อาการวุ้นตาเสื่อมนั้นเป็นอย่างไร? หลายคนอาจเคยสังเกตว่า เวลามองท้องฟ้าใสๆ มองผนังขาว หรือจอสีพื้นสว่างๆ บางครั้งมองเห็นอะไรบางอย่างลอยไปมาตามทิศทางการมองของเรา บางคนเห็นเป็นจุดดำๆ บางคนเห็นลักษณะมีหัวมีหางเหมือนลูกน้ำ บ้างอาจเห็นเป็นเส้นใยเหมือนหยากไย่ใสๆ บางคนเห็นเป็นวงแหวน บางขณะอาจเห็นเป็นเหมือนควันหรือเมฆ ลอยกระเพื่อมๆ ผ่านแนวการมองเห็นของเราไป
เวลาหันหน้าหรือกลอกตา เจ้าสิ่งนี้ก็ลอยเคลื่อนที่ตามไปด้วย ในบางครั้งแม้ตั้งใจมองหาเรากลับมองไม่เห็น แต่อยู่ๆ มันก็ปรากฏขึ้นอีก แล้วก็ลอยหายไป
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการมองเห็นจุดลอยไปลอยมานี้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “โฟลตเตอร์ (Floaters)” เป็นปัญหาทางการมองเห็นที่พบบ่อยมาก มันไม่ใช่โรค แต่เป็น “อาการ” เปรียบเทียบก็เหมือนอาการไข้ อาการปวดหัว ซึ่งอาจจะเกิดได้จากหลายโรค จะทราบว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากโรคอะไร ก็ต้องผ่านการตรวจโดยแพทย์ หรือการตรวจพิเศษต่างๆ
เห็นจุดหรือเส้นใยลอยไปมา ใช่อาการโรค "วุ้นตาเสื่อม" หรือไม่?
อาการเห็นจุดหรือเส้นใยลอยไปมา หรืออาการต่างๆ ที่เรียกว่าโฟลตเตอร์ล้วนอาจเป็น อาการของโรควุ้นตาเสื่อมได้จริง แต่อาการเหล่านี้ก็เป็นอาการของ โรคดวงตาอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน โดยโรคที่พบบ่อยในคนไข้ที่มาด้วยอาการโฟลตเตอร์ มีดังนี้
- วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous degeneration)
น้ำวุ้นตาอยู่ในส่วนห้องด้านหลังของลูกตา มีลักษณะเป็นเจลใส ประกอบไปด้วยคอลลาเจน โปรตีน และน้ำ น้ำวุ้นตามีหน้าที่คงรูปทรงกลมของลูกตาและเป็นทางผ่านของแสงไปโฟกัสที่จอประสาทตา
เมื่ออายุมากขึ้น น้ำวุ้นตาจะค่อยๆ เสื่อมสภาพทีละหย่อม ทำให้เกิดการหดตัว น้ำแห้งไป น้ำวุ้นจะข้น เซลล์ในน้ำวุ้นที่เสื่อมสภาพนี้จะเป็นตะกอนลอยไปมา เมื่อแสงผ่านเข้าตา ตะกอนเหล่านี้ก็จะบังแสง เกิดเป็นเงาของตะกอนตกไปที่จอประสาทตา เราจึงมักเห็น Floaters เป็นจุดดำๆ หรือบางคนอาจเห็นเป็นเส้นใยใสๆ บางๆ คล้ายใยแมงมุม สิ่งที่เห็นนั้นคือโครงสร้างพวกโปรตีน คอลลาเจน ในน้ำวุ้นที่เสื่อมสภาพเช่นกัน
เมื่อเกิดวุ้นในตาเสื่อม ส่วนน้ำที่เป็นองค์ประกอบของน้ำวุ้นแห้งไป ตัวก้อนวุ้นทั้งก้อนจะมีการหดตัว ผิวน้ำวุ้นด้านหลังที่เคยแนบและยึดติดกับจอประสาทตาจะแยกตัวออกจากจอประสาทตา (Posterior Vitreous detachment: PVD) ก่อนการแยกตัว น้ำวุ้นตาอาจมีการดึงรั้งจอประสาทตา ซึ่งแรงดึงรั้งนี้เป็นการกระตุ้นจอประสาทตาเสมือนว่ามีแสงมาตกกระทบ ทำให้คุณเห็นเป็นแสงแวบๆ เหมือนมีใครมาเปิดแฟลชถ่ายภาพ (Flashing) อยู่ด้านข้างตา หากการดึงรั้งนี้เกิดโดยสันติไปตามธรรมชาติ ก็ไม่เกิดอะไรอันตรายใดๆขึ้น PVD ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นจนน้ำวุ้นตากับจอประสาทตาแยกตัวออกจากกันโดยสมบูรณ์ แต่หากบริเวณที่ถูกดึงรั้งมีเส้นเลือดผ่าน เมื่อเส้นเลือดฉีกขาดก็จะมีเลือดไหลออกมา อาจเห็นเป็น Floaters จำนวนน้อยหรือมากขึ้นกับปริมาณเลือด ส่วนหากจอประสาทตาบริเวณที่ถูกน้ำวุ้นดึงรั้งนั้นบาง หรือมีความผิดปกติในโครงสร้างต่างๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะฉีกขาด และอาจเกิดจอประสาทตาลอกตามมา
- จอประสาทตาส่วนริมนอกมีโครงสร้างผิดปกติ (Peripheral retinal degenerations)
จอประสาทตาฉีกขาด (Retinal tear) หรือ จอประสาทตาลอก (Retinal detachment) อาการ Floater หรือมี Flashing มักจะเป็นอาการนำที่ทำให้คนไข้มาตรวจตาและพบว่ามีภาวะจอประสาทตามีโครงสร้างผิดปกติโดยบังเอิญ
บางคนอาจจะมีโครงสร้างจอประสาทตาส่วนริมผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดจอประสาทตาฉีกขาดและลอกได้ คนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีสายตาสั้น ซึ่งหากไม่ตรวจจอประสาทตาโดยละเอียดก็จะไม่ทราบเลย โอกาสหนึ่งที่คนสายตาสั้นจะได้ตรวจสุขภาพตาและตรวจจอประสาทตาโดยละเอียด คือการไปตรวจสภาพตาเพื่อทำผ่าตัดรักษาสายตา เช่น การทำเลสิก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำจะมีสภาพตาเหมาะสมที่จะทำได้ในทันที
จักษุแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรักษาสายตาจะตรวจประเมินสภาพตาก่อนว่า ผู้สนใจมีสภาพตาเหมาะสมต่อการทำผ่าตัดหรือไม่ และหากแพทย์ตรวจพบว่าคนไข้มีโครงสร้างจอประสาทตาผิดปกติ มีความเสี่ยงจะเกิดจอประสาทตาฉีกขาด หรือจอประสาทตาลอก แพทย์มักจะแนะนำให้ทำเลเซอร์เพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้นก่อนการทำผ่าตัดรักษาสายตา เพื่อให้แน่ใจว่าการผ่าตัดรักษาสายตามิได้กระตุ้นทำให้เกิดปัญหาจอประสาทตา ที่คนไข้มีความผิดปกติและมีความเสี่ยงอยู่แล้ว
แต่หากเกิดอาการจอประสาทตาลอกแล้ว ตาจะมัวมาก มักมองเห็นภาพแหว่งหายไปเป็นบางส่วน หรือมัวจนมองไม่เห็นภาพเลย ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพราะการรักษาต้องทำด้วยการผ่าตัดโดยรีบด่วนเท่านั้น
- เลือดออกในน้ำวุ้นตา (Vitreous hemorrhage)
หากเลือดออกปริมาณน้อย คนไข้จะเห็นเป็นแค่ Floater และตาอาจจะแทบไม่มัวเลย แต่หากเลือดออกปริมาณมากขึ้น ตาจะมัวลงมาก
สาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกในน้ำวุ้นตามีได้หลายประการ ได้แก่ - น้ำวุ้นตาเสื่อม ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว
- เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่มีผลกระทบต่อตา เกิดขึ้นเพราะโรคเบาหวานทำลายเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อจอประสาทตาที่บุอยู่ด้านหลังของผนังลูกตา เมื่อจอประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ขาดอาหาร จึงพยายามสร้างเส้นเลือดใหม่ (Neovascular) มาแทน แต่เส้นเลือดที่เกิดขึ้นใหม่นี้บางและแตกง่าย จึงเกิดภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตาได้เมื่อเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะที่รุนแรงแล้ว
เมื่อเบาหวานขึ้นจอประสาทตาระยะแรก คนที่เป็นเบาหวานจะไม่มีอาการใดๆ เลย ถ้าไม่ตรวจตาจะไม่ทราบเลยว่ามีเบาหวานขึ้นตาแล้ว ดังนั้น เมื่อแรกทราบว่าเป็นเบาหวาน ควรได้รับการตรวจตาและตรวจจอประสาทตา และหลังจากนั้น อย่างน้อยควรได้รับการตรวจตาปีละครั้ง แต่หากจักษุแพทย์พบว่าเริ่มมีเบาหวานขึ้นจอประสาทตาแล้ว แพทย์จะนัดตรวจบ่อยกว่านั้นเพื่อเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด และถ้าเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในระยะที่น่าจะเป็นอันตรายหรือระยะรุนแรงแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ยิงเลเซอร์จอประสาทตาเพื่อลดความเสี่ยงที่จอประสาทตาจะสูญเสียหนักกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การยิงเลเซอร์ไม่สามารถทำให้จอประสาทตากลับเป็นปกติเหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้นได้ - เส้นเลือดดำของจอประสาทตาอุดตัน (Central Retinal Vein Occlusion: CRVO) หากมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา แพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้งดการนอนราบ ให้พยายามนอนหัวสูง เพื่อทำให้เลือดตกตะกอน การมองเห็นจะชัดขึ้นได้เร็ว และช่วยให้เมื่อแพทย์ตรวจจอประสาทตา สามารถมองเห็นสภาพของโรคได้ชัดเจนขึ้น
- มีการอักเสบในตา (Uveitis) ภาวะม่านตาอักเสบ หรือยูเวีย (Uvea) อักเสบ เป็นคำที่ใช้เรียกการอักเสบของเนื้อเยื่อส่วนกลาง อยู่ระหว่างส่วนหน้าและหลังของลูกตา บางกรณีถ้าเกิดการอักเสบเฉพาะส่วนหน้า จะเรียกว่าม่านตาอักเสบ (Iritis) แต่หากอักเสบเฉพาะส่วนหลัง จะเรียกว่า “Posterior Uveitis” แต่ถ้ามีการอักเสบทั้งหมดทุกส่วน เรียกว่า “Panuveitis”
อาการอักเสบในตาอาจจะมาด้วยอาการตาแดง ตามัวลง สู้แสงไม่ได้ ปวดตา และเห็น Floaters อาจพบว่ามีโรคทางกายอย่างอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่น การติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส วัณโรค โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีน HLA-B27 เป็นต้น
ก่อนที่แพทย์จะบอกได้ว่า Floaters ที่คนไข้เห็นนั้นเป็นจากสาเหตุอะไร ต้องผ่านการตรวจตาโดยต้องตรวจดูจอประสาทตาร่วมด้วย เพื่อแยกโรคให้ได้ว่า Floaters ที่คุณเห็นขณะนั้นเกิดจากโรคที่อันตรายหรือไม่ ต้องรีบรับการรักษาหรือไม่
การตรวจจอประสาทตา มีขั้นตอนเพิ่มเติมจากการตรวจตาทั่วๆ ไปอย่างไร?
ภายในลูกตาของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ขอเรียกง่ายๆ ว่า “ห้อง” มีห้องด้านหน้าซึ่งมีขนาดเล็ก กับห้องด้านหลัง ซึ่งกั้นแยกห้องด้วยม่านตาและเลนส์แก้วตา ม่านตามีรูตรงกลางเป็นทางผ่านของแสงเข้าสู่ตา เรียกว่า รูม่านตา ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหูรูดที่พร้อมจะหดและขยายขึ้นกับความสว่างของแสงที่ส่องเข้าไป
หากแสงจ้าส่องเข้าตา รูม่านตาจะหดเล็กเพื่อป้องกันมิให้แสงเข้าตามากเกินไป แต่ถ้าแสงน้อย รูม่านตาจะเปิดกว้าง
เมื่อไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตา หากมีจุดประสงค์เพื่อตรวจดูสุขภาพตาทั่วๆไป ส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจดูผิวตาและห้องด้านหน้า ซึ่งมีเยื่อบุตา ตาขาว กระจกตา ม่านตา เท่านั้นก็เพียงพอ แต่หากคนไข้มาด้วยปัญหาเช่น Floaters ที่สาเหตุอาจจะเกี่ยวข้องกับน้ำวุ้นตาและจอประสาทตาซึ่งอยู่ภายในห้องด้านหลัง แพทย์ต้องมองผ่านรูม่านตาเข้าไปให้เห็นถึงห้องด้านหลัง ซึ่งเมื่อแพทย์ใช้แสงจากเครื่องมือตรวจส่องตา รูม่านตาเมื่อรับแสงจ้าก็จะหดตัว ทำให้แพทย์ไม่สามารถตรวจน้ำวุ้นตาและจอประสาทตาได้โดยครบถ้วนโดยการมองผ่านรูเล็กๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้รูม่านตาขยายกว้างค้างไว้ โดยใช้ยาหยอดตาเรียกว่า ยาขยายม่านตา หยอดดวงตาข้างที่ต้องการตรวจ ยาที่นิยมใช้กันคือ 1% Mydriacyl หลังหยอดจะใช้เวลารอให้ม่านตาขยายกว้างเพียงพอประมาณ 30-45 นาที และเมื่อแพทย์ตรวจดูจอประสาทตาเรียบร้อย ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ ยานี้จะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
ระหว่างที่ยายังออกฤทธิ์ ม่านตายังขยายอยู่ คนไข้มักจะมีอาการแสบตา แพ้แสง ตาพร่า มองไม่ชัด ดังนั้น หากต้องการตรวจอาการเกี่ยวกับ Floaters ควรเตรียมแว่นกันแดดมาสวม และเตรียมตัวเรื่องการเดินทางไปกลับโดยไม่ขับขี่ยานพาหนะกลับเอง เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้