กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Coenzyme Q10 (โคเอนไซม์คิวเทน)

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
  • โคเอนไซม์คิวเทน Coenzyme Q10 เรียกสั้นๆ ว่า โคคิวเท็น (CoQ10) พบมากในหัวใจ ไต ตับ ตับอ่อน
  • คุณสมบัติของโคเอนไซม์คิวเทน คือ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย บรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ
  • โคเอนไซม์คิวเทนมีผลลดความดันโลหิต ผู้มีความดันต่ำจึงควรระมัดระวังในการใช้ยานี้
  • ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโคเอนไซม์คิวเทนรักษามะเร็งหรือช่วยเรื่องผิวพรรณได้

โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10 หรือ Ubiquinone Coenzyme Q-10) หรือเรียกสั้นๆ ว่า โคคิวเท็น (CoQ10) เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายวิตามิน สามารถพบได้ทั่วร่างกาย แต่พบได้มากในอวัยวะที่ต้องใช้พลังงานมาก เช่น หัวใจ ไต ตับ และตับอ่อน

โคเอนไซม์คิวเทนเป็นโคเอนไซม์ที่จำเป็นในการเริ่มปฏิกิริยาเคมีเพื่อสร้างพลังงาน ทำหน้าที่ช่วยในกระบวนการผลิตพลังงานของเซลล์ในร่างกาย และกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โคเอนไซม์คิวเทนมักใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว อาการเจ็บเค้นหน้าอกเนื่องจากโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้โคเอนไซม์คิวเทนยังมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้อเยื่อตายเนื่องจากอาการขาดเลือดในบริเวณต่างๆ ช่วยป้องกันการเกิดโรคไมเกรน บรรเทาอาการโรคเหงือกอักเสบ โรคพาร์กินสัน และโรคต่างๆ ที่พบว่ามีสาเหตุมาจากการพร่องของปริมาณโคเอนไซม์คิวเทน

คุณสมบัติอีกอย่างของโคเอนไซม์คิวเทนคือต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยป้องกันการทำลายของเซลล์จากสารต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าโคเอนไซม์คิวเทนมีผลช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ชะลอการเกิดความชราก่อนวัย ช่วยให้ผิวดูใสและเต่งตึงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ด้านโรคมะเร็งและผิวพรรณ ดังนั้น การใช้โคเอนไซม์คิวเทนเพื่อประโยชน์ในด้านนี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้

ขนาดรับประทานโคเอนไซม์คิวเทน

ขนาดรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนในผู้ใหญ่ เด็ก สำหรับจุดประสงค์ต่างๆ มีดังนี้

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่

  • สำหรับผู้ที่มีโคเอนไซม์คิวเทนบกพร่อง รับประทาน 150-2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Mitochondrial myopathies) รับประทาน 150-160 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน ในบางกรณีปริมาณอาจค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) รับประทาน 30 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือสูงสุด 300 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งออกเป็น 2-3 ครั้งต่อวัน รับประทานต่อเนื่องนาน 2 ปี นอกจากนี้ยังมีการใช้ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน ทุกวัน เป็นเวลา 1 ปี
  • สำหรับอาการปวดเส้นประสาทในผู้ป่วยเบาหวาน (โรคระบบประสาทเบาหวาน) รับประทาน 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์
  • สำหรับโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) รับประทาน 300 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ หรือ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน
  • สำหรับการรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนร่วมกับใบแปะก๊วย รับประทานโคเอนไซม์คิวเทนปริมาณ 200 มิลลิกรัม ร่วมกับใบแปะก๊วย 200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์
  • สำหรับโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV/AIDS) รับประทาน 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องนานมากกว่า 4 ปี ขึ้นไป
  • สำหรับความผู้ที่มีเนื่อเยื่อตายเนื่องจากความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือด (Ischemia-reperfusion injury) รับประทาน 150-300 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง รับประทานต่อเนื่องนาน 1-2 สัปดาห์
  • สำหรับป้องกันการเกิดไมเกรน รับประทาน 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง รับประทาน 150 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือ 100 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ต่อเนื่องป็นเวลา 3 เดือน หรือรับประทานขนาด 1-3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน
  • สำหรับโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis: MS) รับประทาน 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน
  • สำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อสูญเสียเนื่องมาจากพันธุกรรม (Muscular dystrophy) 100 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน
  • สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ (Heart attack) รับประทาน 120 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 2 ครั้ง รับประทานนานไม่เกิน 1 ปี
  • สำหรับโรคเพโรนีย์ (Peyronie disease) รับประทาน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน

ขนาดยาสำหรับเด็ก

  • สำหรับเด็กที่มีโคเอนไซม์คิวเทนบกพร่อง รับประทาน 60-250 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง
  • สำหรับการป้องกันไมเกรนในเด็กอายุ 3-18 ปี รับประทาน 1-3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน
  • สำหรับเด็กอายุ 8-15 ปีที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อสูญเสียเนื่องมาจากพันธุกรรม (Muscular dystrophy) 100 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน

ความปลอดภัยของการใช้โคเอนไซม์คิวเทน

การรับประทานหรือการทาโคเอนไซม์คิวเทนค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม โคเอนไซม์คิวเทนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรงบางอย่างได้ เช่น ไม่สบายท้องบริเวณกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้ โคเอนไซม์คิวเทนอาจทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังได้ในบางราย โคเอนไซม์คิวเทนมีผลลดความดันโลหิตได้ ดังนั้น ควรระมัดระวังการใช้ในรายที่มีความดันโลหิตต่ำมาก

การแบ่งขนาดยารับประทานเป็นวันละ 2-3 ครั้ง แทนที่จะรับประทานปริมาณมากในคราวเดียวสามารถช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรสามารถกินโคเอนไซม์คิวเทนได้หรือไม่?

โคเอนไซม์คิวเทนน่าจะมีความปลอดภัย (Possibly safe) เมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ จากข้อมูลพบว่า การรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนวันละ 2 ครั้ง ที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ มีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับการใช้โคเอนไซม์คิวเทนระหว่างให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากต้องการใช้

ผู้จะเข้ารับการผ่าตัด กินโคเอนไซม์คิวเทนได้หรือไม่?

ผู้ที่ต้องมีการผ่าตัด ควรหยุดการใช้โคเอนไซม์คิวเทนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด

ใช้โคเอนไซม์คิวเทนในเด็กได้ไหม?

การรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนในเด็กน่าจะมีความปลอดภัย (Possibly safe) อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ซื้อให้เด็กรับประทานเอง หากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลาการรับประทาน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาที่ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับโคเอนไซม์คิวเทน

  • ยารักษาโรคมะเร็ง เช่น ยาเคโมเทอร์ราปี (Chemotherapy) โคเอนไซม์คิวเทนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระอาจมีผลลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
  • ยาลดความดันโลหิต เช่น ยาแคปโทพริล (Captopril) ยาอีนาลาพริล (Enalapril) ยาลอร์ซาทาน (Losartan), ยาวัลซาร์ทาน (Valsartan) ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem) ยาแอมโลไดพีน (Amlodipine) ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide: Lasix®)

โคเอนไซม์คิวเทนมีผลลดความดันโลหิต ดังนั้น การใช้โคเอนไซม์คิวเทนร่วมกับยาลดความดันโลหิต ควรระมัดระวังการเกิดความดันโลหิตต่ำเกินไปจนเป็นลมได้

  • ยาวาร์ฟาริน (Warfarin: Coumadin®) ยาวาร์ฟารินใช้เพื่อชะลอการแข็งตัวของเลือด โดยโคเอนไซม์คิวเทนออกฤทธิ์ช่วยให้เลือดแข็งตัว การใช้โคเอนไซม์คิวเทนอาจลดประสิทธิภาพของยาวาร์ฟารินได้ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด

ดังนั้น หากคุณมีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้โคเอนไซม์คิวเทน

ข้อควรระวังในการใช้โคเอนไซม์คิวเทน

เพื่อให้ใช้โคเอนไซม์คิวเทนได้อย่างปลอดภัย ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้ควรระมัดระวังการใช้ยา โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการแพ้ยา อาหาร หรือส่วนประกอบใดๆ ควรแจ้งแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ และเด็ก ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ที่กำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
  • หากเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีความดันโลหิตต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาโรคด้วยเคมีบำบัดควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ หรือหากจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์
  • สตรีมีครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร ไม่ควรใช้ยานี้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
CoQ10 (Coenzyme Q10): Benefits, evidence, sources, and risks. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324113)
Coenzyme Q10: Uses, Side Effects, Interactions, Dosage, and Warning. WebMD. (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-938/coenzyme-q10)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)