บางคนคงเคยได้ยินชื่อฮอร์โมนโดพามีนกันมาบ้าง ซึ่งหลายคนก็นิยามกันว่าเป็น ‘สารแห่งความสุข’ แท้จริงแล้วบทบาทของโดพามีนในการควบคุมความรู้สึกนั้นค่อนข้างซับซ้อนละเอียดอ่อน วันนี้เราลองมาทำความรู้จักเจ้าสารแห่งความสุขตัวนี้ดู ว่ามันมีความสำคัญแค่ไหน และถ้าร่างกายขาดโดพามีนจะเป็นอย่างไร
โดพามีน คืออะไร?
โดพามีน (Dopamine) เป็นฮอร์โมนกลุ่ม catecholamines ที่สร้างจากกรดอะมิโนไทโรซีนในสมองและต่อมหมวกไต โดพามีนทำหน้าที่เป็น สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ซึ่งจะไปกระตุ้นตัวรับโดพามีนในสมอง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบางมัดเพิ่มขึ้น เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ และยังยับยั้งการหลั่งโปรแลคติน พร้อมกับเพิ่มการหลั่ง growth hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตด้วย ดังนั้น การหลั่งโดพามีนจึงกระตุ้นให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้เรารู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระฉับกระเฉง ไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัว รวมถึงช่วยเพิ่มสมาธิ และความสามารถในการเรียนรู้ด้วย
ตรวจระดับฮอร์โมนวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 382 บาท ลดสูงสุด 69%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
นอกจากนี้ โดพามีน ยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับ สมองส่วนการให้รางวัล หรือ Brain reward system ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อเราพบเจอหรือมีพฤติกรรมที่พึงพอใจ เช่น ได้ทานอาหารที่ชอบ หรือแม้แต่ขณะมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เราเกิดความรู้สึกสุขสันต์หรรษาและเกิดแรงจูงใจนั่นเอง
หากร่างกายขาดโดพามีนจะเป็นอย่างไร?
ภาวะที่การสร้างและหลั่งโดพามีนลดลง หรือตัวรับโดพามีนผิดปกติ จะส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้
- การเคลื่อนไหวผิดปกติ ในผู้สูงอายุที่สมองและต่อมหมวกไตส่วนสร้างโดพามีนลดลง มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ร่างกายมีอาการสั่นเกร็ง อย่างที่เรียกว่า โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- เกิดภาวะเสพติด การมีโดพามีนต่ำ เป็นสาเหตุหลักที่ทำเราเกิดอาการเสพติดสารบางอย่าง เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติดให้โทษอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นพนัน และเซ็กส์ เนื่องจากเราต้องการสิ่งอื่นๆ มากระตุ้นความพึงพอใจ ยิ่งร่างกายขาดโดพามีนนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้สึกอยากเสพหรืออยากทำพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งภาวะเสพติดดังกล่าวสามารถบรรเทาได้โดยการเพิ่มโดพามีนให้แก่ร่างกาย
- เกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ อย่างที่ทราบว่าโดพามีนเป็นเหมือน ‘สารแห่งความสุข’ ดังนั้น หากร่างกายขาดโดพามีน มักทำให้ความรู้สึกพึงพอใจ หรืออารมณ์ร่วมต่อกิจกรรมต่างๆ หายไป ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ รู้สึกเบื่อหน่าย หมดหวัง และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้
- การเรียนรู้แย่ลง การขาดโดพามีนทำให้เราขาดความกระตือรือร้น ความกระฉับกระเฉง สมาธิ ความสามารถในการจดจำและการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหาต่อการเรียนและการทำงานมากทีเดียว
การเพิ่มโดพามีน ทำได้อย่างไร?
- ใช้ยา Dopamine agonists
เป็นยากระตุ้นตัวรับโดพามีนในสมอง ซึ่งมักใช้รักษาโรคพาร์กินสัน รวมถึงอาจใช้บรรเทาอาการซึมเศร้าด้วย ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น ทำให้ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เห็นภาพหลอน และควบคุมอารมณ์ได้ยาก
การออกกำลังกายวันละ 30-40 นาทีเป็นประจำ เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มการหลั่งโดพามีน และเพิ่มการทำงานของตัวรับโดพามีนด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น เอนดอร์ฟีน ซึ่งทำให้เรารู้สึกสดชื่น และช่วยผ่อนคลายความเครียดได้
- ปรับอาหารการกิน
โดพามีนสามารถสังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนไทโรซีน ดังนั้น การทานอาหารที่มีไทโรซีนสูงจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งโดพามีนได้ อาหารที่อุดมด้วยไทโรซีนนั้นมีมากมาย เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ อโวคาโด พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช และผักใบเขียว นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ชาเขียว ก็ให้ผลดีเช่นเดียวกัน
- ทำกิจกรรมสันทนาการ
การทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบและพึงพอใจ จะช่วยให้ร่างกายมีระดับโดพามีนเพิ่มขึ้น เช่น การฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว ทานอาหารที่ชอบ การนวด และการทำสมาธิ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยผ่อนคลายและทำให้เรารับมือกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น
- ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง
การมีเป้าหมายทำให้เราเกิดแรงจูงใจ และเมื่อเราทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ สมองส่วนการให้รางวัลก็จะหลั่งโดพามีนออกมา ทำให้เกิดความสุขและพึงพอใจ ดังนั้น เราควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ ก่อน เช่น การทำงานชิ้นหนึ่งให้เสร็จ การอ่านหนังสือให้จบหนึ่งเล่ม เมื่อเกิดความสุขจากการทำเป้าหมายเหล่านี้สำเร็จแล้ว เราก็จะเกิดแรงกระตุ้นในการคว้าเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป