"สมองเสื่อม" นับเป็นภาวะที่มักเกิดจากความเสื่อมของสมองตามวัย จึงพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะสมองเสื่อมอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายได้ เช่น หลงลืม เดินออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร ฯลฯ
ดังนั้นหากมีคนใกล้ชิดอยู่ในภาวะสมองเสื่อมจะต้องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางป้องกันโรคสมองเสื่อม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมาแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สมองเสื่อม คืออะไร?
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติดังต่อไปนี้ตามมา
- มีความผิดปกติด้านสติปัญญา ความคิด
- การตัดสินใจผิดพลาด
- บกพร่องเรื่องตรรกะ และเหตุผล
- ความจำบกพร่อง หลงลืม ทั้งความจำระยะสั้นและระยะยาว
- มีปัญหาในการพูด พูดซ้ำๆ
- ไม่เข้าใจคำพูดไม่สามารถปฏิบัติงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้
- สับสนเรื่องเวลา สถานที่ บุคคล
- มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน
อาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถทำงาน หรืออยู่ในสังคมได้อย่างปกติ
ทั้งนี้จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยการตรวจร่างกายในพ.ศ. 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปว่า มีภาวะสมองเสื่อมมากถึง 8.1% และคาดว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วประเทศประมาณ 8 แสนกว่าคน โดยผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย
สาเหตุของสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ พบได้หลายสาเหตุดังนี้
- เกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อสมอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน แข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง จนไม่เพียงพอกับการใช้งาน ส่งผลให้เนื้อสมองตาย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีระดับไขมันคอเลสเตอรอลสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน
- เกิดจากการติดเชื้อในสมอง ทําให้เกิดการอักเสบในสมอง และทำลายเนื้อสมอง เช่น ไวรัสสมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese encephalitis) หรือเชื้อไวรัสจากวัว หรือโรควัวบ้า
- เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 ซึ่งมักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือขาดวิตามินบี 12 ซึ่งพบในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด หรือผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งทำหน้าที่ดูดซึมวิตามินบี 12
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเผาผลาญของร่างกาย เช่น การทํางานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ การทํางานผิดปกติของตับ หรือไต ทำให้ของเสียคั่งในร่างกาย ส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ถ้าเป็นนานเข้าอาจจะทําให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมได้
- เกิดจากการถูกกระแทกที่ศีรษะ ทำให้เนื้อสมองเกิดความเสียหาย อาจพบในกลุ่มนักกีฬา เช่น นักมวย
- เกิดจากเนื้องอกในสมอง
สมองเสื่อมรักษาได้ไหม?
โรคสมองเสื่อมมีทั้งที่รักษาแล้วได้ผลดีและรักษาไม่หาย โดยสาเหตุที่เกิดจากการเสื่อมของเนื้อสมองจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ โดยมีวิธีรักษา 2 รูปแบบหลักๆ คือ
- การใช้ยา ยาในกลุ่มที่ไปยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทอะซิทิลโคลีน (Acetylcholine) เช่น โดเนเพซิล (Donepezil) ไรวาสติกมีน (Rivastigmine)
- การรักษาทางด้านจิตใจ เช่น การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด การเข้าร่วมกิจกรรมฝึกทักษะ ฝึกสมอง เช่น เล่มเกม เล่นดนตรี อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันเพื่อให้ได้สังสรรค์ พูดคุย
แนวทางป้องกันสมองเสื่อมจากองค์การอนามัยโลก
- ออกกำลังกาย ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ จัดสวน
- เลิกสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานผักสด ผลไม้สด ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วและธัญพืช
- ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่า วิตามินเสริมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสมองเสื่อมได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ฝึกสมอง มีการศึกษาบางชิ้นชี้ว่า การเล่นอักษรไขว้ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ อาจเป็นประโยชน์ต่อการฝึกสมองโดยเฉพาะการวางแผน การตัดสินใจ ความจำ
- เข้าสังคม แม้จะไม่มีหลักฐานว่าจะหยุดยั้งหรือชะลอการเกิดสมองเสื่อมได้ แต่การได้พบปะเพื่อนฝูง ก็ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ควบคุมความดันโลหิต เพราะการเกิดสมองเสื่อมนั้นเกี่ยวพันกับอาการความดันโลหิตสูงด้วย
- หากเป็นโรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล เพราะหากสูงเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้
แม้ว่าโรคสมองเสื่อม จะไม่ได้เป็นภาวะที่ร้ายแรง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและลดทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก ผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ และความอดทนอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้
แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยแนวทางการปฏิบัติตัวที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมานี้ น่าจะมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมลงได้มาก หรือชะลอให้เกิดอาการสมองเสื่อมช้าลง
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชาย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android