โรคกระดูกเสื่อม เป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย สามารถเกิดได้แม้แต่วัยหนุ่มสาว วัยรุ่น รวมถึงผู้สูงอายุ โดยที่ระยะเวลาในการเกิดโรคกระดูกเสื่อมนั้น เราจะไม่ทราบเมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรกๆ จนกระทั่งเกิดการสูญเสียการทำงานของกระดูกหรือข้อต่อต่างๆ แล้ว จึงจะตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกเสื่อม
ดังนั้น การมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคกระดูกเสื่อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนที่จะต้องให้ความสำคัญและเข้าใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โรคกระดูกเสื่อมเกิดจากอะไร
โรคกระดูกเสื่อมที่ตรวจพบในปัจจุบัน สามารถตรวจพบได้ 4 กลุ่มใหญ่ๆ แบ่งตามสาเหตุ ดังนี้
1. โรคกระดูกเสื่อมโดยไม่มีสาเหตุ
กระดูกเสื่อมโดยไม่มีสาเหตุนั้น ส่วนใหญ่จะพบบ่อยที่ข้อนิ้ว หรือข้อปลายนิ้ว ในผู้หญิงชาวเอเชีย โดยข้อจะมีลักษณะเป็นปมๆ ส่วนผู้หญิงชาวยุโรปจะพบกระดูกเสื่อมบ่อยที่ข้อสะโพก
2. โรคกระดูกเสื่อมจากการเกิดอุบัติเหตุ
เกิดจากการได้รับอุบัติเหตุอย่างแรงโดยตรงต่อกระดูก เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร หรือจากการทำงานหนัก เช่น กระดูกข้อสันหลังเสื่อมจากการก้มๆ เงยๆ ทำงานอย่างต่อเนื่อง การยกของหนัก หรือถือของหนักๆ เป็นเวลานาน หรือเกิดจากการเล่นกีฬา เช่น เอ็นเข่าขาด ลักษณะนี้จะทำให้เข่าไม่มีสมดุล เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง อาจทำให้กระดูกสีกันง่ายขึ้นและเกิดเป็นกระดูกเข่าเสื่อมในที่สุด
3. โรคกระดูกเสื่อมจากการเจ็บป่วยการติดเชื้อ
กลุ่มนี้ เกิดได้จากการติดเชื้อที่กระดูก เช่น วัณโรคกระดูก หรือติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายกระดูกหรือกล้ามเนื้อ รวมถึงมะเร็ง และโรคที่เกิดการการทำลายการสร้างกระดูก
นอกจากนี้ สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเลือดอย่าง โรคฮีโมฟีเลีย ที่มีภาวะแทรกซ้อนง่าย มีเลือดออกตามข้อก็อาจทำให้อาการเสื่อมของกระดูกเกิดได้ง่ายขึ้น
4. การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างและบำรุงกระดูก
ทำให้มีการสร้างเซลล์กระดูกลดลง แต่ทำลายเซลล์กระดูกมากขึ้น ซึ่งสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เป็นต้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของโรคกระดูกเสื่อม
อาการของโรคกระดูกเสื่อม ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเจ็บและปวดตามแนวกระดูกที่เริ่มเสื่อม การขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายทำได้น้อยลง มีเสียงดังเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อกระดูกเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดกระดูก กระดูกผิดรูปจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้
หากเกิดการเสื่อมของกระดูกส่วนที่สำคัญในร่างกาย เช่น กระดูกไขสันหลัง หรือ ส่วนคอ จะมีอาการเริ่มต้น คือ ปวดและมีอาการปวดร้าวมาที่มือ หรือถ้าอาการของโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ มีปัญหา แขน ขา อ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีอาการเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
การรักษาโรคกระดูดเสื่อม
การรักษาส่วนใหญ่ จะตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด คือ การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การทำท่าบริหารที่ถูกต้อง ปรับเปลื่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต หรือเล่นกีฬา
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดมี 2 วิธี ได้แก่
1. การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Fusion)
ทำโดยการใส่สกรู (ทำด้วยโลหะ Titanium) ยึดระหว่างกระดูกสันหลังและปลูกกระดูกไว้รอบๆ หรือใช้กล่องใส่กระดูกสอดเข้าแทนหมอนรองกระดูก
2. วิธีการใช้หมอนรองกระดูกเทียม (Total Disc Replacement)
ทำจากโลหะผสม โดยบางชนิดจะมีส่วนที่เป็นพลาสติกอยู่ตรงกลาง ซึ่งการใช้หมอนรองกระดูกเทียม เป็นวิธีที่นิยมผ่าตัดระดับคอมากกว่าเอว
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ส่วนการรักษาโดยใช้ Laser คลื่นความถี่สูง (Radio Frequent) ขดลวดความร้อน (IDET) อาจนำมาใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ผลของการรักษาของวิธีนี้ จะได้ผลเพียงชั่วคราว
หรืออาจรักษาโดยนักจัดกระดูก (Chiropractor) ก็ได้ ซึ่งจะรักษาอาการปวดคอและหลังในกรณีไม่มีอาการทางระบบประสาท แต่ถ้ามีอาการปวดแขน หรือขาอ่อนแรงลง ควรส่งให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษาต่อไป
การป้องกันโรคกระดูกเสื่อม
การป้องกันโรคกระดูกเสื่อม เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำลายกระดูก ดังนี้
1. ปรับท่าทางในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ตั้งแต่ การนั่ง การยืน การเดินในท่าทางที่ถูกต้อง เช่น การนั่งที่ดีต้องนั่งหลังตรงมีพนักพิงหลัง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือถ้าจำเป็นต้องยกของหนัก ควรที่จะยกขึ้นมาแบบหลังตรง เป็นต้น
2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพราะการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอว การนั่งที่ถูกต้อง คือ การนั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่ควรก้มคอนานๆ
นอกจากนั้น ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินบ้าง ยืดแขนยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ
3. การควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดภาระของกระดูกในการรับน้ำหนัก โดยเฉพาะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเป็นภาระกระดูกสันหลังในการรับน้ำหนัก โอกาสที่กระดูกสันหลังเสื่อมจะมีมากตามมา
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูกและข้ออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ที่สามารถรับประทานได้ทั้งก้าง นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต งา โดยเฉพาะงาดำ ผักใบเขียวชนิดต่างๆ ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูกด้วยการเดิน วิ่ง เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่างๆ ของกระดูกด้วย
6. การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเซลล์เสื่อม เช่น ผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมาก รับประทานให้ครบทั้ง 5 สี เช่น ผลไม้ตระกูลเบอรี่ และผักผลไม้ที่มีเบต้าแคโรทีนสูงๆ คือ ผัก และผลไม้ที่มีสีส้ม เหลืองหรือแดง เช่น แครอท ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน แตงโม แคนตาลูป มะละกอสุก และผักที่มีสีเขียว เช่น บรอคโคลี มะระ ผักบุ้ง ต้นหอม ผักคะน้า ผักตำลึง เป็นต้น
โรคกระดูกเสื่อม เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ เมื่อเป็นแล้วสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ที่เป็นโรคยิ่งนัก การป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกเสื่อมจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อเราทุกคน