การรักษาด้วยไฟฟ้า หรือ Electroconvulsive Therapy หรือเรียกสั้นๆ ว่า ECT เป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความเข้มข้นต่ำผ่านสมองเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดอาการชัก ซึ่งจะส่งผลให้อาการทางจิตดีขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ คือ การทำ ECT เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้สารสื่อนำประสาทภายในสมองที่หลั่งผิดปกติได้กลับมาทำงานโดยสม่ำเสมอ เมื่อสารสื่อนำประสาทหลั่งอย่างต่อเนื่องดีแล้วกระบวนการทำงานทางจิต รวมถึงสภาวะทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมต่างๆ ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
ข้อดีของการรักษาด้วยไฟฟ้า จะช่วยให้อาการทางจิตของผู้ป่วยทุเลาอย่างรวดเร็ว สามารถคงสภาพไม่ให้อาการกำเริบซ้ำ การรักษาด้วยไฟฟ้าจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตรุนแรงมีความจำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วนเพื่อควบคุมอาการของผู้ป่วยให้สงบลง เช่น ผู้ป่วยก้าวร้าวรุนแรง มีอาการคลุ้มคลั่ง หรือผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรงที่มีความคิดฆ่าตัวตายตลอดเวลาหรือมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากผู้ป่วยจิตเวชที่จำเป็นต้องให้การรักษาแบบเร่งด่วนแล้ว การรักษาด้วยไฟฟ้าสามารถรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเช่น ผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ หรือผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงของยาได้ ผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกพิจารณาให้รักษาด้วยไฟฟ้าจะต้องเข้ารับการรักษาประมาณ 6-12 ครั้งอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จำนวนครั้งและความถี่ในการรักษาด้วยไฟฟ้าอาจมากน้อยแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้จิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินผลการรักษาและพิจารณายุติการรักษาด้วยไฟฟ้าเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือพบความเสี่ยงที่ไม่อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้าต่อไปได้ อาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยไฟฟ้ามีตั้งแต่ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่สบายตัว สับสน สูญเสียความจำชั่วคราว บางรายมีผลข้างเคียงที่รุนแรงอาจทำให้กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรืออาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคทางกายร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การปฏิบัติตัวในการรักษาด้วยไฟฟ้า
- เตรียมตัวก่อนทำการรักษาล่วงหน้า 1 วัน โดย
- ทำความสะอาดร่างกาย สระผม ตัดเล็บให้สั้น ไม่ทาเล็บมือ-เล็บเท้า
- งดน้ำ งดอาหารหลังเที่ยงคืนจนเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- ในขณะเข้ารับการรักษาด้วยไฟฟ้า
- ให้สวมเสื้อผ้าสะอาด ผมแห้ง ไม่ทาแป้งบริเวณใบหน้า ไม่สวมเครื่องประดับใดๆ
- หากมีภาวะความดันโลหิตสูง จิตแพทย์จะพิจารณาให้ยาลดความดันในเวลา 06.00 น. และดื่มน้ำได้ไม่เกิน 30-60 ซีซี
- ถอดฟันปลอม หากมีปัญหาฟันผุ ฟันโยกต้องแจ้งพยาบาลก่อนเสมอ
- ปัสสาวะก่อนทำการรักษา
- การปฏิบัติตัวหลังการรักษา หากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น
- ปวดศีรษะ ให้ประคบเย็นแล้วนอนพัก 30 นาที - 2ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถทานยาบรรเทาปวดได้
- หากปวดเมื่อยจากการเกร็งกล้ามเนื้อ ให้ประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือนวดเบาๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- หากมีภาวะหลงลืม ให้ญาติช่วยกระตุ้นความจำของผู้ป่วย ความทรงจำจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายในระยะเวลา 2สัปดาห์ – 6 เดือน
การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีการรักษาที่จำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ถ้าเปรียบเทียบกับวิธีการรักษาตามแนวทางของโรคฝ่ายกาย การรักษาด้วยไฟฟ้าก็เปรียบเสมือนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเล็กในโรคทางฝ่ายกายนั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วแพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องมุ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ป่วยและพิจารณาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจให้การรักษาเสมอ