มีลูกยาก ใช้ยาอะไรช่วยได้ไหม?

แนะนำกลุ่มยาที่ใช้สำหรับรักษาในภาวะมีบุตรยาก การทำงานของกลุ่มยาชนิดต่างๆ วิธีใช้ในการรักษาและอาการแทรกซ้อนที่พบได้
เผยแพร่ครั้งแรก 21 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
มีลูกยาก ใช้ยาอะไรช่วยได้ไหม?

ในปัจจุบันพบว่า ปัญหาการมีบุตรยากเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแบ่งเป็นสาเหตุทางฝ่ายชาย (Male infertility) สาเหตุทางฝ่ายหญิง (Female infertility) และภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Unexplained infertility) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้มีบุตรยากขึ้น เช่น การแต่งงานช้า การใช้ชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ดังนั้นจึงมีการใช้ยาควบคู่กับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology: ART) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ทว่าก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษา แพทย์จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของการบุตรยากในแต่ละฝ่ายเสียก่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภาวะมีบุตรยากวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 392 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุการมีบุตรยากในฝ่ายหญิง

สาเหตุการมีบุตรยากในฝ่ายหญิงที่พบส่วนใหญ่คือ ภาวะตกไข่ผิดปกติ (Ovalation disorder) อาการทางคลินิกคือ ประจำเดือนขาดหรือรอบประจำเดือนผิดปกติ

องค์การอนามัยโลกได้แบ่งประเภทของภาวะดังกล่าวเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. WHO group I เกิดจากการทำงานล้มเหลวของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง(Pituitary gland) ส่งผลให้ฮอร์โมน FSH (Follicular Stimulating Hormone) และ LH (Luteinizing hormone) อยู่ในระดับต่ำ และร่างกายยังอยู่ในสภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen deficiency) ไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ (Anorexia nervosa) หรือเป็นโรคคาลมานน์ซินโดรม (Kallmann syndrome) อาการทางคลีนิกของกลุ่มนี้คือ ประจำเดือนขาด แนวทางในการรักษาคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทานอาหารในปริมาณที่ปกติและออกกำลังกายอย่างเพียงพอ หรือรักษาด้วยกลุ่มยาโกนาโดโทรปิน (Gonadotropins)
  2. WHO group II  เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ส่งผลให้รอบประจำเดือนแต่ละรอบมีระยะห่างระหว่างรอบมากกว่าปกติ และอาจพบภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome: PCOS) สามารถรักษาโดยการใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตก ได้แก่ กลุ่มยาโคลมิฟีนซิเตรต (Clomiphene citrate)
  3. WHO group III เกิดจากการทำงานล้มเหลวของรังไข่ โดยมีระดับฮอร์โมน FSH (Follicular Stimulating Hormone) และ LH(Luteinizing hormone) อยู่ในระดับสูง และร่างกายยังอยู่ในสภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen deficiency) ทำให้ประจำเดือนขาด ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รักษาโดยการใช้ไข่บริจาคและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลให้มีบุตรยากในฝ่ายหญิงอีก เช่น การอุดตันของท่อนำไข่ ส่งผลให้เซลล์ไข่กับอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ รวมถึงสภาวะที่ฝ่ายหญิงสร้างแอนติบอดีต่ออสุจิ 

สาเหตุการมีบุตรยากในฝ่ายชาย

สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ในฝ่ายชายคือ ภาวะไม่มีอสุจิในน้ำเชื้อ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

  1. กลุ่ม Pre-testicular เป็นกลุ่มที่มีการทำงานผิดปกติที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ส่งผลให้มีระดับฮอร์โมน FSH และ LH ต่ำ ด้วยสาเหตุนี้จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้มีปัญหาในการสร้างอสุจิและฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ที่เป็นฮอร์โมนเพศชาย รักษาโดยการให้ยากลุ่มโกนาโดโทรปิน (Gonadotropin) ร่วมกับ hCG (Human chorionic gonadotropin) จะช่วยให้ร่างกายกลับมาสร้างอสุจิได้
  2. กลุ่ม Testicular เป็นกลุ่มที่มีการทำงานของอัณฑะผิดปกติ จึงไม่สามารถสร้างอสุจิได้ อาจเป็นมาแต่กำเนิด เช่น ในผู้ที่เป็นไคลน์เฟลเตอร์ซินโดรม (Klinefelter syndrome) หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เกิดการบาดเจ็บบริเวณอัณฑะ ผ่านการผ่าตัด การฉายรังสี หรือการติดเชื้อ กลุ่มนี้จะมีระดับฮอร์โมน FSH และ LH สูง แต่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ การให้ยาจะไม่ได้ผล ดังนั้นต้องเก็บอสุจิจากอัณฑะหรือใช้อสุจิที่บริจาค
  3. กลุ่ม Post-testicular มีการอุดตันที่ท่อนำอสุจิ ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ภาวะ CBAVD (Congenital bilateral absence of vas deferens)  หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น การทำหมันชาย หรือการติดเชื้อที่บริเวณท่อนำอสุจิ รักษาด้วยการเก็บอสุจิจากอัณฑะ

การรักษาภาวะมีบุตรยาก คู่สมรสจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้ามาตรวจประเมินภาวะมีบุตรยากเพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจหาความผิดปกติของการตกไข่ การตรวจท่อนำไข่ การตรวจวิเคราะห์คุณภาพอสุจิ เพื่อให้แพทย์ใช้วิเคราะห์และรักษาภาวะมีบุตรยาก 

กระบวนการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการตกไข่เป็นอย่างไร

ก่อนจะใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยาก จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการตกไข่ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติก่อน คือ ตามปกติแล้ว สมองจะเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการเจริญเติบโตของไข่ ระยะเวลาเฉลี่ยในหนึ่งรอบประจำเดือนอยู่ที่ 28 วัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภาวะมีบุตรยากวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 392 บาท ลดสูงสุด 63%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในรอบประจำเดือน

วันที่เริ่มมีประจำเดือนจะนับเป็นวันที่ 1 ของรอบประจำเดือน จะมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่ใช้การไม่ได้ของรอบที่แล้วออกมาเป็นประจำเดือน เป็นสัญญาณให้ทราบว่าเป็นการเริ่มรอบประจำเดือนใหม่ และระดับฮอร์โมนจะถูกลดระดับให้มาอยู่ในระดับพื้นฐาน

หลังจากนั้นต่อมใต้สมองส่วนหน้าจะหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ไปกระตุ้นที่รังไข่ให้ไข่มีการเจริญเติบโต และในแต่ละรอบประจำเดือนจะมีไข่ที่เจริญเติบโตได้ดีที่สุด (Dominatnt follicle) เพียงใบเดียว

วันที่ 3-4 ไข่ที่เจริญเติบโตได้ดีที่สุดจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ระดับฮอร์โมนนี้จะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของไข่ จากนั้นระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น และส่งสัญญาณไปยับยั้งให้สมองลดการผลิด FSH

เมื่อไข่มีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นปริมาณมากจะมีการส่งสัญญาณไปที่สมองให้หลั่งฮอร์โมน LH ปริมาณมากเพื่อทำให้ไข่มีการตก เมื่อไข่ตกไปแล้วจะเกิดแผลที่บริเวณนั้น เรียกว่า คอปัสลูเทียม (Corpus luteum) มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อให้เยื่อบุโพรงมีความพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน หากมีการปฎิสนธิเกิดขึ้น จะมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนได้นานขึ้น จนกว่าตัวอ่อนจะเติบโตเต็มที่จนสร้างฮอร์โมน hCG ได้ หากไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน คอปัสลูเทียมจะฝ่อลง และเยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดกลายเป็นประจำเดือนออกมา

ยาที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก

ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก สามารถแบ่งง่ายๆ เป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้แก่ กลุ่มยาเพื่อกระตุ้นการตกไข่ และกลุ่มยาควบคุมรอบประจำเดือน แต่ละกลุ่มมีรายละเอียดดังนี้

1. กลุ่มยาเพื่อกระตุ้นไข่

  • Clomiphene citrate
    ชื่อทางการค้าคือ Clomid, Serophene เป็นยากลุ่มแรกที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้หญิงที่มีภาวะการตกไข่ที่ผิดปกติ หรือคู่สมรสที่มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ 

    การทำงานของยา
    ในรอบประจำเดือน เมื่อมีการหลั่ง FSH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า FSH จะออกฤทธิ์ไปกระตุ้นที่รังไข่ให้มีการเจริญเติบโต จากนั้นรังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อส่งสัญญาณกลับไปยับยั้งให้สมองลดการหลั่ง FSH ลง แต่ยา Clomiphene citrate จะไปจับกับตัวรับฮอร์โมนที่สมอง ทำให้เอสโตรเจนไม่สามารถส่งสัญญาณไปยับยั้งที่สมองได้ สมองจึงผลิต FSH มากระตุ้นที่รังไข่อย่างต่อเนื่อง

    ขั้นตอนการรักษา
    • รับประทานยาในวันที่ 3-5 ของรอบประจำเดือนติดต่อกัน 5 วัน หลังจากนั้นตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อติดตามขนาดและจำนวนของถุงไข่ หากมีมากกว่า 1 ถุงอาจจะต้องยกเลิกการรักษารอบนี้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์แฝดได้
    • เมื่อถุงไข่ขนาด 15-20 mm แพทย์จะมีการฉีดยา hCG เพื่อให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง สามารถกำหนดเวลาในการฉีดน้ำเชื้อ IUI หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวันที่ไข่ตก เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น
    • 60%-80% ของผู้หญิงที่ทานยาจะสามารถผลิตไข่และตั้งครรภ์ได้ภายใน 3 รอบประจำเดือน หากมีการใช้ยานานเป็นเวลา 6 เดือนแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาใหม่ 

    ผลข้างเคียงของยา
    ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องอืด ร้อนวูบวาบ มูกปากมดลูกผิดปกติ
  • Letrozole
    ชื่อทางการค้าคือ Femara เป็นยาที่ใช้ในกรณีที่ผู้หญิงไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา Clomiphene citrate หรือได้รับผลข้างเคียงจาก Clomiphene citrate ทำให้มีมูกปากมดลูกที่ผิดปกติ ส่งผลต่อการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ยา Letrozole ยังมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่มากกว่า Clomiphene citrate พบกว่ามีอัตราการตกไข่ที่สูงกว่า และความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝดในผู้ที่ใช้ยา Letrozole มีน้อยกว่า Clomiphene citrate อีกด้วย

    การทำงานของยา ยาจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะโรมาเทส (Aromatase) ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ ร่างกายจึงมีระดับเอสโตรเจนต่ำ สมองจึงผลิตฮอร์โมน FSH และมีการสร้างไข่อย่างต่อเนื่อง

    ขั้นตอนการรักษา
    รับประทานยาในวันที่ 3-5 ของรอบประจำเดือนติดต่อกัน 5-7 วัน หลังจากนั้นตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อติดตามขนาดและจำนวนของถุงไข่
    หากรับประทานยาในวันที่ 3 ของรอบประจำเดือน ไข่จะตกประมาณวันที่ 14-17 ของรอบประจำเดือน ดังนั้นจะต้องมีเพศสัมพันธ์ก่อนไข่จะตก คือวันที่ 11-18 ของรอบประจำเดือน

    ผลข้างเคียงของยา
    ปวดหัว มีอาการวิงเวียน ร้อนวูบวาบ
  • Gonadotropins
    เป็นกลุ่มยาฉีดที่ใช้สำหรับกระตุ้นรังไข่ให้เจริญเติบโต โดยภายในยาจะมีฮอร์โมน FSH, LH หรือทั้งสองอย่าง โดยสกัดจากปัสสาวะของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น Bravelle, Fertinex

    ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตโดยเลียนแบบ FSH ในธรรมชาติ เช่น Follistim, Gonal-F แต่การกระตุ้นด้วยการฉีดยานี้มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝด และการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome: OHSS) ทำให้ไข่มีการเจริญเติบโตภายในรังไข่จำนวนมาก มีการสร้างหลอดเลือดใหม่ และสร้างสารที่ทำให้น้ำออกนอกเส้นเลือด จนไปสะสมตามบริเวณต่างๆ ในร่างกาย เช่น ช่องอก ช่องท้อง ส่งผลให้เกิดการแน่นท้องและหายใจลำบาก

    การทำงานของยา
    เมื่อฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injections) ยาจะไปกระตุ้นที่รังไข่โดยตรง ซึ่งต่างจากยาโคลมิฟีนซิเตรต (Clomiphene citrate) และเลโทรโซล (Letrozole) ที่ออกฤทธิ์ที่สมองก่อน แล้วส่งผลต่อเนื่องก่อนจะมาถึงที่รังไข่

    ขั้นตอนการรักษา
    เมื่อมีรอบประจำเดือน แพทย์จะนัดเข้าเพื่อมาตรวจเลือดและอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีการตังครรภ์หรือมีก้อนเนื้อภายในรังไข่
    แพทย์สั่งจ่ายยา โดยปริมาณยาขึ้นอยู่กับแต่ละคน ผู้ป่วยต้องฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังทุกวัน
    แพทย์จะนัดเพื่อตรวจติดตามการพัฒนาของรังไข่ ว่ารังไข่มีการตอบสนองต่อยามากหรือน้อย เพื่อปรับปริมาณยาให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงในการเกิด OHSS
    เมื่อถุงไข่ขนาด 15-20 mm แพทย์จะฉีดยา hCG ให้ เพื่อให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง หากมีจำนวนถุงไข่มากกว่า 3 ใบอาจจะต้องยกเลิกการรักษารอบนั้น หรือเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็น IVF, ICSI หรือ IMSI เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แฝด

    ผลข้างเคียงของยา
    ปวดหัว คลื่นไส้ ท้องอืด กดเจ็บบริเวณหน้าอก อารมณ์แปรปรวน และระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา

2. กลุ่มยาเพื่อควบคุมรอบประจำเดือน

  • Gonadotropin-releasing hormone agonist (GnRH agonist)
    เป็นยาที่ควบคุมรอบประจำเดือน โดยป้องกันการตกไข่ก่อนเวลา โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นที่สมองอย่างต่อเนื่อง มีการกระตุ้นที่ตัวรับของ GnRH แบบต่อเนื่อง ทำให้มีการหลั่งของ GnRH แบบต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งการกระตุ้นแบบต่อเนื่องจะทำให้จำนวนตัวรับสัญญาณลดลง(Down-regulation) จนทำให้ไม่มีการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ในที่สุด

    ขั้นตอนการรักษา
    • จะต้องฉีดยา GnRH agonist เพื่อป้องกันไข่ตกล่วงหน้าก่อนรอบการรักษาอย่างต่อเนื่องจนถึงรอบการรักษา
    • เมื่อมีประจำเดือนในรอบที่รักษา แพทย์จะเริ่มให้ฉีดยากระตุ้นไข่ควบคู่กับการฉีด GnRH agonist เพื่อป้องกันไข่ตกก่อนเวลา การฉีดยาด้วยวิธีนี้จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้าง FSH และ LH ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ยาเพื่อทดแทนฮอร์โมนในการกระตุ้นและทำให้ไข่ตกเท่านั้น
    • ตรวจติดตามขนาดของถุงไข่ เมื่อถุงไข่เจริญเติบโตเต็มที่ แพทย์จะฉีดยา hCG เพื่อให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะนัดเพื่อมาเก็บไข่และทำการรักษาด้วยวิธี IVF, ICSI หรือ IMSI ต่อไป
  • Gonadotropin-releasing hormone antagonist (GnRH antagonist)
    เป็นยาที่ควบคุมรอบประจำเดือนโดยป้องกันการตกไข่ก่อนเวลาเช่นกัน แต่จะออกฤทธิ์ที่รังไข่โดยตรง ทำให้ได้ผลที่รวดเร็วกว่ายากลุ่ม GnRH agonist

    ขั้นตอนการรักษา
    หลังจากผู้หญิงได้กระตุ้นไข่ด้วยยากลุ่ม Gonadotropins 3-4 วัน แพทย์จะฉีดยา GnRH antagonist เพื่อป้องกันการตกไข่
    ตรวจผลเลือดและอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เพื่อติดตามการตอบสนองต่อการรักษา เมื่อถุงรังไข่ขนาด 15-20 mm แพทย์จะฉีดยา hCG หรือ Decapeptyl เพื่อให้ไข่ตกภายใน 24-36 ชั่วโมง จากนั้นแพทย์จะนัดเพื่อมาเก็บไข่และทำการรักษาด้วยวิธี IVF, ICSI หรือ IMSI ต่อไป
    มักใช้ยา Decapeptyl ในกรณีที่เกิดภาวะ OHSS ยาจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้าง LH เองได้และเกิดการตกไข่ในที่สุด

    ผลข้างเคียงของยา
    ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือระคายเคืองบริเวณที่ฉีดยา

สำหรับการใช้ยากลุ่มโกนาโดโทรปิน (Gonadotropins) ในการกระตุ้นไข่จะทำให้มีการเจริญเติบโตของไข่จำนวนมากกว่ารอบธรรมชาติ ซึ่งการที่มีไข่เจริญเติบโตหลายใบทำให้ไข่แต่ละใบมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นระดับเอสโตรเจนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะส่งสัญญาณไปที่สมองให้หลั่ง LH พร้อมจะทำให้ไข่ตก แต่ในเวลานั้นไข่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลา

สำหรับการใช้ยาป้องกันไข่ตก ขึ้นอยู่กับยาแต่ละชนิด ถ้าเป็น GnRH agonist จะต้องฉีดยาก่อนการฉีดยากระตุ้นไข่เพื่อให้เกิด Down-regulation แต่ถ้าใช้ยา GnRH antagonist จะฉีดยา 2-4 วันหลังจากฉีดยากระตุ้นไข่  หลังจากนั้นจะมีการฉีดยากระต้นไข่ พร้อมกับยาที่ป้องการไข่ตกไปพร้อมกัน และตรวจติดตามขนาดของถุงไข่ เมื่อได้ขนาดของถุงไข่เจริญเติบโตเต็มที่ค่อยฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตก

เพื่อให้การใช้ยาสำหรับภาวะมีบุตรยากมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรจะทราบสาเหตุของการมีบุตรยากก่อน และการใช้ยาทุกประเภทควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของการใช้ยา และจะได้มีการติดตามการตอบสนองต่อยาของคนไข้ เพื่อนำไปสู่การรักษาให้มีประสิทธิภาพที่สุด


19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Smith JF, et al. (2010). The use of complementary and alternative fertility treatment in couples seeking fertility care: Data from a prospective cohort in the United States. DOI: (https://doi.org/10.1016/j.fertnstert.2010.02.054)
Sengupta P. (2012). Challenge of infertility: How protective the yoga therapy is? DOI: (http://doi.org/10.4103/0257-7941.113796)
Rahman SU, et al. (2018). Therapeutic role of green tea polyphenols in improving fertility: A review. (https://www.mdpi.com/2072-6643/10/7/834/htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)