เป็นธรรมดาของมุนษย์ที่จะเกิด แก่ เจ็บ และเสียชีวิตไปตามอายุขัย แต่การเสียชีวิตกระทันหันของคนใกล้ตัวหรือบุคคลที่มีความสำคัญต่อจิตใจมากๆ เช่น คนในครอบครัว คู่ชีวิต อาจทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกตกใจและยอมรับกับเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ได้ จนมีอาการโศกเศร้า
อาการโศกเศร้าจากการสูญเสียคนใกล้ตัว
ลักษณะอาการที่ผู้สูญเสียแสดงออก สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- ด้านความรู้สึก ช่วงแรกที่ประสบความสูญเสีย ผู้สูญเสียอาจยังรับไม่ได้ สับสน หรือไม่ยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางรายมีอาการฉุนเฉียว ตำหนิติเตียนผู้อื่น ตั้งแต่คนใกล้ตัว แพทย์ผู้ทำการรักษา หรือแม้แต่ศาสดาของศาสนาที่ตนนับถือ ในบางรายอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
- ด้านร่างกาย ผู้สูญเสียอาจมีอาการผิดปกติทางร่างกายจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ทั่วท้อง หัวใจเต้นแรง ปวดศีรษะ เคลื่อนไหวช้า บางรายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากขึ้น
- ด้านความคิด จะมีส่วนสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก โดยหากผู้สูญเสียยังคงไม่ยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจมีความคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่เกิด นำไปสู่ความไม่มั่นใจในตัวเอง
- ด้านพฤติกรรม ในแต่ละรายอาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น อาจไม่มีแรงทำงาน ร้องขอความช่วยเหลือแม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ กระวนกระวาย หลีกเลี่ยงสถานที่ที่เคยอยู่ร่วมกับผู้เสียชีวิต เก็บตัวเงียบ ไม่พบปะผู้คน
ระยะของอาการโศกเศร้าจากการสูญเสียคนใกล้ตัว
มีการแบ่งปฏิกริยาที่เกิดขึ้นของอาการโศกเศร้าหลังสูญเสียคนรักหรือคนใกล้ตัวเอาไว้ 5 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะอาจใช้เวลาไม่เท่ากันกว่าจะผ่านพ้นไปได้ ดังนี้
- ปฏิเสธความจริง (Stage of denial) เมื่อเจอกับการสูญเสียอย่างกระทันหัน ผู้ที่สูญเสียจะไม่ยอมรับความจริง ไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น อาจมีความพยายามในการหาเรื่องดีๆอื่นๆจากภายในและภายนอกของตัวเอง เพื่อให้ผ่อนคลายจากการสูญเสียนั้นๆ เช่น คิดถึงวิธีการรักษาจะช่วยได้ ทั้งๆ ที่เกิดการสูญเสียขึ้นแล้ว
- โกรธเกรี้ยว (Stage of anger) เมื่อเข้าสู่ระยะที่สอง ผู้สูญเสียอาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย อารมณ์แปรปรวน เริ่มโทษคนอื่นว่าเป็นสาเหตุของการสูญเสีย รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย
- ต่อรองความรู้สึก (Stage of bargaing) ในระยะนี้ผู้สูญเสียพอจะรับรู้และยอมรับได้บ้างแล้ว เพียงแต่ยังต่อรองกับจิตใจของตัวเองอยู่เพราะยังไม่เชื่อสนิทใจ
- ซึมเศร้า (Stage of depression) ในระยะนี้เป็นระยะที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะผู้สูญเสียอาจมีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคมหรือครอบครัว แสดงความโศกเศร้าเสียใจออกมาให้เห็น
- ยอมรับความจริง (Stage of acceptance) เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้ ผู้สูญเสียยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้วและกลับสู่ภาวะเดิมตามปกติ
ข้อแนะนำวิธีบรรเทาความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนใกล้ตัว
เมื่อเกิดการสูญเสียย่อมต้องมีผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจแน่นอน ตามปกติอาการโศกเศร้ามักจะหายได้เองโดยอาศัยเวลา มีข้อแนะนำสำหรับบรรเทาอาการโศกเศร้า ทั้งสำหรับผู้สูญเสียเอง และผู้ที่กำลังต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับความสูญเสีย ดังนี้
1. สำหรับผู้สูญเสียเอง
มีคำแนะนำที่น่าจะช่วยให้ผลกระทบทางจิตใจดีขึ้น ดังต่อไปนี้
- ฝึกทำใจยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยอาจทบทวนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีร่วมกับผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะสิ่งดีและไม่ดี รวมทั้งความรู้สึกที่มีให้ในแต่ละเหตุการณ์ การทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูญเสียค่อยๆ รู้สึกได้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องธรรมดา
- เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่นรอบตัว เพื่อทดแทนความรู้สึกสูญเสียทางจิตใจที่ได้รับ อาจเริ่มพูดคุยกับคนที่รู้จัก ใช้เวลากับการสนทนามากขึ้น ไม่เก็บตัวเงียบจนเกินไป
- ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีร่วมกับผู้เสียชีวิตให้คนใกล้ตัวฟัง ช่วยระบายความในใจและอาจได้รับการสนับสนุนทางใจจากพวกเขาอีกด้วย
- หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง
- พยายามทำกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม ในกรณีที่ผู้สูญเสียบางรายอาจคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนใกล้ตัว การพยายามทำกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิมจะเป็นการฝึกให้ไม่รู้สึกผิดกับตนเองมากจนเกินไป ซึ่งการรู้สึกผิดซ้ำๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้
- ขอความช่วยเหลือ กรณีเจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ควรขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว ญาติ หรือครอบครัว
นอกจากนี้ ขณะกำลังโศกเศร้าผู้สูญเสียยังไม่ควรตัดสินใจเรื่องสำคัญ เพราะขณะกำลังโศกเศร้า กระบวนการคิดวิเคราะห์อาจทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจส่งผลที่ไม่ดีตามมาจนทำให้จิตใจย่ำแย่ลงอีก
2. สำหรับผู้ที่มีคนใกล้ตัวกำลังโศกเศร้า
หากคนใกล้ตัวอยู่ในอาการโศกเศร้าจากการสูญเสียคุณอาจมีส่วนช่วยในการช่วยเยียวยาพวกเขา โดยปฏิบัติให้เหมาะสมกับระยะของอาการโศกเศร้า ดังนี้
- ระยะปฏิเสธความจริง ถ้าผู้กำลังโศกเศร้าอยู่ในระยะนี้ คุณอาจรับฟังและอยู่เป็นคู่สนทนาที่ดี โดยแสดงความเข้าใจหรือเห็นใจ ยังไม่ต้องแสดงความคิดเห็นหรือขัดแย้งผู้สูญเสียในตอนนี้
- ระยะต่อรองความรู้สึกและระยะโกรธเกรี้ยว ในระยะนี้ผู้สูญเสียต้องการความเข้าใจมากเป็นพิเศษ คุณอาจต้องมีสติควบคุมอารมณ์ตนเองอย่างมาก ไม่แสดงอารมณ์โกรธโต้ตอบกับผู้สูญเสียระหว่างอยู่เป็นเพื่อน เพราะอาจทำให้จิตใจของเขาย่ำแย่ลงกว่าเดิม
- ระยะซึมเศร้า ระยะนี้ต้องอาศัยความใส่ใจผู้สูญเสีย เพราะเป็นช่วงที่พวกเขามีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเองหรืออาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ อาจดูแลโดยช่วยรักษาความสะอาด คอยสนับสนุนสิ่งที่ผู้สูญเสียต้องการ เพราะผู้สูญเสียอาจไม่ได้ดูแลสุขภาพตนเองได้ดีพอ เช่น ดูแลเรื่องอาหาร สุขอนามัย ในขณะเดียวกันต้องคอยประเมินความเสี่ยงที่ผู้สูญเสียจะทำร้ายตัวเองอยู่เสมอ หากดูท่าไม่ดีอาจพิจารณาแนะนำหรือพาพวกเขาเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด
- ระยะยอมรับความจริง เมื่อผู้สูญเสียยอมรับความจริงและควบคุมตนเองได้แล้ว ระยะนี้ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาพูดถึงประสบการณ์ดีๆ เรื่องดีๆ ที่มีร่วมกับผู้เสียชีวิต และคอยให้คำแนะนำกับเกี่ยวกับการจัดการแผนต่างๆในอนาคต เช่น การทำงาน ครอบครัว การเรียน เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติที่สุด