กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Beclometasone (บีโคลเมทาโซน)

เผยแพร่ครั้งแรก 31 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

Beclometasone เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) มีทั้งชนิดพ่น รับประทาน และทา โดยชนิดพ่น ใช้สำหรับรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด และโรคโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ชนิดรับประทานใช้สำหรับรักษาการอักเสบของลำไส้ และชนิดทาใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนัง ชื่อทางการค้าของยา Beclometasone ที่เป็นที่รู้จักคือ QVAR กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างแรง โดยยาเข้าจับกับตัวรับกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoid) มีผลควบคุมอัตราการสังเคราะห์โปรตีน กดการแพร่กระจายของเม็ดเลือดขาว ลดการทำงานของไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast-เซลล์ผิวที่คอยผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน) รักษาระดับไลโซโซมในเซลล์เพื่อไม่ให้เซลล์เกิดการอักเสบและทำลายตัวเอง ลดการแสดงออกของยีน และยับยั้งการสร้างสารไซโตไคน์ (Cytokines) ที่เหนี่ยวนำไปสู่การเกิดการอักเสบ

Beclometasone ชนิดใช้ทางจมูกจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยาที่ใช้ทางจมูกที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ตัวยาที่วางจำหน่าย อยู่ในรูปของ Beclometasone Dipropionate
  • รูปแบบสเปรย์พ่นจมูก ขนาด 50 และ 100 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง
  • รูปแบบยาผงแห้งสำหรับพ่น (easyhaler) ขนาด 200 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง
  • รูปแบบยาแอโรซอลสำหรับพ่น ขนาด 50 และ 250 ไมโครกรัมต่อการพ่น 1 ครั้ง

ส่วน Beclometasone ในรูปแบบยาทาสำหรับรักษาอาการทางผิวหนัง และยารับประทานสำหรับรักษาการอักเสบของลำไส้นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย

ข้อบ่งใช้ของยา Beclometasone

โรคที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

  • ป้องกันการกำเริบจากโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • สำหรับรักษาและป้องกันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้
  • รักษาอาการทางผิวหนังที่ตอบสนองต่อการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (ไม่มียาในรูปแบบยาทาสำหรับข้อบ่งใช้นี้วางจำหน่ายในประเทศไทย)
  • รักษาโรคลำไส้อักเสบ (ไม่มียาในรูปแบบยารับประทานสำหรับข้อบ่งใช้นี้วางจำหน่ายในประเทศไทย)

ขนาดและวิธีการใช้ยา Beclometasone

Beclometasone มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • สำหรับป้องกันการกำเริบจากโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง (ใช้ยาพ่นรูปแบบยาผงแห้งและแอโรซอลสำหรับพ่น)
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดเริ่มต้น
      • 100-200 ไมโครกรัม/วัน แบ่งพ่นวันละสองครั้ง ในผู้ป่วยระดับโรคไม่รุนแรง
      • 200-400 ไมโครกรัม/วัน แบ่งพ่นวันละสองครั้ง ในผู้ป่วยระดับโรคปานกลาง
      • 400-800 ไมโครกรัม/วัน แบ่งพ่นวันละสองครั้ง ในผู้ป่วยระดับโรครุนแรง
      • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดสำหรับระยะรักษาอาการ
        • 400-800 ไมโครกรัม/วัน แบ่งพ่นวันละสองครั้ง โดยให้ค่อยลดขนาดยาลงมาต่ำสุดที่สามารถควบคุมอาการได้ ขนาดยาสูงสุดคือ 800 ไมโครกรัม/วัน (หรือมากที่สุด 2,000 ไมโครกรัม ในรายที่มีความจำเป็นเนื่องจากอาการของโรครุนแรง)
      • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุมากกว่า 6 ปี ขนาด 100 ไมโครกรัม แบ่งพ่นวันละ 2-4 ครั้ง โดยให้ค่อยลดขนาดยาลงมาต่ำสุดที่สามารถควบคุมอาการได้ ขนาดยาสูงสุดคือ 200  ไมโครกรัมต่อวัน
  • สำหรับรักษาและป้องกันโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ (ใช้ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก)
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 100 ไมโครกรัม พ่นลงในจมูกแต่ละข้าง วันละสองครั้ง หรือขนาด 50 ไมโครกรัม พ่นลงในจมูกแต่ละข้าง วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดคือ 400 ไมโครกรัม/วัน
    • ในผู้ใหญ่สามารถใช้ขนาด 50 ไมโครกรัม พ่นลงในจมูกแต่ละข้าง วันละสองครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอาการได้
    • ขนาดการใช้ยาในเด็ก อายุมากกว่า 6 ปี ให้ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่

ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของการใช้ Beclometasone

ข้อควรระวังในการใช้ Beclometasone ได้แก่

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ Beclometasone
  • ไม่ควรใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น วัณโรค) ติดเชื้อรา หรือติดเชื้อไวรัส (เช่น อีสุกอีใส หัด เริม)
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันหลอดเลือดแดงสูงระดับรุนแรง
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมหมวกไตทำงานไม่เพียงพอ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อกระจก ต้อหิน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคลมชัก และโรคความผิดปกติด้านอารมณ์
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีแผล หรือติดเชื้อในโพรงจมูกที่ยังไม่ได้รับการรักษา
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงของการใช้  Beclometasone ได้แก่

  • การติดเชื้อราในช่องปาก เสียงแหบ ไอ รู้สึกปากและลำคอแห้ง ระคายเคืองช่องปากและลำคอ รับรู้กลิ่นและรสของยาไม่พึงประสงค์ กดการทำงานของต่อมหมวกไต ปวดศีรษะ มึนศีรษะ อาการสั่น อาการแพ้ยา
  • อาการที่พบได้น้อย ได้แก่ การใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดผลข้างเคียง คือ กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing’s syndrome) อาการแสดง ได้แก่ มีใบหน้ากลม แก้มแดง มีหนอกบริเวณคอ พุงยื่นแต่แขนขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลุ่มอาการคุชชิงเกิดจากการที่ต่อมใต้สมองมีการสร้างฮอร์ไมน ACTH มากกว่าปกติ
  • อาการที่พบได้น้อยอื่นๆ ได้แก่ ลดความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลต่อจิตประสาท และพฤติกรรม การนอนหลับ และมีความคิดฆ่าตัวตาย
  • ผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิต ได้แก่  อาการจับหืดเกิดขึ้นภายหลังการสูดยาทันที สาเหตุเกิดจากการแพ้สารตัวอื่นในยา ควรงดใช้ยาทันที

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Beclometasone

  • ยา Beclometasone ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • ยา Beclometasone ซึ่งเป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดพ่นที่ใช้รักษาโรคหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นยาที่ใช้สำหรับควบคุมอาการเท่านั้น ยาไม่ได้มีฤทธิ์รักษาอาการ การใช้ยาจึงจำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องร่วมกับยาพ่นสำหรับรักษาอาการ
  • หากผู้ป่วยมีอาการหืดที่รุนแรง แนะนำให้รีบพบแพทย์ เนื่องจากการรักษาด้วยยา Beclometasone ชนิดพ่นอาจรักษาหรือบรรเทาอาการไม่ได้ผล
  • หลังพ่นยา Beclometasone แล้ว ผู้ป่วยควรบ้วนปากเพื่อล้างคราบยาที่หลงเหลือออกจากช่องปากและลำคอ เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อราในช่องปาก
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง และไฟ

14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Beclomethasone | C22H29ClO5. U.S. National Library of Medicine National Center for Biotechnology Information. (https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Beclomethasone)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)