือใช้เฉพาะกรณีที่แพ้ยา เมทิมาโซล (methimazole) สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยานี้คือ ผื่นคัน ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยกว่า แต่มีอาการรุนแรงมากกว่าคือ การลดลงของเม็ดเลือดขาว ทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคลดน้อยลง ดังนั้นหากมีไข้สูงระหว่างรับประทานยานี้ให้ไปพบแพทย์
  • เมทิมาโซล (methimazole): ยานี้เป็นยาต้านไทรอยด์ที่แนะนำให้ใช้เป็นตัวแรกสำหรับผู้ป่วยทุกคน ยกเว้นในผู้หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก โดยยานี้จะยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ และเป็นยาที่อาจใช้ระยะเวลานานกว่ายาโพรพิลไทโอยูราซิล กว่าจะได้ผลการรักษาเต็มที่ สำหรับผลข้างเคียงของยานี้คล้ายกับยาโพรพิลไทโอยูราซิล
  • ไอโอดีน (Lugol's solution, Strong iodine): ยานี้ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป ยานี้ต้องใช้ร่วมกับยาต้านไทรอยด์ เพราะไอโอดีนที่เป็นส่วนประกอบของยานี้อาจเพิ่มการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์และทำให้อาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปแย่ลงได้ สำหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยานี้ ได้แก่ คลื่นไส้ และในปากจะรู้สึกรับรสโลหะ
  • กัมมันตรังสีไอโอดีน (Radioactive iodine): แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์สามารถรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปด้วยการให้ กลืนกัมมันตรังสีไอโอดีน การรักษานี้จะใช้เวลาหลายเดือน โดยจะไปทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อเล็กลง และมักพบภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (hypothyroidism) ตามหลังการรักษาด้วยวิธีนี้

ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Medications for Hypothyroidism)

  • ลีโว-ไทรอกซิน (L-thyroxine): ยานี้เป็นยาหลักเพื่อทดแทนฮอร์โมนในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป โดยยานี้เป็นรูปแบบฮอร์โมนไทรอกซินที่สังเคราะห์ขึ้นมา โดยมีโครงสร้างเหมือนกับไทรอยด์ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยร่างกายจะเปลี่ยนฮอร์โมนสังเคราะห์นี้ให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ คือ ลีโว-ไทรไอโอโดไทโรนิน (L-triiodothyronine) ต่อไป ส่วนผลข้างเคียงของยานี้พบได้น้อย และยานี้มีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก 
  • ไทรไอโอโดไทโรนิน (triiodothyronine): ยารูปแบบนี้มักไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมน เพราะมีฤทธิ์สั้นกว่า ลีโว-ไทรอกซิน การใช้ยานี้สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้นของไทรไอโอโดไทโรนินในเลือดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจ ยานี้อาจถูกใช้ร่วมกับยาลีโว-ไทรอกซินในผู้ที่ไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาลีโว-ไทรอกซินเพียงตัวเดียว
  • ไทรอยด์ฮอร์โมนสกัด หรือ ไทรอยด์ฮอร์โมนธรรมชาติ: เป็นยาไทรอยด์ฮอร์โมนในรูปแบบผงแห้งที่ได้จากต่อมไทรอยด์ของสุกร (หมู) แต่ฮอร์โมนสกัดชนิดนี้ไม่บริสุทธิ์และปริมาณฮอร์โมน T4 และ T3 ไม่แน่นอน จึงไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาเพื่อทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนสกัดนี้จะมีสัดส่วนของฮอร์โมน T3 มากกว่าปกติ

ยารักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์และคอพอก (Medications for Thyroid Nodules and Goiter)

  • ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติแบบทำงานมากไป หรือทำงานน้อยไป การรักษาในกรณีนี้ได้อธิบายไว้ด้านบนแล้ว
  • ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติแต่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์เกิดขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดดีที่สุดในการลดขนาดของต่อม และมักแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด หลายปีมาแล้วที่การรักษามาตรฐานแนะนำให้ใช้ยา ลีโว-ไทรอกซิน เพื่อลดขนาดของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แต่หลังจากวิจัยอย่างรอบคอบแล้วพบว่าการให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนไม่ค่อยมีผลลดก้อนขนาดใหญ่ที่ต่อมไทรอยด์ได้
  • การรักษาฉุกเฉินสำหรับต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (nontoxic goiters/nodules) คือการใช้กัมมันตรังสีไอโอดีนรักษา แต่ไมได้ทำในผู้ป่วยทุกราย โดยจะพิจารณารักษาด้วยวิธีนี้เมื่อผู้ป่วยมีคอพอกขนาดใหญ่และมีปัญหาทางสุขภาพที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

อาหารเสริมสำหรับรักษาโรคของต่อมไทรอยด์

อาจเป็นอันตรายมากที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับโรคของต่อมไทรอยด์โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาหารเสริมที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบปริมาณมากสามารถทำให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้นเป็นอย่างมากหากคุณเป็นคอพอก หรือทำให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำลงอย่างมาก หากคุณมีประวัติของโรคต่อมไทรอยด์ที่มาภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune thyroid condition) เช่น Hashimoto's thyroiditis หรือ โรคเกรฟ (Graves' disease)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร, การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติใดๆ ที่จะช่วยให้ต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานเป็นปกติ

อาหารเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงไม่มีการควบคุมคุณภาพของอาหารเสริมอย่างเข้มงวด ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้รับประทานอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคของต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์สำหรับผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (thyroidectomy), ผู้ที่ก้อนโตที่ต่อมไทรอยด์ขนาดใหญ่ หรือเป็นคอพอกไม่เป็นพิษ โดยการผ่าตัดนี้อาจทำการตัดเนื้อเยื่อจำนวนมากของต่อมไทรอยด์ออก แต่จะคงเหลือเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ไว้บางส่วนเพื่อให้สามารถผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนสำหรับร่างกายต่อไปได้

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด คือ เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ควบคุมเส้นเสียง (vocal cords), ความเสียหายต่อต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งอยู่ด้านหลังของต่อมไทรอยด์ (ทำให้ระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำลง) และมีเลือดออก เมื่อทำการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วอาจเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปตามมาได้ แต่พบได้น้อยกว่าการรักษาด้วยกัมมันตรังสีไอโอดีน โดยทั่วไปประสบการณ์ของศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการรักษาด้วยวิธีนี้

ประมาณ 70% ของผู้ป่วยที่ยังคงเหลือต่อมไทรอยด์ไว้หลังผ่าตัดครึ่งหนึ่ง จะมีการทำงานของต่อมไทรอยด์กลับมาเป็นปกติหลังการผ่าตัด แต่ในผู้ที่ผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด จะต้องรักษาด้วยไทรอยด์ฮอร์โมนเสริมตลอดชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีพิเศษและสแกนต่อมด้วยกัมมันตรังสีไอโอดีน ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์จะได้รับการรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อ ไม่ใช่แพทย์ด้านมะเร็ง

การติดตามการรักษา

ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกรฟ (Graves’ disease) ควรหยุดสูบบุหรี่ทันที เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้อาการทางตาที่เกิดจากโรคเกรฟแย่ลง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากยาที่ได้รับ และให้สอบถามแพทย์ด้วยว่าหากมีอาการใดขึ้นต้องรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที

การป้องกันโรคของต่อมไทรอยด์

ยังไม่ทราบว่ามีวิธีใดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หรือน้อยเกินไป และยังไม่มีวิธีในการป้องกันคอพอกหรือก้อนที่ต่อมไทรอยด์ นอกจากพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีน ควรมีการเพิ่มการบริโภคไอโอดีน เช่น ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร แต่โดยทั่วไปไม่แนะนำให้รับประทานอาหารเสริมไอโอดีนเป็นพิเศษ เพราะอาหารเสริมส่วนใหญ่มักมีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นให้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมก่อนว่ามีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบแล้วหรือไม่

รังสีสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ทั้งชนิดไม่ใช่มะเร็งและชนิดที่เป็นมะเร็ง ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการได้รับรังสีมากเกินไป หรือการทำ CT scan ที่ศีรษะและลำคอโดยไม่จำเป็น และให้ใช้แผ่นกั้นต่อมไทรอยด์ (thyroid shield) ขณะทำการ X-rays ฟัน ด้วย

การพยากรณ์โรคของต่อมไทรอยด์

คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป, มากเกินไป, และผู้ที่มีก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ชนิดไม่ใช่มะเร็งและชนิดที่เป็นมะเร็ง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม จะสามารถควบคุมอาการของโรคและไม่มีผลในระยะยาวรวมถึงจะมีอายุขัยเฉลี่ยเท่ากับคนทั่วๆ ไป อย่างไรก็ตามในผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการรุนแรงเป็นโคม่า (hypothyroid coma) หรือ thyrotoxic crisis (thyroid storm) ได้ ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตราวๆ 50%

อาการทางตาจากโรคเกรฟ (Graves' eye disease) จะรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ (corticosteroid), การฉายรังสี และการผ่าตัด ซึ่งมีอัตราประสบความเสร็จแตกต่างกัน

ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอัตราการตายต่ำมาก (น้อยกว่า 5%) แต่ความเสี่ยงโดยรวมจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย, ชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ และขอบเขตการแพร่กระจายของเนื้องอก แพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อจะเป็นผู้วินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มากกว่าแพทย์ด้านโรคมะเร็ง


22 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Thyroid Disease Management and Treatment. Cleveland Clinic. (https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/8541-thyroid-disease/management-and-treatment)
Thyroid Problems: Tests, Diagnosis, Medications, and Treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/women/understanding-thyroid-problems-treatment#1)
Thyroid Disease Medications: Types and Their Uses. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/thyroid-disease-medications-3231845)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
นักแสดง Sofia Vergara รอดชีวิตจากการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร
นักแสดง Sofia Vergara รอดชีวิตจากการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร

รู้หรือไม่ว่า Sofia Vergara นักแสดงสาวที่มีชื่อเสียงจากเรื่อง Modern Family เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มาก่อน

อ่านเพิ่ม
ฉันสามารถรับประทานอะไรได้บ้างหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ฉันสามารถรับประทานอะไรได้บ้างหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

ควรรับประทานหรือระวังอะไรหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์

อ่านเพิ่ม