น้ำมะพร้าวมีประโยชน์จริงหรือไม่?

แนะนำประโยชน์ของน้ำมะพร้าว ชี้ข้อควรระวัง และไขคำตอบเกี่ยวกับน้ำมะพร้าวที่ทุกคนสงสัย
เผยแพร่ครั้งแรก 21 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
น้ำมะพร้าวมีประโยชน์จริงหรือไม่?

น้ำมะพร้าว เป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในรัฐฮาวายของประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติ รสชาติดี และยังมีประโยชน์มากอีกด้วย

แท้จริงแล้วน้ำมะพร้าวคือส่วนไหนของมะพร้าว?

ผลมะพร้าวนั้นถือว่าเป็นผลสด ชนิดที่มีเมล็ดเดียวอยู่ตรงกลาง และมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็ง ซึ่งในทางพฤกษศาสตร์จะเรียกผลชนิดนี้ว่าดรูป (Drupe) ผลแบบนี้จะมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ เปลือกผลชั้นนอกที่มีลักษณะเป็นสีเขียวในผลสด (Epicarp) เปลือกผลชั้นกลาง (Mesocarp) คือส่วนของใยมะพร้าว และเปลือกผลชั้นใน (Endocarp) คือกะลามะพร้าว ส่วนเนื้อและน้ำด้านในกะลานั้นคือเอนโดสเปิร์ม (Endosperm) หรืออาหารที่ใช้เลี้ยงต้นอ่อน อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ประโยชน์ของน้ำมะพร้าว

ประโยชน์ของเครื่องดื่มรสชาติหวานเย็นชื่นใจ มีดังนี้

  1. ใช้เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยเกลือแร่ต่างๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส
  2. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดตีบและโรคหลอดเลือด เนื่องจากน้ำมะพร้าวอ่อนมีเกลือแร่ต่างๆ ในปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียม นอกจากนี้ยังมีโฟเลต หรือวิตามินบี 9
  3. ช่วยให้อ่อนเยาว์ เพราะในน้ำมะพร้าวมีกลุ่มฮอร์โมนพืชซึ่งเรียกว่า ไซโตไคนิน (Cytokinin) มีฤทธิ์ชะลอความแก่ (Anti-ageing effects) สามารถชะลอกระบวนการที่ทำให้แก่ได้ (Ageing process) นอกจากนี้น้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ป้องกันการฝ่อของเส้นใยคอลลาเจน ทำให้ผิวกระชับและยืดหยุ่นได้ดี ชะลอริ้วรอยก่อนวัย และยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตโดยแบ่งเซลล์ได้ดี ช่วยในการสมานแผลให้หายเร็วขึ้นกว่าปกติอีกด้วย
  4. ช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในสตรีวัยทอง เพราะมีทรานส์-ซีติน ซึ่งเป็นสารประกอบที่อยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนพืชไซโตไคนิน (Cytokinin) มีคุณสมบัติยังยั้งเอนไซม์อะเซติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ได้
  5. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดคอลเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และมีผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เนื่องจากน้ำมะพร้าวมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับไขมันดี และส่งเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการลดระดับไขมันเลว
  6. ช่วยปรับสมดุลของร่างกายในช่วงที่ร่างกายมีความเป็นกรดสูง เพราะน้ำมะพร้าวมีความเป็นด่าง ทำให้กลไกการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ดื่มมีสุขภาพดีและแข็งแรง
  7. ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น เนื่องจากน้ำมะพร้าวอ่อนมีไขมันอิ่มตัวที่มีคุณสมบัติละลายน้ำดี (MCT) มีหน้าที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมให้เข้าสู่กระดูกได้อย่างเต็มที่
  8. ช่วยสมานแผล โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการสมานแผลช้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  9. มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับกระหาย ช่วยล้างพิษ ขับพิษและของเสียออกจากร่างกาย รวมถึงลดไข้ได้
  10. ลดอาการอ่อนเพลียสำหรับผู้ที่อาเจียนและท้องร่วง น้ำมะพร้าวจะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมกลูโคสไปใช้ได้เร็ว ทำให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็ว
  11. ลดการสร้างสารอนุมูลอิสระ ทำให้ช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไตและระบบทางเดินปัสสาวะได้

ไขข้อข้องใจ น้ำมะพร้าวช่วยบำรุงผิวสวย ดับกระหายได้จริงหรือ?

จากข้อมูลข้างต้น น้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนพืชและฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ซึ่งช่วยในการเสริมสร้างคอลลาเจน กระตุ้นการแบ่งเซลล์ผิว เมื่อดื่มแล้วจึงมีส่วนช่วยให้ผิวกระชับ ชะลอการเกิดริ้วรอยได้ และตามสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย น้ำมะพร้าวมีฤทธิ์เย็น จะช่วยดับพิษร้อน ดับกระหาย เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมดื่มแล้วจึงสดชื่น ช่วยให้คลายร้อนได้ดี

ทำไมถึงห้ามดื่มน้ำมะพร้าวเมื่อมีประจำเดือน?

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยแล้ว น้ำมะพร้าวมีฤทธิ์เย็น และการดื่มน้ำมะพร้าว น้ำเย็น อาหาร หรือยาที่มีฤทธิ์เย็นขณะมีประจำเดือน จะทำให้ร่างกายเย็น ส่งผลต่อการขับออกของประจำเดือน อาจทำให้ประจำเดือนหยุดหรือปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น เนื่องจากมดลูกต้องบีบรัดตัวมาก

หากท่านใดดื่มแล้วประจำเดือนหยุด หรือปวดท้องประจำเดือน ควรหยุดและหลีกเลี่ยงการดื่มในครั้งถัดไปของรอบเดือน

คนท้อง ดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจะแท้งจริงหรอไม่?

ที่มีความเชื่อว่าคนท้องดื่มน้ำมะพร้าวแล้วจะแท้ง อาจมาจากความกังวลเกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ปริมาณเอสโตรเจนที่มีในน้ำมะพร้าวนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณฮอร์โมนปกติในร่างกายของสตรีขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นการดื่มน้ำมะพร้าวเพียงอย่างเดียวจึงมีส่วนน้อยมากที่จะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ คนท้องสามารถดื่มได้ เพียงแต่อย่าบริโภคมากและติดต่อกันนานเกินไป เพราะมันมีน้ำตาลตามธรรมชาติอาจทำให้น้ำตาลของคุณแม่ขึ้นสูงจนเกิดภาวะเบาหวานได้

ข้อควรระวังในการดื่มน้ำมะพร้าว

  1. ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ควรดื่มน้อยๆ และไม่ควรดื่มต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  2. การดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อหวังผลเป็นฮอร์โมนทดแทน ควรดื่มสลับกับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำเต้าหู้ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเสริมสุขภาพชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  3. ไม่ควรกินยาพร้อมกับน้ำมะพร้าว เพราะอาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง ควรดื่มก่อนหรือหลังจากกินยาประมาณครึ่งชั่วโมง
  4. ควรเลือกดื่มน้ำมะพร้าวธรรมชาติที่ไม่มีการเติมน้ำตาล เพื่อไม่ให้เสี่ยงเกิดภาวะน้ำตาลสูงหรือเบาหวานในอนาคต

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิมล ศรีศุข, น้ำมะพร้าวอ่อน (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/363)
yrprincess, มะพร้าวคือส่วนของอะไร... >> ผลสด / ผลแห้งแบบถั่ว (nut) / เมล็ด ?? (https://www.scimath.org/article-biology/item/4429-gg-nut), 26 ธันวาคม 2557
Kathleen M. Zelman, The Truth About Coconut Water (https://www.webmd.com/food-recipes/features/truth-about-coconut-water#1),

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป