เจ็บท้องน้อยด้านขวา ต้องรีบหาสาเหตุ

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เจ็บท้องน้อยด้านขวา ต้องรีบหาสาเหตุ

อาการปวดท้องในแต่ละตำแหน่งนั้นบ่งบอกถึงโรคหรือความผิดปกติที่แตกต่างกันไป อย่างอาการ เจ็บท้องน้อยด้านขวา ที่เรามักเป็นกันบ่อยๆ ก็เป็นตำแหน่งของอวัยวะในช่องท้องหลายส่วน ได้แก่ ไส้ติ่ง ลำไส้เล็กบางส่วน ปีกมดลูกด้านขวา และท่อไต ซึ่งการจะวินิจฉัยแยกโรคได้ ว่าอาการ เจ็บท้องน้อยด้านขวา เกิดจากสาเหตุใด ก็จำเป็นต้องซักประวัติ ดูอาการอื่นๆ และมีการตรวจเพิ่มเติมร่วมด้วย

สาเหตุของอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

อาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา มักเกิดจากความผิดปกติของไส้ติ่ง ลำไส้เล็ก ปีกมดลูก และไต ซึ่งเป็นอวัยวะในช่องท้องตำแหน่งดังกล่าว โดยความผิดปกติที่เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อเกิดไส้ติ่งอักเสบขึ้น จึงทำให้มีอาการปวดท้องเฉียบพลันที่กลางสะดือ และต่อลงมายังท้องน้อยด้านขวา โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย และมีไข้ต่ำ ไส้ติ่งอักเสบถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้ติ่งแตกจนเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด
  • ลำไส้อักเสบ โดยทั่วไปเกิดจากการทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน อาการของลำไส้อักเสบ ได้แก่ รู้สึกปวดบีบที่หน้าท้อง หากส่วนที่อักเสบเป็นลำไส้ที่อยู่ฝั่งขวา ก็จะทำให้เจ็บที่ท้องน้อยด้านขวาด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาการท้องร่วง ถ่ายเหลวหลายครั้ง ถ่ายมีมูกเลือดปน อ่อนเพลีย และมีไข้ ซึ่งต้องระวังภาวะร่างกายขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้
  • มะเร็งลำไส้ เป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยอาการที่พบในช่วงแรก คือรู้สึกปวดเกร็งในท้อง อุจจาระมีลักษณะผิดปกติ เช่น เป็นเส้นเล็กๆ ในระยะต่อมาจะพบอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน รู้สึกปวดถ่ายแต่ไม่มีอุจจาระออกมา และมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้
  • ปีกมดลูกอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ท่อนำไข่ ซึ่งหากเกิดการอักเสบที่ปีกมดลูกด้านขวา ก็จะทำให้มีอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด และมีตกขาวผิดปกติ
  • มีซีสต์หรือเนื้องอกในมดลูก เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเนื้องอกแม้จะไม่เป็นอันตราย แต่จะทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้องน้อย ประจำเดือนมาบ่อยหรือนานกว่าปกติ ปัสสาวะลำบาก รวมถึงอาจทำให้มีบุตรยากและมีปัญหาในการคลอดด้วย
  • ท้องนอกมดลูก เกิดจากตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่นอกผนังมดลูก เช่น ที่ปีกมดลูก หรือท่อนำไข่ ทำให้มีอาการและสัญญาณเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ แต่ตัวอ่อนจะไม่เจริญเป็นทารก ร่วมกับมีอาการปวดท้องน้อยบริเวณอุ้งเชิงกราน มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด รวมถึงหน้ามืดวิงเวียน
  • มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ไต กรวยไต ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ไปจนถึงปวดเอวและหลัง ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น มีเลือดปนและมีกลิ่นเหม็น รวมถึงอาจมีไข้หนาวสั่นด้วย
  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากสารในปัสสาวะตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งโดยส่วนมากเกิดขึ้นที่ไต บริเวณท่อไตหรือกรวยไต ทำให้มีการปวดท้องน้อยด้านขวา ร้าวถึงสีข้าง ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะไม่ออก และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย

การรักษาอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

  • การทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล และยาไอบูโพรเฟน ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้อง และลดไข้ แต่ไม่สามารถรักษาสาเหตุของโรคได้
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปีกมดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ซึ่งประเภทของยาที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียก่อโรค การทานยาปฏิชีวนะต้องทานติดต่อกันประมาณ 10 – 14 วัน
  • การผ่าตัด ใช้รักษาความผิดปกติบางอย่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ซีสต์หรือเนื้องอกในมดลูก และนิ่วไตที่มีขนาดใหญ่
  • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด สำหรับรักษามะเร็งลำไส้ เป็นต้น

การป้องกันอาการเจ็บท้องน้อยด้านขวา

  • ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและปีกมดลูก โดยหลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ รักษาสุขอนามัยของอวัยวะเพศ ไม่ให้เกิดการอับชื้น และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยสวมถุงยางอนามัย
  • ป้องกันลำไส้อักเสบ โดยการทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก รวมถึงล้างมือก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง


22 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pain in lower right abdomen: 16 causes, diagnosis, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/320858)
William C. Shiel Jr., MD, FACP, FACR, Abdominal Pain (https://www.medicinenet.com/abdominal_pain/symptoms.htm).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)