กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาการปวดหลังส่วนล่าง (Lumbar Back Pain)

อาการปวดหลังส่วนล่าง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากมีอาการรุนแรงมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 19 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาการปวดหลังส่วนล่าง (Lumbar Back Pain)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการปวดหลังส่วนล่าง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้อเคล็ด ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวกระตุกอย่างฉับพลัน หรือใช้ท่าทางที่ไม่เหมาะสมขณะยกของหนัก อาการปวดนี้สามารถมีระยะเวลาปวดได้ตั้งแต่ไม่กี่วันไปจนถึงไม่กี่สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง อาจพบอาการปวดที่ยาวนานกว่าสามเดือนขึ้นไป

อาการปวดหลังส่วนล่างมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในบุคคลที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี เนื่องจากปริมาณของเหลวที่หล่อลื่นคั่นระหว่างกระดูกสันหลังจะลดลงไปตามอายุ ซึ่งหมายความว่าแผ่นหมอนรองกระดูกสันหลังจะเกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้น กล้ามเนื้อก็จะมีการเกร็งตัวน้อยลง จึงทำให้หลังมีแนวโน้มจะบาดเจ็บง่ายขึ้นกว่าช่วงวัยรุ่น

สาเหตุของอาการปวดหลังส่วนล่าง

อาการปวดหลังส่วนล่าง มักมีสาเหตุมาจากภาวะต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้อฉีก (Strains) : กล้ามเนื้อและเอ็นที่ยึดอยู่ในส่วนหลังของร่างกาย อาจถูกยืดเกินขอบเขตหรือฉีกขาดเนื่องจากการใช้งานที่มากเกินไปได้ อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ปวดและตึงในหลังส่วนล่างคล้ายกับอาการกล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง
  • การบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลัง (Disc Injury) : โรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังที่พบมากที่สุด คือโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น (Herniated Disc) ซึ่งเกิดจากกระดูกอ่อนรอบๆ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทไขสันหลังหรือรากประสาท ทำให้เกิดแรงบีบอัดของรากประสาทในตำแหน่งที่ออกมาจากเส้นประสาทไขสันหลังผ่านรูระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ อาการปวดจากการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูกสันหลังมักจะมีอาการนานกว่า 72 ชั่วโมงขึ้นไป
  • อาการปวดหลังร้าวไปขา (Sciatica) : เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท Sciatic nerve ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกระแสประสาทระหว่างกระดูกสันหลังเข้ากับขาทั้งหมด ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวไปตามขาและเท้า เหมือนถูกไฟไหม้หรือรู้สึกเจ็บเหมือนโดนเข็มแทง
  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) : ภาวะที่ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังแคบลง จึงทำให้เกิดแรงกดบนไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง มักเกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น เหน็บชา ตะคริว อ่อนแรง
  • กระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ : ส่วนใหญ่เกิดจากโรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ภาวะหลังค่อม (Kyphosis) ภาวะหลังแอ่น (Lordosis) ซึ่งถือว่าเป็นความพิการแต่กำเนิด เมื่อสันหลังโค้งผิดปกติจะทำให้เกิดแรงกดบนกล้ามเนื้อ เอ็นยึดกระดูก เอ็นยึดกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการปวดตามมา
  • ภาวะอื่นๆ : มีความผิดปกติหลายอย่างที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง ได้แก่
    • โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
    • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ภาวะที่ทำให้ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเอ็นเจ็บปวดเรื้อรัง
    • โรคข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ (Spondylitis)
    • โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis)
    • ปัญหาเกี่ยวกับไต
    • ปัญหาของกระเพาะปัสสาวะ
    • การตั้งครรภ์
    • เยื่อหุ้มมดลูกอักเสบ
    • ถุงน้ำรังไข่
    • เนื้องอกในมดลูก
    • โรคมะเร็ง

การวินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่าง

แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายเพื่อดูว่ามีการเจ็บปวดที่บริเวณใด หากแพทย์พบว่าอาการปวดหลังส่วนล่างที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการปวดหลังธรรมดา หรือเป็นการปวดหลังจากกล้ามเนื้อ ก็อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ด้วยการถ่ายภาพรังสี เช่น การถ่ายเอกซเรย์ การสแกนเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การทำอัลตร้าซาวด์ และ การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจสอบว่าเป็นความผิดปกติจากสิ่งใด

หากแพทย์สงสัยว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นจะมีปัญหาจากกระดูก ก็อาจมีการสแกนกระดูก (Bone Scan) หรือตรวจมวลกระดูก (Bone Density Test) แต่ถ้าแพทย์สงสัยว่าอาจเกิดจากระบบประสาท ก็อาจตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography) หรือตรวจการนำกระแสประสาท (Nerve Conduction)

การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง

เมื่อพบว่ามีอาการปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการหยุดออกกำลังกาย และประคบเย็นตามหลักการ Rise ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • Rest - พักผ่อน
  • Ice - ประคบเย็น
  • Compression - บีบนวด
  • Elevation - ยกส่วนที่ปวดให้สูง

หากดูแลตัวเองด้วยวิธีดังกล่าวภายใน 72 ชั่วโมงแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ก็ให้ไปพบแพทย์เนื่องจากอาการปวดหลังที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากสาเหตุที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด กล้ามเนื้อล้า เส้นประสาทถูกกดทับ รวมถึงความผิดปกติที่ทำให้แนวกระดูกสันหลังคด

ทางเลือกการรักษาอาการปวดหลังส่วนโดยแพทย์ มีตั้งแต่การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน เช่น โคเดอีน และยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด
  • การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เช่น การนวด การยืดเหยียดโครงสร้าง การออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรง การจัดแนวกระดูกสันหลัง เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด วิธีนี้มักเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อการรักษาอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ยกเว้นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างเกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะ ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดทันที การรักษาที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหลังส่วนล่าง มีดังนี้
    • การผ่าตัดหมอนรองกระดูก (Discectomy) : เพื่อช่วยลดแรงดันบนเส้นประสาทจากส่วนที่นูนหรือส่วนที่ยื่นของกระดูกสันหลัง ศัลยแพทย์จะทำการตัดส่วนกระดูกของแนวกระดูกสันหลังที่กดทับออก
    • การผ่าตัดขยายรูรากประสาท (Foraminotomy) : เป็นกระบวนการผ่าตัดเพื่อเปิดรูทางออกของรากประสาทจากไขสันหลังให้กว้างขึ้น โดยตัดกระดูกหรือโครงสร้างรอบๆ ออกเล็กน้อย
    • การบำบัดด้วยความร้อนไฟฟ้าภายในหมอนรองกระดูกสันหลัง (Intradiscal Electrothermal Therapy (IDET)) : ทำโดยการสอดเข็มผ่านสายสวนเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลังและส่งพลังงานทำให้บริเวณนั้นอุ่นขึ้นเป็นเวลา 20 นาที กระบวนการนี้ทำให้ให้ผนังหมอนรองกระดูกสันหลังป่องขึ้นและลดความนูนด้านในที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นประสาท
    • การผ่าตัดแบบ Nucleoplasty : แพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้ายแท่งไม้สอดผ่านเข็มเข้าไปในหมอนรองกระดูกสันหลัง จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ดังกล่าวที่มีคลื่นวิทยุกำจัดเนื้อเยื่อภายในหมอนรองกระดูกนั้นออก
    • การผ่าตัดด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Lesioning) : เป็นวิธีการใช้คลื่นวิทยุเพื่อขัดขวางวิธีที่เส้นประสาทติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน ศัลยแพทย์จะสอดเข็มพิเศษเข้าไปในเส้นประสาทและทำให้ร้อนเพื่อทำลายเส้นประสาทที่มีปัญหา
    • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) : การผ่าตัดนี้จะทำให้กระดูกสันหลังแข็งแรงขึ้นและลดความปวดจากการเคลื่อนไหว โดยจะมีการตัดแต่งหมอนรองกระดูกระหว่างกระดูกสันหลังสองชิ้นหรือมากกว่า จากนั้น ศัลยแพทย์จะเชื่อมยึดกระดูกสันหลังเข้าด้วยกัน ด้วยสกรูแบบพิเศษ
    • การผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบลามิเนกโตมี (Laminectomy) : จะทำการกำจัดส่วนกระดูกลามินาเพื่อทำให้คลองไขสันหลังกว้างขึ้น สิ่งนี้จะช่วยลดแรงกดต่อไขสันหลังและเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง

การป้องกันอาการปวดหลัง

มีหลายวิธีที่สามารถทำได้เพื่อป้องกันอาการปวดหลัง เช่น

  • ออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อท้องและหลังให้แข็งแรง
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ฝึกท่ายกสิ่งของอย่างเหมาะสม โดยงอเข่าก่อนยกของและใช้แรงขาร่วมด้วยระหว่างลุกขึ้น
  • ฝึกท่าทางการยืนและเดินที่เหมาะสม
  • นอนบนพื้นที่เรียบและแข็งแรง
  • นั่งบนเก้าอี้ที่มีความสูงถูกต้อง ไม่งอหลังมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูง

ที่มาของข้อมูล

Janelle Martel, What Causes Low Back Pain? (https://www.healthline.com/symptom/low-back-pain), February 22, 2016.


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป