ภาวะไม่สมดุลน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และกรด-ด่าง (Fluid, Electrolyte and Acid-Base Imbalance)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ภาวะไม่สมดุลน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และกรด-ด่าง (Fluid, Electrolyte and Acid-Base Imbalance)

ภาวะไม่สมดุลน้ำ อิเล็กโทรไลต์ และกรด-ด่าง (Fluid, Electrolyte and Acid-Base Imbalances)

น้ำ (H2O)

น้ำมีความสำคัญต่อร่างกายของมนุษย์ เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทั้งในเซลล์และนอกเซลล์ มีประมาณ 2 ใน 3 ของน้ำหนักตัว น้ำช่วยส่งเสริมให้เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น เป็นตัวกลางในการเคลื่อนที่ของสารต่างๆ ระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ โดยผ่านผนังหุ้มเซลล์ เช่น การนำสารอาหารเข้าสู่เซลล์ การขับถ่ายของเสียออกจากเซลล์ การรักษาสมดุลของเกลือแร่ เป็นต้น นอกจากนี้กระบวนการเผาผลาญของเซลล์ต้องอาศัยน้ำเป็นตัวกลาง ตลอดจนน้ำยังรักษาอุณหภูมิร่างกาย และคงไว้ซึ่งปริมาตรเลือดไหลเวียนอีกด้วย ภาวะเสียสมดุลของน้ำจากภาวะขาดน้ำหรือน้ำเกิน แม้จะไม่ใช่โรค แต่ภาวะเสียสมดุลนี้จะทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ หรืออาจมีสาเหตุจากโรคที่ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของน้ำ และมีพยาธิสภาพที่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)

อิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย ประกอบด้วย ประจุบวกและประจุลบ เพื่อทำให้เกิดภาวะสมดุลในร่างกาย อิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญในร่างกาย ได้แก่ โซเดียม โปแตสเซียม คลอไรด์ และไบคาร์บอเนต

โซเดียม (Na+)

เป็นอิเล็กโทรไลต์ประจุบวกที่มีมากที่สุด (90-95%) ในน้ำนอกเซลล์ มีบทบาทที่สำคัญในกระบวนการทางเคมีต่างๆ ของร่างกาย เป็นตัวควบคุมความเข้มข้นและสมดุลของน้ำในหลอดเลือดและช่องว่างระหว่างเซลล์ ดังนั้นโซเดียมจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมขนาดของเซลล์ โซเดียมยังเป็นส่วนประกอบในการสร้างพลังงานในเซลล์ โดยกลไกนำกลูโคสผ่านผนังเซลล์ (Sodium-potassium pump) นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการนำกระแสประสาทสู่เส้นใยกล้ามเนื้อ ระดับของโซเดียมในซีรัม มีค่าระหว่าง 135-145 mEq/L ความไม่สมดุลของโซเดียม มีสองลักษณะ คือ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำและภาวะโซเดียมในเลือดสูง ความผิดปกติทั้งสองลักษณะจะมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

โปแตสเซียม (K+)

เป็นอิเล็กโทรไลต์ประจุบวก ที่พบมากที่สุดในเซลล์ (ร้อยละ 98) มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่อยู่ในน้ำนอกเซลล์ โปแตสเซียมมีความสำคัญต่อการนำกระแสประสาทของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นส่วนประกอบในการสังเคราะห์โปรตีนและไกลโคเจน ตลอดจนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ช่วยคงไว้ซึ่งสมดุลของความดันออสโมติกภายในเซลล์ และสมดุลของกรด-ด่าง ซึ่งในซีรัมมีค่าระหว่าง 3.5-5.5 mEq/L ปริมาณโซเดียมในน้ำนอกเซลล์จึงไม่ได้สะท้อนถึงปริมาณโปแตสเซียมทั้งหมดในร่างกาย ในเซลล์สามารถทนต่อปริมาณของโปแตสเซียมที่เข้าไปในเซลล์ได้จำนวนมากๆ แต่ในซีรัมเมื่อปริมาณโปแตสเซียมเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดพิษได้ การเสียสมดุลของโปแตสเซียมในเลือดจะพบได้ทั้งต่ำและสูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย

แคลเซียม (Ca++)

เป็นอิเล็กโทรไลต์ประจุบวกที่สำคัญของร่างกาย นอกจากเป็นส่วนประกอบของกระดูกที่เป็นโครงสร้างของร่างกายแล้วในรูปของประจุอิสระ ยังทำหน้าที่ควบคุมการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อเรียบ ส่งกระแสประสาท โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยให้ทำงานได้เป็นปกติ และแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญในการแข็งตัวของเลือดด้วย แคลเซียมในเลือดมีค่าอยู่ระหว่าง 8.5-10.5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ความผิดปกติของระดับแคลเซียมในเลือดไม่ว่าสูงหรือต่ำเกินไป จะมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย

คลอไรด์ (Cl)

เป็นอิเล็กโทรไลต์ประจุลบที่มีมากที่สุดในเซลล์มีประมาณ 98-106 mEq/L มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลกับประจุบวก โดยจะอยู่รวมกับประจุบวกในรูปของโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) กรดไฮโดรคลอริก (HCl) โปแตสเซียมคลอไรด์ (KCl) แคลเซียมคลอดไรด์ (CaCl2) คลอไรด์จะเข้าออกเซลล์โดยรวมกับโซเดียมและโปแตสเซียม เมื่อคลอไรด์อยู่รวมกับโซเดียมจะช่วยทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำและความเข้มข้นของเลือด ช่วยสร้างน้ำไขสันหลัง เป็นส่วนประกอบในน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ คลอไรด์ยังช่วยรักษาสมดุลกรด-ด่างด้วย ความผิดปกติของไต ลำไส้ การเสียสมดุลของโซเดียม ภาวะเสียสมดุลกรด-ด่าง จะส่งผลให้เกิดภาวะเสียสมดุลของคลอไรด์ได้ทั้งภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำและคลอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งจะกระจายต่อการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย

ภาวะกรดด่าง (Acid Base: pH)

มีความสำคัญต่อร่างกายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของสรีรวิทยาเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมของเซลล์ให้คงที่ และเหมาะสมสำหรับกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย กระบวนการทางสรีรวิทยาและปฏิกิริยาทางเคมีของร่างกายในภาวะสมดุลจะมีสิ่งแวดล้อมเป็นด่างเล็กน้อย เมื่อเกิดภาวะไม่สมดุลของกรดด่าง เช่น ไฮโดรเจนอิออนเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นต้น จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากภาวะกรด-ด่างจะมีผลกระทบต่อสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ควบคุมการส่งกระแสประสาท ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ปกติภาวะกรด-ด่าง (pH) ของน้ำนอกเซลล์ pH = 7.35-7.45 หากมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย จะมีระบบควบคุมสมดุลของกรด-ด่างช่วยปรับให้ภาวะกรด-ด่าง (pH) ให้กลับเข้าสู่สมดุล ได้แก่ ระบบบัฟเฟอร์ ระบบหายใจและระบบไต เพราะหากในเลือดมี pH > 8 หรือ pH < 6.8 จะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ การประเมินภาวะกรด-ด่างว่าสมดุลหรือไม่ จะประเมินได้จากผลการวิเคราะห์ค่าความดันก๊าซในเลือดแดง (Arterial blood gas; ABG) โดยประเมินจากค่า pH, PaCO2, HCO3, Base excess (BE), PaO2 ซึ่งแต่ละค่ามีความหมายดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1) pH เป็นตัวบ่งบอกถึงความเข้มข้นของไฮโดรเจนอิออนในพลาสมาของหลอดเลือดแดง

ค่าปกติ pH = 7.35-7.45

หาก pH < 7.35 แสดงถึงภาวะ กรด (Acidosis)

หาก pH > 7.45 แสดงถึงภาวะ ด่าง (Alkalosis)

2) PaCo2 เป็นตัวบ่งบอกของระบบหายใจ เป็นค่าความดันของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดง

ค่าปกติ PaCo2 = 35-45 มม.ปรอท

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หาก PaCo2 > 45 มม.ปรอท แสดงถึงเลือดมีภาวะเป็นกรดจากการหายใจ

หาก PaCo2 < 35 มม.ปรอท แสดงถึงเลือดมีภาวะเป็นด่างจากการหายใจ

สาเหตุ อาจเกิดจากมีพยาธิสภาพที่ปอด หรือเป็นผลจากการปรับชดเชยเพื่อแก้ภาวะกรด-ด่างจากเมตาบอลิซึม

3) HCO3 เป็นตัวบ่งบอกของไต เป็นค่าความเข้มข้นของไบคาร์บอเนตอิออนในเลือดแดง

ค่าปกติ HCO3 = 22-26 mEg/L

HCO3 > 26 mEg/L แสดงถึง เลือดมีภาวะเป็นด่างจากระบบเมตาบอลิซึม

HCO3 < 226 mEg/L แสดงถึง เลือดมีภาวะเป็นกรดจากระบบเมตาบอลิซึม

สาเหตุ อาจเกิดจากมีพยาธิสภาพที่ไตหรือระบบเมตาบอลิซึม หรือเป็นผลจากการปรับชดเชยเพื่อแก้ภาวะกรด-ด่างจากการหายใจ

4) PaO2 เป็นค่าความดันออกซิเจนในหลอดเลือดแดงที่ละลายอยู่ในพลาสมา

ค่าปกติ = 80-100 มม.ปรอท

5) Base exess (BE) เป็นค่าที่สะท้อนถึงจำนวนของด่างทั้ง HCO3 และบัฟเฟอร์อิออน ตัวอื่นๆ ในเลือดทั้งหมด

ค่าปกติ BE = 0 ถึง 3 mEg/L

หาก BE มีค่า + แสดงถึง มีภาวะด่างเกินจากเมตาบอลิซึม

หาก BE มีค่า – แสดงถึง มีภาวะด่างขาดจากเมตาบอลิซึม

6) SaO2 (O2 sat) เป็นปริมาณออกซิเจนที่จับกับฮีโมโกลบิน เทียบกับความสามารถของฮีโมโกลบินที่จับกับออกซิเจนได้เต็มที่

ค่าปกติ SaO2 = 93-99%

SaO2 มีความสำคัญในการประเมินสภาวะออกซิเจนในเลือด แต่ในการวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่างไม่ได้ใช้ค่า SaO2


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Acid-base and electrolyte abnormalities with diarrhea. UpToDate. (https://www.uptodate.com/contents/acid-base-and-electrolyte-abnormalities-with-diarrhea)
Diagnostic strategies in disorders of fluid, electrolyte and acid-base homeostasis. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/7036739)
Fluid, Electrolyte, and Acid-Base Balance. ScienceDirect. (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9780123963055500191)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป