รากฟันเทียม (Dental implant) คือ รากฟันที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใส่ติดแน่นร่วมกับครอบฟัน (Implant crown) หรือฟันเทียมชนิดฐานพลาสติก (Acrylic denture) เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป จัดเป็นฟันเทียมชนิดติดแน่นในช่องปาก โดยส่วนของตัวรากเทียม (implant fixture หรือ implant post) จะยึดอยู่กับกระดูกขากรรไกร และมีส่วนครอบฟันหรือฟันเทียมชนิดฐานพลาสติกสวมทับ ตัวรากเทียมในปัจจุบันทำจากโลหะไทเทเนียมหรือเซรามิกเซอร์โคเนีย ซึ่งสามารถเข้ากันได้ดีกับกระดูกขากรรไกร ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยมาก
รากฟันเทียมช่วยอะไร ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ทำไมต้องใส่รากฟันเทียม ใครต้องใส่บ้าง?
รากฟันเทียมจัดเป็นฟันเทียมชนิดติดแน่น ใส่เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ช่วยเพิ่มการยึดอยู่สำหรับครอบฟันหรือฟันเทียม ให้สามารถทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร ออกเสียงพูด ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติ โดยเฉพาะในฟันหน้า และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการล้มเอียงของฟันที่อยู่ข้างเคียงหรือฟันคู่สบยื่นยาวเข้ามาหาช่องว่างที่สูญเสียฟัน รวมทั้งยังสามารถช่วยชะลอการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรบริเวณที่ฝังรากฟันเทียมให้ช้าลงกว่าการไม่มีฟันอีกด้วย
ทำรากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 980 บาท ลดสูงสุด 66%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
รากฟันเทียมมีข้อเสียได้แก่ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันเทียมชนิดอื่นๆ ต้องมีการผ่าตัด ขั้นตอนการทำใช้เวลารวมยาวนานกว่าการทำฟันเทียมชนิดอื่น คือ ใช้รอเวลาอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าตัวรากเทียมยึดอยู่แน่นกับกระดูกขากรรไกร จึงค่อยทำครอบฟันหรือฟันเทียมสวมทับ นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องสามารถมารับการรักษาและติดตามผลหลายครั้ง รวมถึงทำความสะอาดทั้งส่วนของครอบฟันหรือฟันเทียมให้ดี
ความสำเร็จในผู้ที่ใส่รากฟันเทียมขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพร่างกายและจิตใจ ทัศนคติที่ดี เนื่องจากต้องมีการผ่าตัดจึงไม่เหมาะกับผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผู้ที่เป็นโรคจิต สูบบุหรี่จัด มีโรคประจำตัวบางชนิดที่เป็นข้อห้ามของการผ่าตัด หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเทียมให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ ดังนั้นรากฟันเทียมจึงไม่สามารถใส่ได้ในผู้ที่สูญเสียฟันทุกราย
ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียมมีอะไรบ้าง?
ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียม สามารถจัดเป็น 4 ระยะ คือ
- การคัดเลือกผู้ป่วย ตรวจสภาพช่องปาก ถ่ายภาพรังสีเพื่อดูปริมาณกระดูกและรากฟันซี่ข้างเคียง พิมพ์ปาก วางแผนการรักษา และเตรียมช่องปากก่อนการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ได้แก่ อุดฟันผุซี่ที่ใกล้เคียง ขูดหินปูน และในรายที่มีโรคเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบ ต้องได้รับการรักษาให้หายดีก่อน
- การผ่าตัดฝังตัวรากเทียม (Implant Fixture หรือ Implant Post) และติดตามผลการผ่าตัด โดยการผ่าตัดอาจทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบ ในผู้ที่สูญเสียฟันรายที่มีกระดูกละลายไปมากหรือมีเนื้อเยื่อเหงือกที่ไม่แข็งแรงเพียงพอต่อการรองรับรากฟันเทียม จะต้องมีการผ่าตัดเสริมกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือกด้วย
- การทำครอบฟันหรือฟันเทียม (Implant crown หรือ Acrylic denture) จะประกอบด้วย การตรวจการยึดอยู่ของตัวรากเทียม การพิมพ์ส่วนต่อของตัวรากเทียมที่จะยึดติดอยู่กับครอบฟันหรือฟันเทียม การลองและการยึดครอบฟันหรือฟันเทียมให้ติดแน่นในช่องปาก
- การดูแลช่องปากหลังการติดครอบฟันหรือฟันเทียมบนรากฟันเทียม ผู้ที่มีรากฟันเทียมในช่องปากควรได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ ควรให้ทันตแพทย์ช่วยดูแลเป็นระยะตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย โดยควรกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจ บำรุงรักษา ทำความสะอาด และขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับสภาพฟันเทียมและความสามารถในการทำความสะอาดช่องปากของผู้ป่วย
หากรากฟันเทียมหลุด ต้องทำอย่างไร?
ในการผ่าตัดฝังตัวรากเทียม ทันตแพทย์จะใส่ส่วนฝาปิดตัวรากเทียม (closure cap หรือ cover screw หรือ healing cap) มีลักษณะคล้ายเข็มหมุดหรือตะปูเรือใบเล็กๆ มีเกลียวเฉพาะส่วนตัวเข็ม ใส่เพื่อเป็นการปกป้องส่วนต่อของตัวรากเทียมชั่วคราวก่อนการรักษาในระยะต่อไป ฝาปิดนี้สามารถหลุดออกได้จากการเคี้ยวอาหาร หรือแปรงฟันรุนแรง บ่อยครั้งทำให้ผู้รับการรักษาเข้าใจผิดว่าตัวรากเทียมหลุด การรักษาเพียงนำฝาปิดนี้กลับไปให้ทันตแพทย์ใส่ อย่างไรก็ตามผู้รับการรักษาต้องระวังไม่เผลอกลืนกินชิ้นส่วนนี้ และเมื่อหลุดควรรีบกลับไปให้ทันตแพทย์ใส่
หากเป็นส่วนของตัวรากเทียมหลุด จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก หรือทรงกระบอกที่สอบเล็กน้อย มีเกลียวตลอดทั้งชิ้นหรือเกือบทั้งชิ้น ขนาดใกล้เคียงกับซี่ฟัน ถ้าตัวรากเทียมอาจหลุดออกจากขากรรไกรต้องรีบนำกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อประเมินการยึดติด หาสาเหตุและวางแผนการรักษาใหม่ อาจเป็นการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมใหม่ หรือเปลี่ยนแผนการรักษาเป็นใส่ฟันปลอมชนิดอื่นแทน
หากเป็นส่วนของครอบฟันหรือฟันเทียมที่ยึดติดบนตัวรากเทียมหลุด สามารถนำกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจหาสาเหตุ และติดกลับไปบนตัวรากเทียมได้ ทั้งนี้อาจต้องพิมพ์ปากเพื่อทำชิ้นงานส่วนนี้ใหม่ ในกรณีที่ครอบฟันหรือฟันเทียมนั้นคุณภาพไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน