พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์
เขียนโดย
พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

สมุนไพรรักษาโรคไต ชนิดไหนดี ? ชนิดไหนอันตราย ควรเลี่ยง?

แนะนำ 5 สมุนไพรดูแลไต วิธีการใช้ และข้อควรระวังเพื่อให้ใช้สมุนไพรเหล่านี้อย่างปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
สมุนไพรรักษาโรคไต ชนิดไหนดี ? ชนิดไหนอันตราย ควรเลี่ยง?

โรคไตวาย คือ ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ จากเดิมที่สามารถทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ แต่กลับไม่สามารถขับของเสียและเกลือแร่ต่างๆ ได้ ส่งผลให้ของเสียเหล่านั้นคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด ภาวะไตวายโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ไตวายเฉียบพลัน กับ ไตวายเรื้อรัง ซึ่งในปัจจุบันมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกที่หลากหลาย ทั้งการแพทย์แผนจีน การแพทย์แผนตะวันออกและการแพทย์แผนไทยที่เป็นทางเลือกในการรักษาและดูแลไต สำหรับทางเลือกด้านสมุนไพรดูแลไต มีรายชื่อสมุนไพร 5 ชนิด ที่สามารถช่วยดูแลไตได้ ดังนี้

5 สมุนไพรรักษาโรคไต

1. รากหญ้าคา

หญ้าคา เป็นพืชจำพวกหญ้าที่พบได้ทั่วไป มีลำต้นอยู่ใต้ดิน จึงเห็นเป็นกอที่มีใบแตกกออกมา มีใบยาวปลายแหลม มีดอกย่อยอยู่ติดกันแน่น เมื่อแก่จะเป็นขนฟูสีขาว เมล็ดจะหลุดร่วงปลิวไปตามลม แพร่พันธุ์ไปได้ไกลหญ้าคา มีสารประกอบเฟโนลิก (Phenolic) ซึ่งมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ลดความดันโลหิต และยังมีสารประกอบอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันเซลล์สมอง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยต้านแบคทีเรีย และตามตำราการแพทย์แผนไทย รากหญ้าคามีรสชุ่มเย็น ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงไต แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดาออก ความดันเลือดสูง ปัสสาวะเป็นเลือดหนองในปัสสาวะขัด บวมน้ำ ดีซ่าน ประจำเดือนมามากเกินไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

วิธีและปริมาณในการใช้ ให้น้ำรากหญ้าคา 1 กำมือ (สด 40-50 กรัม หรือ แห้ง 10-15 กรัม) หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร)

ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ยาคาในผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะรากหญ้าคามีโพแทสเซียมปริมาณมาก อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

2. หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมวเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ขอบใบหยัก แผ่นใบสีเขียวเข้ม มี 2 พันธุ์ ชนิดดอกสีขาวอมม่วงอ่อน และดอกสีฟ้า บานจากล่างขึ้นข้างบน หญ้าหนวดแมวมีโพแทสเซียมสูง และมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่สามารถยับยั้งการเพิ่มขนาดของผลึกแคลเซียมออกซาเลตในก้อนนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ สาร orthosiphonin glucoside และน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับไต โรคเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งทางการแพทย์แผนไทย หญ้าหนวดแมว ช่วยรักษาโรคปวดข้อ ลดความดันโลหิต บรรเทาอาการไอ ช่วยรักษาโรคไต รักษาสภาพความเป็นกรดด่างในไตให้สมดุล ช่วยขยายหลอดไตให้กว้าง ช่วยเพิ่มการขับสารพิษออกจากไตให้มีประสิทธิภาพ ช่วยขับปัสสาวะ รักษา และป้องกันโรคนิ่วได้

วิธีและปริมาณในการใช้ ให้นำใบและกิ่งแห้ง 4 กรัม มาชงด้วยน้ำร้อน 750 มิลลิลิตร ดื่มน้ำชงต่างน้ำ หรือใช้ใบและก้านสด 90-120 กรัม (แห้ง 40-50 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มน้ำต้มที่ได้ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของหัวใจบกพร่อง ควระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม ระวังในการใช้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานหรือร่วมกับการฉีดอินซูนเพราะอาจทำให้เสริมฤทธิ์ของยา และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

3. กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นและกิ่งมีสีม่วงแดง ใบหยักเว้าลึก 3-5 แฉก ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ มีริ้วประดับสีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน สีแดงเข้ม กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ตรงกลางดอกสีม่วงแดง สารประกอบในกระเจี๊ยบแดง มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรด ช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ และตามสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย กระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในสำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

วิธีและปริมาณในการใช้ นำกลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ข้อควรระวัง อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดมวนท้องได้ และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

4. สับปะรด

สับปะรดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน มีกาบใบห่อหุ้มลำต้น ใบเรียวยาวออกเรียงเวียนถี่ ขอบใบมีหนาม แผ่นใบสีเขียวเข้มและเป็นทางสีแดง ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาว ดอกช่อออกที่ปลายยอด เรียงอัดกันแน่นรอบแกนช่อดอก ผลรวมรูปรี โคนกว้าง ปลายสอบ มีใบสั้นเป็นกระจุกที่ปลายผล ผลสุกสีเหลืองสดและฉ่ำน้ำ เหง้าสับปะรดมีน้ำมันหอมระเหยและสารประกอบในพืช ที่ช่วยขับปัสสาวะ ตามสรรพคุณแพทย์แผนไทยใช้รากใต้ดินหรือที่เรียกว่าเหง้าสับปะรด รสหวานเย็น แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ระดูขาว แก้หนองใน

วิธีและปริมาณในการใช้ ใช้เหง้าสดหรือแห้งวันละ 1 กอบมือ (สดหนัก 200-250 กรัม แห้งหนัก 90-100 กรัม) ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ข้อควรระวัง และผู้ป่วยโรคไตในระยะที่การทำงานของไตเสียหายรุนแรง ที่มีการรักษาด้วยการล้างไต หรือฟอกเลือดอยู่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

5. อ้อยแดง

อ้อยแดงเป็นไม้ล้มลุก เปลือกต้นมีสีแดง มีข้อปล้องสีม่วงดำ ใบเป็นแถบยาว ตามสรรพคุณแพทย์แผนไทย อ้อยแดงสามารถแก้ปัสสาวะขัด แก้นิ่ว บำรุงธาตุ แก้เสมหะ แก้ไอ แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงกำลัง

วิธีและปริมาณในการใช้สมุนไพรรักษาโรคไต

ลำต้นสดหรือแห้ง 1 กำมือ (สด 70-90 กรัม แห้ง หนัก 30-40 กรัม) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น

สมุนไพรทั้ง 5 ชนิดเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงและรักษาไตที่เหมาะสำหรับผู้ที่พึ่งเริ่มมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตระยะที่การทำงานของไตเสียหายไม่รุนแรง หรืออาการอื่นๆ ตามสรรพคุณสมุนไพร สามารถนำมาใช้เพื่อดูแลตนเองและคนในครอบครัว ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกิน 3 เดือน เพราะอาจเกิดการสะสมของสารประกอบต่างๆ ในพืชมากเกินไป จนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรังระยะท้ายๆ หรือผู้ป่วยที่มีการรักษาโรคไตด้วยการฟอกเลือด ล้างไต ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสมุนไพรมารับประทานเอง เนื่องจากบางชนิดควรอาจทำให้เกิดอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือแพทย์แผนไทยก่อนทุกครั้ง


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อรรถพงศ์ วงศ์วิวัฒน์, โรคไตวายเรื้อรังเกิดขึ้นจากสาเหตุใด (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=209)
ศูนย์โรคไต รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรงไตเรื้อรังไม่ยากเกินเข้าใจ kidney disease (http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/461)
วีระสิงห์ เมืองมั่น, ใบพยัพเมฆหรือหญ้าหนวดแมวใช้ป้องกันโรคนิ่วในไต : รวบรวมผลงานการวิจัยโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป