อาการตาแพ้แสง หรือ ตาสู้แสงไม่ได้ (Light sensitivity หรือ Photophobia) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งผู้ที่มีอาการนี้มักจะบอกว่า เมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีแสงสว่างจ้าจะลืมตาไม่ขึ้น ปวดตา และอาจถึงกับแสบตาจนน้ำตาไหล เวลากลางคืนเมื่อมองแสงไฟอาจจะมองเห็นเป็นแสงกระจายจ้า (Glare) จนมองรายละเอียดรอบข้างไม่เห็น
อาการตาแพ้แสงไม่ใช่โรคชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นเพียงอาการที่บ่งบอกว่าอาจจะเกิดปัญหาอะไรบางอย่างระหว่างเส้นทางเดินของแสงจากดวงตาสู่สมอง เช่น ชั้นน้ำตาที่เคลือบกระจกตา กระจกตา น้ำที่อยู่ภายในดวงตา ม่านตา เลนส์แก้วตา น้ำวุ้นตา จอประสาทตา และขั้วประสาทตา แล้วสัญญานภาพจะถูกส่งผ่านเส้นประสาทสมองไปจนถึงสมองส่วนที่รับภาพ ดังนั้น อาการตาแพ้แสง สู้แสงไม่ได้ จึงมีสาเหตุได้มากมาย โดยขอกล่าวถึงแต่ละระบบดังนี้
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
1.ปัญหาจากดวงตา
เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ด้วยอาการตาแพ้แสง คำถามแรกที่จักษุแพทย์จะถามคือ เพิ่งมีอาการอย่างเฉียบพลัน อาการรุนแรง หรือเป็นไม่มากแต่เป็นมานาน อาการแพ้แสงที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันพบได้ในโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตาแดงหรือแบคทีเรีย การติดเชื้อที่กระจกตา ม่านตาอักเสบ กระจกตาอักเสบหลังเชื่อมเหล็กโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตา หรือมีเศษสิ่งแปลกปลอมติดที่ตา โรคและภาวะดังกล่าวมักมีความรุนแรงจนทำให้แสบตา ลืมตาไม่ขึ้น คนไข้จึงต้องรีบมาพบแพทย์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่พบบ่อยกว่าคืออาการแพ้แสงที่เป็นมานาน รบกวนความสุขสบาย แต่ไม่ค่อยทำให้คนไข้รู้สึกว่าจะต้องรีบรักษาหรือตั้งใจจะรักษาอย่างต่อเนื่อง โรคหรือภาวะทางตาที่เป็นไปได้ในกรณีนี้ เช่น
- ตาแห้ง จนเกิดอาการเยื่อบุตาและกระจกตาอักเสบเล็กๆ น้อยๆ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาจจะมีอาการตาพร่า การมองเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
- การใช้สายตากับการทำงานระยะใกล้เป็นเวลานานๆ เช่น การใช้มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์
- ต้อกระจก (เลนส์แก้วตาขุ่น) เกิดจากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดจากความเสื่อมไปตามอายุ หรือ เกิดจากอุบัติเหตุที่ตา
- ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำและใส่มานาน
- ภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ
- เยื่อบุตาอักเสบที่ไม่ร้ายแรง เช่น จากต้อลม ต้อเนื้อ
- หลังผ่าตัดตา การผ่าตัดรักษาสายตา เช่น การทำเลสิค การใส่เลนส์เสริม
- โรคเปลือกตากระตุกชนิด Benign essential blepharospasm
- เคยมีอุบัติเหตุรุนแรงทางตามาก่อน
โรคหรือความผิดปกติเหล่านี้ จะทราบด้วยการตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์เท่านั้น
2.ปัญหาที่เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะและสมอง
2.1 กลุ่มอาการปวดศีรษะ
ประมาณ 80% ของผู้ที่มีอาการตาแพ้แสงมักจะมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย จากการศึกษาของ American Migraine Foundation รายงานว่า อาการตาแพ้แสงคืออาการหนึ่งของโรคไมเกรน แต่ผู้ที่มีอาการแพ้แสงและปวดศีรษะร่วมด้วย อาการปวดศีรษะอาจไม่ใช่จากโรคไมเกรน แต่อาจเป็นปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache) หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches) ก็ได้
2.2 โรคทางระบบประสาทและสมอง
ได้แก่
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) มักเกิดแบบเฉียบพลัน แต่อาการแพ้แสงที่มีอาจจะดูเล็กน้อยลงไปเมื่ออาการที่เด่นกว่าของโรคนี้ อันได้แก่ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็งก้มไม่ลง
- เนื้องอกในต่อมใต้สมอง (Pituitary tumors) ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้แสงปวดตาและปวดศีรษะได้ และอาการมักจะค่อยๆ แสดงออกมากขึ้น เพราะเมื่อเนื้องอกมีขนาดโตขึ้นๆ เบียดเส้นประสาทและอวัยวะรอบๆ พร้อมกับสร้างฮอร์โมน จึงเกิดมีอาการได้หลากหลาย ปวดศีรษะมากขึ้นจนถึงมีอาการตามัว
3.ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
ยาบางชนิดมีส่วนประกอบทำให้มีอาการตาแพ้แสงมากขึ้นได้ เพราะทำให้เกิดอาการไวแสง และนอกจากดวงตา ผิวหนังก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นด้วย คือเมื่อใช้ยาเหล่านี้แล้วสัมผัสแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) ผิวหนังจะไหม้ คัน ลอก เป็นผื่น บวมแดงง่าย
ยาที่มีรายงานว่าให้เกิดอาการไวแสง (Photosensitized) ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ยาแก้แพ้ (Antihistamines)
- ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ตัวอย่างยี่ห้อได้แก่ Lasix ยาประเภทนี้ช่วยขับน้ำส่วนเกินที่คั่งอยู่ในอวัยวะต่างๆ ออกจากร่างกาย ช่วยรักษาหัวใจวาย โรคตับ โรคไต ฯลฯ
- ยาลดอาการอักเสบประเภทไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
- ยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจน
- ยาควินิน รักษามาลาเรีย
- ยากลุ่มซัลฟา
- ยาปฏิชีวนะ สำหรับรักษาโรคที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ เช่น เตตระไซคลิน (Tetracycline) , ด็อกซิไซคลิน (Doxycycline)
- ยาต้านเศร้ากลุ่มไตไซคลิก (Tricyclic anti-depressants)
- โรคหรือความผิดปกติทางจิตที่อาจพบร่วมกับอาการตาแพ้แสง
- โรคกลัวชุมชน (Agoraphobia)
- โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder)
- ภาวะซึมเศร้า (Depression)
- โรคเครียด (Anxiety disorder)
- โรคตื่นตระหนก (Panic disorder)
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่า การรักษาอาการตาแพ้แสงขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง แต่ความจริงก็คือไม่ใช่ทุกรายที่หาสาเหตุพบ หรืออาจกล่าวว่าไม่มีสาเหตุ เท่าที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ปัจจุบันอาจทราบได้
อาการตาแพ้แสง สู้แสงไม่ได้ ที่ไม่มีสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่พบ
มีผู้คนจำนวนมากทีเดียวที่มีอาการตาแพ้แสงมากจนเกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หาสาเหตุอย่างไรก็ไม่พบ แม้จะผ่านการตรวจทุกระบบครบถ้วนแล้ว หลังติดตามผลสักระยะก็พบว่าอาการคงที่ไม่มีโรคใดๆ เกิดขึ้น
อาการแพ้แสงนี้มีความรุนแรงตลอดจนความถี่มากน้อยหลากหลายแตกต่างกันไป บางคนวิตกกังวลมากเพียงเพราะเวลาไปถ่ายรูปกลางแดดแล้วแอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นว่า ทำไมเราลืมตาไม่ขึ้น แต่เพื่อนลืมตาได้นาน แต่ก็มีอาการเฉพาะบางเวลาเท่านั้น ตรวจแล้วก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ พึงระลึกว่า ความปกติของมนุษย์เราแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกอย่าง
ใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อมีอาการตาแพ้แสงโดยไม่มีสาเหตุ หรือหาสาเหตุไม่พบ
ในแสงขาวที่ประกอบขึ้นมาจากแสงหลายความถี่นั้น ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีกว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนทำให้เกิดอาการแพ้แสงได้มากที่สุด และเราก็ทราบดีว่ารังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดดก่อให้เกิดโรคของดวงตา ดังนั้น การจัดการกับปัญหาตาแพ้แสงด้วยการป้องกันแสงจึงต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดอาการแพ้แสง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขมากกว่าเดิม
เมื่อออกแดด ควรมีอุปกรณ์ป้องกัน ได้แก่ หมวกปีกกว้าง แว่นกันแดดที่ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ แว่นเลนส์โพลาไรซ์ (Polarize) ก็ช่วยให้สบายตาขึ้น เพราะช่วยลดแสงกระจายจ้าหรือสะท้อนแสงเข้าตาได้ดี หากปกติสวมแว่นสายตา อาจใช้เลนส์แว่นที่เปลี่ยนสีเข้มขึ้นเวลาออกแดด เวลาใช้สายตากับจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตนานๆ หากมีอาการแพ้แสง แสบตา การพักสายตา หยอดน้ำตาเทียม และใช้เลนส์แว่นสายตาที่ลดแสงสีฟ้า อาจช่วยบรรเทาอาการได้
หากคุณมีอาการตาแพ้แสง สู้แสงไม่ได้ ยิ่งถ้าอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะสาเหตุมีจากหลายระบบ เริ่มต้นที่จักษุแพทย์ก่อนเพราะสาเหตุส่วนใหญ่เริ่มที่ดวงตา แต่อย่าลืมว่า การพบแพทย์เพียงครั้งเดียว หรือเพียงคนเดียวอาจไม่สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงได้ อย่างไรก็ตามการให้ข้อมูลแก่แพทย์ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นโรคที่กำลังเป็นอยู่ หรือยาที่กำลังรับประทาน ก็จะช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุของการแพ้แสงได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น